“โค้ชหนุ่มคะ อยากเริ่มลงทุนควรจะเริ่มจากตรงไหนดีคะ” นี่เป็นคำถามยอดฮิต ติดชาร์ตอมตะนิรันดร์กาล และอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาหลายยุคหลายสมัย
ไม่ผิดอะไรที่ไม่รู้ เพราะเรื่องหลักและวิธีการลงทุนนั้น ไม่ได้มีสอนกันในโรงเรียนจริงๆ คนที่มีเงินเก็บเงินออม พอจะเริ่มลงทุนจึงไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร
ตอบเร็วๆ สั้นๆ
1. กำหนดเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน
2. รู้ความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง
3. รู้จักและเข้าใจสินทรัพย์ที่จะลงทุน
4. มีแผนการลงทุน และรักษาวินัย
ครบ 4 ข้อ ก็พอเริ่มต้นลงทุนได้แล้วครับ
ทีนี้ตอบยาวๆ บ้าง 555
1. อันดับแรกต้องทราบก่อนว่า เราจะลงทุนไป “เพื่ออะไร”
หรือพูดอีกอย่างก็คือ ต้องรู้ “เป้าหมาย” (Goal) ของการลงทุนให้ชัดเจน คนเรามีเป้าหมายในชีวิตแตกต่างกัน และในเวลาเดียวกันเราก็มีหลายเป้าหมายได้ ไม่ผิดกติกา
เช่น บางคนอาจอยากลงทุนเพื่อเก็บเงินเรียนต่อ บ้างอาจเก็บเงินท่องเที่ยว บางคนอยากมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมีเงิน 5 ล้าน 10 ล้าน ภายใน 10 ปีหรือบางคนอาจอยากเกษียณทางการเงินเร็ว ตั้งแต่อายุ 40 ปี แบบนี้เครื่องมือและวิธีการลงทุนก็จะแตกต่างกันไป
การรู้เป้าหมายของตัวเองและมี “กรอบเวลา” (time frame) ที่จะบรรลุเป้าหมายอย่างชัดเจน จะช่วยให้เราสามารถจัดสรรเงินและจัดสรรการลงทุนที่เหมาะกับเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง และอาจทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้พร้อมๆ กัน หรือหากมีข้อจำกัดในการลงทุน ก็จะจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของแต่ละเป้าหมายได้ดี
2. ถัดมาเป็นเรื่องของการรู้จักและเข้าใจตัวเอง
เพราะการลงทุนให้ “ผลตอบแทน” (Return) สูงกว่าการออมก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มี “ความเสี่ยง” (Risk) อยู่ด้วย เป็นเสมือนอีกฝั่งหนึ่งของเหรียญที่มี 2 ด้านเสมอ
เรารับความเสี่ยงได้มากหรือน้อยแค่ไหน ผู้ลงทุนต้องทำความรู้จักและเข้าใจตัวเองให้ดี ถ้าหากรับความเสี่ยงได้มาก (เช่น เห็นความผันผวนขึ้นลงของราคาสินทรัพย์สัก 30% แล้วยังทนไหว) ประกอบกับระยะเวลาถึงเป้าหมายยังอีกไกล (เกิน 10 ปี) แบบนี้ก็อาจเลือก “สินทรัพย์” ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ อย่างเช่น หุ้น กองทุนหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ฯลฯ เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น
แต่ถ้าตัวเราเห็นราคาสินทรัพย์ขึ้นลงผันผวนหนักๆ แล้วหัวใจจะวายอยู่ไม่เป็นสุข ประกอบกับระยะเวลาของเป้าหมายสั้น (ไม่เกิน 3 ปี) แบบนี้ก็อาจเลือกเก็บสะสมเงินเยอะหน่อย แล้วลงทุนสินทรัพย์มั่นคง อย่าง เงินฝากดอกเบี้ยสูง ตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนตราสารหนี้เพิ่มขึ้น (แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีความเสี่ยงเลยนะ) เพื่อลดความเสี่ยงลง ก็เป็นได้
3. เราจะเอาเงินไปวางไว้ในทรัพย์สินอะไร ความเข้าใจในทรัพย์สินนั้นเป็นสิ่งสำคัญ
ทีนี้ “ความเข้าใจ” ระดับไหน แค่ไหนกันหละ ที่ต้องรู้ต้องมี ลองตอบคำถามต่อไปนี้ดู
● สินทรัพย์ที่เราลงทุน มีรูปแบบการสร้างผลตอบแทนอย่างไร? (มูลค่าเพิ่ม/เงินปันผล/??)
● กลไกอะไรบ้าง? ที่ทำให้มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ปันผลเพิ่มขึ้น(หรือลดลง)
● สิ่งที่ผลกระทบต่อมูลค่า หรือการปันผลของสินทรัพย์มีอะไรบ้าง? (ความเสี่ยง)
● แนวทางป้องกันความเสี่ยง เพื่ออัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ต้องการ
● ผลตอบแทนคาดหวังที่น่าจะเป็นไปได้ของสินทรัพย์เป็นเท่าไหร่?
● ความผันผวนของสินทรัพย์มีมากน้อยแค่ไหน
● หลักการลงทุนให้ประสบความสำเร็จในทรัพย์สินนั้น คือ อะไร
● ฯลฯ
ถ้ายังตอบไม่ได้ ลองศึกษาหาคำตอบ เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นนะครับ จำไว้ว่า ไม่ใช่แค่ High Risk, High Return หรอก / High Understanding ก็ High Return เหมือนกัน
4. เมื่อรู้จักเป้าหมาย รู้จักตัวเอง รู้จักเครื่องมือลงทุน ก็ถึงเวลาที่เราจะมากำหนดแผนการลงทุนของเรา ซึ่งแผนการลงทุนอย่างง่าย มีสิ่งที่เราต้องพิจารณา ดังนี้
● เราสามารถจัดสรรเงินมาลงทุนได้เดือนละเท่าไหร่?
● เงินลงทุนจะจัดสรรอย่างไร? ลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง (กระจายความเสี่ยง)
● ผลตอบแทนคาดหวังของพอร์ตเป็นเท่าไหร่?
● การติดตามผลการลงทุน จะทำทุกๆ เมื่อไหร่ (รายปี/ราย 6 เดือน)
● กรณีกำไรเติบโตมาก ทำอย่างไร? / กรณีขาดทุนเสียหายหนักทำอย่างไร
● ฯลฯ
กำหนดให้ชัด แล้วก็ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ อย่างมีวินัย
ในความเป็นจริงตอนเริ่มต้น ในขณะที่เงินลงทุนยังน้อย คุณอาจลองซื้อลองขาย ลองลงทุน แบบไม่ต้องคิดมากได้ เพราะเงินลงทุนนิดหน่อย ต่อให้โชคร้ายขาดทุนบ้าง ก็จะไม่เจ็บหนักเท่าไหร่ (เพราะจำกัดความเสี่ยงด้วยปริมาณเงินลงทุนไปแล้ว)
แต่หากมีการใส่เงินเข้าไปในการลงทุนของคุณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เงินลงทุนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ยังไงก็อย่าลืมปรับการลงทุนของคุณ ตามแนวทาง 4 ข้อนี้นะครับ
การลงทุนเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต เพราะโลกการเงินก็เปลี่ยนไปตลอด ดังนั้นอย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเองเป็น “นักลงทุนที่ดี”นะครับ
ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการลงทุน เงินเติบโตบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี