จุดเริ่มต้น “มูลนิธิฉือจี้”
พ.ศ.2509 จากกองเลือดหนึ่งกองบนพื้น ทำให้ท่านธรรมาจารย์มีดำริที่จะก่อตั้งองค์กรการกุศลขึ้น ด้วยปณิธานต้องการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ประจวบกับวันหนึ่งมีแม่ชีคาทอลิกจากโรงเรียนมัธยมไห่ซิงสามท่าน ได้เดินทางมาพบ ท่านธรรมาจารย์ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึง ศาสดา เป้าหมายและหลักธรรมคำสอนของศาสนาที่ตนเองนับถือ ก่อนที่แม่ชีทั้งสามจะเดินทางกลับ จึงได้กล่าวขึ้นว่า “ในที่สุดวันนี้ก็ได้เข้าใจแล้วว่า ความเมตตาของพระพุทธองค์นั้น ครอบคลุมไปถึงทุกสรรพชีวิตบนโลก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ทว่าความรักของพระเจ้า แม้จะจำกัดอยู่แค่หมู่มวลมนุษยชาติ แต่พวกเราได้สร้างโบสถ์ สร้างโรงพยาบาลรวมถึงดูแลสถานสงเคราะห์คนชรา ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมนานัปการ แล้วพุทธศาสนาเล่า ได้อุทิศสิ่งใดเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง”
ท่านธรรมาจารย์ฟังแล้วรู้สึกอึดอัดใจ ไม่รู้จะตอบประการใด นั่นเพราะพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ มักจะปิดทองหลังพระ ต่างคนต่างทำบุญ เมื่อทำบุญแล้วก็ไม่ต้องการออกนาม เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีใครรวบรวมความรักอันยิ่งใหญ่นี้ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนจึงตัดสินใจทุ่มเทแรงกายแรงใจ จัดตั้งองค์กรการกุศลขึ้น โดยเริ่มต้นจากการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้
วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2509 (วันที่ 24 เดือน3 ปีพ.ศ.2509 ตามปฏิทินจันทรคติ) “มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน” ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
ถักทอต้นแบบมูลนิธิพุทธฉือจี้
พ.ศ.2510 ในวันครบรอบสองปีการก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ หลังจากการประชุมธรรมพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าเสร็จสิ้นลง ท่านธรรมาจารย์นำเหล่าลูกศิษย์มาถ่ายภาพร่วมกันบริเวณหน้าวัดผู่หมิง
ภารกิจการกุศลของฉือจี้ มีจุดเริ่มต้นจากการผลิตรองเท้าเด็กเพิ่มขึ้นวันละหนึ่งคู่โดยภิกษุณีจำนวนหกรูป ท่านธรรมาจารย์ยังได้นำไม้ไผ่บริเวณหลังบ้าน เลื่อยออกเป็นกระปุกออมบุญ 30 กระบอก เพื่อมอบให้แก่อุบาสิกาผู้ศรัทธาครอบครัวละหนึ่งกระบอก โดยรณรงค์ให้ออมเงินวันละประมาณ 50 สตางค์
เหล่าลูกศิษย์ต่างรู้สึกประหลาดใจ ว่าทำไมไม่ออมครั้งเดียว เพียงเดือนละประมาณ 15 บาท ท่านธรรมาจารย์จึงกล่าวว่า “เมื่อถือตะกร้าไปจ่ายตลาด อาจารย์อยากให้ทุกคนนำเงิน 50 สตางค์หยอดลงในกระปุกออมบุญนี้ ก่อนก้าวเท้าออกจากบ้านทุกครั้ง ก็จะได้จุดประกายเมตตาจิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น อดออมวันละ 50 สตางค์ เพื่อฟูมฟักจิตใจที่รู้จักมัธยัสถ์และการมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น”
ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน กับโลกแห่งฉือจี้
ดังนั้นทุกวัน เมื่อแม่บ้านทั้งสามสิบคนถือตะกร้าออกไปจ่ายกับข้าวที่ท้องตลาด หากพบเจอผู้คน ก็จะเผยแพร่ข่าวสารออกไปว่า “พวกเราต่างช่วยกันออมเงินวันละ 50 สตางค์ เพราะพวกเรามีมูลนิธิที่สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก พวกเราจะช่วยพวกเขาเหล่านั้น” ไม่นานข่าวสารที่ว่า “เงิน 50 สตางค์ก็ช่วยเหลือผู้อื่นได้” ก็แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว นับวันก็ยิ่งมีผู้ตอบรับแนวคิดนี้เพิ่มมากขึ้น จนเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการช่วยเหลือผู้อื่น ดุจดังพระเมตตาของพระโพธิสัตว์กวนอิมพันเนตรพันกร
หลังจากก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้ขึ้นได้สองเดือน จึงเริ่มให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือคุณยายชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ ที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในไต้หวัน โดยดูแลเรื่องอาหารการกินและสภาพความเป็นอยู่ จนกระทั่งจัดพิธีฌาปณกิจให้เมื่อท่านเสียชีวิตลง เริ่มต้นโครงการอันยิ่งใหญ่ เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก ด้วยการฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ
ในตอนนี้เอง มีผู้ศรัทธาจำนวนมากต้องการปวารณาตัวเป็นศิษย์ของท่านธรรมาจารย์ ดังนั้นเพื่อระดมใจรักให้กับมูลนิธิฉือจี้ ท่านธรรมาจารย์จึงกำหนดเงื่อนไขพื้นฐานดังนี้คือ หนึ่งผู้ที่ต้องการปวารณาตัวเป็นศิษย์ต้องเป็นสมาชิกผู้บริจาคของ “มูลนิธิพุทธฉือจี้” สองต้องร่วมทำงานสงเคราะห์ช่วยเหลือสังคมกับ “มูลนิธิพุทธฉือจี้”
ที่มา มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย
เลขที่ 316 ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร. 9 ระหว่าง ซอย 32-34 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร 10250
โทรศัพท์ 0-2328-1161-63 โทรสาร 0-2328-1160
เวลาทำการ 08.30 - 17.30 น. วันจันทร์ - วันเสาร์ (หยุดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี