น้องคนหนึ่งหลังไมค์เล่าเรื่องรุ่นพี่ที่ทำงาน ไหว้วานให้ช่วยกู้ซื้อรถยนต์ให้ โดยใช้ชื่อและเครดิตของน้องคนนี้เป็นผู้กู้ ส่วนรุ่นพี่จะเป็นคนใช้รถและรับผิดชอบผ่อนค่ารถทุกเดือน เมื่อผ่อนครบ 5 ปี ก็ค่อยโอนรถให้กับรุ่นพี่
ฟังข้อเสนอดังกล่าว รุ่นน้องเจ้าของเรื่องรีบปฏิเสธทันที โดยแย้งกลับไปว่า “ถ้าพี่เกิดไม่ส่งค่างวดขึ้นมา ผมจะทำยังไง?”
ได้ยินรุ่นน้องแสดงอาการกังวล รุ่นพี่จึงเอามือลูบหลังพลางปลอบโยนพร้อมกับอธิบายว่า “ทำไมไม่มองอีกมุมบ้างล่ะ ถ้าเกิดพี่ผ่อนตรงเวลาทุกงวด และผ่อนครบ 5 ปี แล้วน้องไม่โอนรถให้พี่ล่ะ แบบนี้พี่ไม่เสี่ยงกว่าเหรอ???”
และนั่นคือที่มาของคำถามหลังไมค์ของน้องท่านนี้ “โค้ชครับ โค้ชว่าแบบนี้ใครเสี่ยงกว่ากันครับ”
คุณผู้อ่านล่ะครับ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคิดว่ายังไง “สองคนนี้ใครเสี่ยงกว่ากัน”
ถ้าเผลอไผลไปกับคำอธิบายของรุ่นพี่ เราอาจเสียเวลาแบบไม่ใช่เรื่องกับการไปนั่งขบคิดว่าใครเสี่ยงกว่าใคร ทั้งที่จริงแล้วไม่ต้องไปเสียเวลาวิเคราะห์ให้เมื่อย หากเจ้ารุ่นน้องคนนี้เข้าใจเรื่องตั้งต้นว่า
“แล้วอยู่ดีๆ ทำไมต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาวะเสี่ยงด้วยวะ” (โค้ชก็ตอบกลับไปประมาณนี้แหละ ฮา)
เดิมตัวเองไม่มีหนี้ ทำไมต้องทะลึ่งไปเป็นหนี้
เดิมเครดิตดีๆ สวยๆ ทำไมไม่เก็บไว้ใช้กับเรื่องของตัวเอง
เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกแขวนคอทำไมตั้ง 5 ปี
ความเสี่ยงน่ะ!! มันไม่ใช่แค่รุ่นพี่ไม่ผ่อนตามกำหนดเท่านั้นนะ ไหนจะรถเฉี่ยว รถชน สูญหาย หรือรถถูกเอาไปทำอะไรต่อมิอะไรอีกล่ะ เราได้เข้าไปยุ่งไปเกี่ยวทั้งหมดเลยนะ
รุ่นพี่เองก็ช่างคิด เอาเรื่องปลายทางมาอ้าง แต่กับ 60 เดือนที่เราต้องลุ้นว่าเขาจะรักษาวินัยได้ตลอดหรือเปล่า ซึ่งมันไม่ง่ายเลยนะ และถ้าหากหัดเอะใจสักนิด ว่าทำไมพี่เขาไม่กู้ซื้อเองวะ!! คำตอบที่ได้ก็น่าจะสะท้อนชีวิตการเงินของรุ่นพี่ท่านนี้ได้เป็นอย่างดี (ถ้าเครดิตดี รายได้พอ ทำไมมันไม่กู้ซื้อเองล่ะ)
ทุกวันนี้ยังมีกรณีเบียดเบียนกันในที่ทำงานอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นขอยืมเงิน ให้ค้ำประกันเงินกู้ให้ หรือแม้กระทั่งให้รุ่นน้องรูดบัตรเครดิตซื้อของให้ก่อน แล้วค่อยทยอยผ่อนคืนให้ก็ยังมี (นี่มันอะไรกันวะเนี่ย)
ไม่ว่าใครเบียดเบียนใครก็ไม่ถูกต้องทั้งนั้นครับ ที่ถูกต้องคือ ต้องไม่เบียดเบียนกัน อันนั้นแหละมิตรภาพและสังคมในที่ทำงานถึงจะน่าอยู่
ครั้งหนึ่งเด็กจบใหม่ทำงานไม่ถึงสองปี ส่งข้อความมาเล่าความทุกข์ใจที่รุ่นพี่ซึ่งเป็นหัวหน้าโดยตรง มาขอให้เขาค้ำประกันเงินกู้สหกรณ์ให้น้องคนนี้จำใจต้องเซ็นค้ำให้ด้วยกลัวว่าจะมีผลต่อการทำงาน เพราะเป็นรุ่นพี่ในแผนกเดียวกัน
สุดท้ายก็ต้องมานั่งทุกข์ใจและชดใช้หนี้แทนเขา เมื่อคนที่เป็นทั้งรุ่นพี่และเจ้านายหนีหนี้หายไปกับสายลม
ใครไม่เคยอาจไม่รู้ ทนใช้หนี้ที่ตัวเองสร้างว่าหนักหนาสาหัสแล้วการต้องมารับผิดชอบกับหนี้ที่ไม่ได้ก่อ อันนี้หนักกว่าเยอะ เจ็บทั้งกระเป๋าตังค์แถมยังต้องมาเจ็บใจเพิ่มเข้าไปด้วย
ในครอบครัวเองก็มีเรื่องแบบนี้อยู่เหมือนกัน ที่เจอบ่อยก็มีทั้งพี่กู้ยืมเงินให้น้อง เพื่อเอาไปแก้ปัญหาหรือเอาไปทำทุน หรือน้องออกรถให้พี่ด้วยเครดิตหรือรายได้ของพี่ไม่พอออกรถได้ แต่อยากมีรถเอาไว้เริ่มต้นอาชีพ นัยว่าถ้ามีรถแล้วจะทำรายได้ได้มากขึ้น สุดท้ายก็มีที่เรื่องจบด้วยดี ผ่อนครบตามสัญญาไม่เกิดปัญหา แต่ก็มีไม่น้อยที่จบด้วยความบาดหมางในครอบครัว
เรื่องราวการเบียดเบียนทางการเงินที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้ผู้ที่ถูกร้องขอให้ช่วยเหลือยังคงเกิดขึ้นทุกวัน คำแนะนำเดียวของมันนีโค้ชที่ให้ได้สำหรับกรณีแบบนี้ก็คือ “อย่าพาชีวิตไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น” อันนี้ผมว่าดีที่สุด
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเองเป็นคนที่มีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่อก็ต้องคิดให้เยอะ หากจะต้องขอความช่วยเหลือในเรื่องเครดิตหรือการค้ำประกันจากใคร คิดสักนิดว่าถ้าเราเป็นคนที่ถูกร้องขอบ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร ใจเขาใจเราบ้างก็ดี
ตอนวางแผนซื้อรถคันแรก ผมตั้งใจเก็บเงินให้ได้ 30% เพื่อดาวน์รถจะได้ไม่ต้องหาคนมาค้ำประกัน แค่คิดว่าจะขอให้เขาค้ำประกันให้ ก็ลำบากใจที่จะพูดแล้ว เลยไม่เอาดีกว่า ดาวน์เยอะหน่อย ได้รถช้าไปอีกนิด แต่ไม่เบียดเบียนใคร
ตอนนั้นตั้งใจเอารถมาใช้ทั้งกับธุรกิจและเรื่องส่วนตัว ถ้ามีรถการขนของไปขายตามที่ต่างๆ ก็สะดวกดี แต่ไม่รีบออกรถ ใช้แท็กซี่ไปก่อน เอาให้ชัวร์ว่ากิจการมีกำไร หรือทำตัวเลขการเงินให้มั่นใจว่ามีปัญญาผ่อนเองได้ ค่อยออกรถ ไม่ใช่เอารถยนต์เป็นข้ออ้าง ว่าถ้าไม่มีรถก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วก็รีบสร้างภาระการเงินแบบถาวร ทั้งๆ ที่รายได้ยังมีความไม่แน่นอน
เล่ามาถึงตรงนี้ อยากให้ทุกคนจำคำนี้ไว้ครับ “การเงินส่วนบุคคล”
เงินเป็นเรื่องส่วนบุคคล (ขีดเส้นใต้คำว่า ส่วนบุคคล) แต่ละคนมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบภาระการเงินของตัวเองให้ดี ไม่ควรเบียดเบียน หรือผลักภาระการเงินของเราไปให้คนอื่น ในขณะที่เราเองหากถูกร้องขอให้ช่วย ก็ควรใช้หนทางอื่นในการช่วยเหลือ มากกว่าเอาตัวเองไปรับภาระแทน หรือเปลี่ยนภาระของคนอื่นมาเป็นภาระของตัวเอง
ส่วนพี่ น้อง หรือเพื่อนที่ทำงานจะโกรธ ก็คงต้องปล่อยครับ เพราะมันก็เป็นสิทธิของเราที่จะช่วยหรือไม่ช่วยก็ได้ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าปฏิเสธแล้วเขาจะเข้าใจ แล้วไม่เอาคำปฏิเสธเราไปปะปนกับเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว (ถือว่าน่ารักเลยนะ) และก็เป็นไปได้อีกเช่นกันว่า ปฏิเสธไปแล้วจะเกิดบรรยากาศตึงๆ ระหว่างเรากับเขาหลังจากนั้น ก็ให้คิดในแง่ดีเสียว่า อย่างน้อยเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้เรารู้จักตัวตนของเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้น และรู้ว่าต้องวางระยะห่างกับคนคนนี้ยังไงในวันหน้า
สำหรับเรื่องงานที่กังวลว่า หากเราไม่ช่วยแล้วจะมีผลกระทบ อันนั้นคงทำอะไรไม่ได้มาก ถ้าสันดานเขาเป็นคนแบบนั้น สิ่งสำคัญสำหรับเราคือ ตั้งใจทำงานของเราให้ดี รับผิดชอบให้ดี พัฒนาตัวเองให้เป็นยอดฝีมือในที่ทำงาน อันนั้นผมว่าก็เป็นภูมิคุ้มกันคนที่จะกลั่นแกล้งเราได้ดีที่สุดทางหนึ่งนะ
หินในกระเป๋าคนอื่น อย่าเอามาไว้ในกระเป๋าตัวเอง เพราะการเดินทางสู่อิสรภาพการเงินเป็นการเดินทางไกล อย่าแบกอะไรหนักโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะสัมภาระส่วนเกินที่ไม่ใช่ของเรานะครับ
ขอให้ทุกคนมีมิตรภาพทั้งในที่ทำงานและครอบครัวครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี