ll เมื่อโลกมีการแบ่งขั้นทางเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้นที่เห็นชัดเจนที่สุดคือระหว่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และชาติพันธมิตร กับ ประเทศจีนและชาติพันธมิตร สิ่งที่เราจะได้เห็นคือกำแพงภาษี(Tariff hike) ระหว่างกัน ซึ่งประมาณการว่า จะตั้งอัตราภาษีศุลกากรไว้ที่ 40% ในทุกกลุ่มสินค้า (ไม่รวมบริการ) ผลที่ตามมา คือ มูลค่าการส่งออกรวมของโลกลดลง 10.5% และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะหดตัวลงประมาณ 0.6%
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่แบ่งขั้วก็จะมีการปรับตัวโดยหันไปค้าขายกับตลาดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของการแบ่งขั้ว โดยผู้ส่งออกจากประเทศที่แบ่งขั้วจะหันไปขายสินค้าให้ผู้ซื้อภายในประเทศแทน หรือหันไปขายสินค้าภายในกลุ่มประเทศที่มีจุดยืนเดียวกัน(ขั้วเดียวกัน) และหันไปขายสินค้าให้ประเทศที่มีจุดยืนที่เป็นกลางโดยเฉพาะจีนที่ส่งออกไปยังประเทศ ที่เป็นกลางรวมถึงไทยเพิ่มขึ้นรวมกว่า 2.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยนั้น แน่นอนว่ามีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมหรือสินค้าที่ได้รับอานิสงส์นี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทยตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าในปี 2018 ก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้ไทยมีจุดแข็งด้านห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ เช่น คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ หรือเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยจะได้อุปสงค์สินค้าทดแทนเพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากข้อพิพาททางการค้า เช่น เครื่องดื่มและยาสูบ เนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอยู่แล้วและโลกยังมีความต้องการสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มของอุตสาหกรรมและสินค้าไทยที่มีโอกาสเสียประโยชน์จากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้นก็มีเช่นกัน ซึ่ง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมไทยที่ผูกโยงกับห่วงโซ่การผลิตของจีนหรือพึ่งพาอุปสงค์จากตลาดจีนเยอะ เช่น ปิโตรเคมีและพลาสติก ยางพาราและไม้ยางพารา ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรพิมพ์ อาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงภายในภูมิภาคเพื่อแย่งชิงอุปสงค์ทดแทนจีนจากสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ เซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของสินค้าจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เหล็กและเหล็กกล้า ผักและผลไม้ เสื้อผ้า สิ่งทอ รวมไปถึงอาจมีผู้ผลิตจากขั้วประเทศสีแดงย้ายฐานการผลิตออกมาผลิตแข่งกับอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อลดการกีดกันการส่งออกสินค้าจากประเทศของตน
ด้าน นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้สะท้อนมุมมองถึงความกังวลต่อประเด็นที่เกิดจากผลกระทบของสงครามการค้า ว่า ขณะนี้ราคาสินค้าไทยตกต่ำมาก เนื่องจากภาวะสงครามทางการค้า ทำให้จีนส่งออกสินค้าราคาถูกเข้ามาที่ตลาดของสินค้าไทยในประเทศ ซึ่งข้อเท็จจริงสินค้าจีนไม่ได้มีการผลิตเพิ่มขึ้นแต่ตลาดส่งออกของจีนลดลง จากมาตรการกีดกัน และควบคุมการนำเข้าสินค้าของ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ทำให้จีนหันมาส่งออกให้กับกลุ่มประเทศในอาเซียนมากขึ้น
ดังนั้น จึงต้องฝากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแล ประเด็นแรกคือ การเพิ่มมาตรการทางภาษี หรือเครื่องมือที่จะลดนำเข้าของสินค้าราคาถูกให้เข้มข้นขึ้น ประเด็นที่สองคือ การช่วยเรื่องต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะราคาวัตถุดิบ ค่าครองชีพ ราคาพลังงาน ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ฯลฯ และประเด็นที่สามคือ การปรับตัวของโครงสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ
จากภาวะการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยที่ทำได้ยากลำบากมากขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องทยอยปิดโรงงานผลิตสินค้าต่อเนื่อง และจากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ล่าสุด พบว่า 5 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-พฤษภาคม 2567)มีโรงงานปิดกิจการไปแล้ว 567 แห่ง เฉลี่ย 113 โรงงานต่อเดือน และมีแรงงานตกงาน 1.53 หมื่นคนแล้ว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ และกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ และการแปรรูปไม้ ฯลฯซึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2566 ที่ยอดปิดกิจการของโรงงานที่ 1,337 แห่ง เฉลี่ย 111 แห่งต่อเดือนนั้น ถือว่าสถานการณ์ปี 2567ยังน่าเป็นห่วง นอกจากนี้ สถิติการปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรม ของปี 2566 ขยายตัวกว่าปี 2565 ที่มีการปิดกิจการ 678 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นถึง 60% ขณะเดียวกันแม้การเปิดกิจการใหม่จะมีมากกว่าโรงงานที่ปิดกิจการ แต่พบว่าตัวเลขห่างกันเพียงหลัก 10 แห่งเท่านั้น จากเดิมที่ต่างกันหลักร้อยถึงสองร้อยแห่ง และแนวโน้มโรงงานที่ปิดมีมากขึ้น ทำให้ศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยถดถอยลง
กระบองเพชร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี