เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน เป็นวันครบรอบการจากไปของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนหนึ่ง เป็นนายกรัฐมนตรีหลายสมัย นับรวมเวลาแล้วนานที่สุดในบรรดานายกรัฐมนตรีทั้งหลายของบ้านเรา
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ถึงแก่อสัญกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2507 ที่ประเทศญี่ปุ่น
ก่อนถึงยุคสุดท้ายของ จอมพล ป .ปี 2498 /2499 ขณะจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีกำลังสำคัญที่ค้ำเก้าอี้จอมพล ป. คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก และ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ
จอมพลสฤษดิ์ นั้นเป็นดาวรุ่งขึ้นมาตั้งแต่ครั้งปราบกบถวังหลวง
พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ นั้นเป็นเขยจอมพลผิน ชุณหะวัน ทั้งสองจอมพล คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลผิน ชุณหะวัณ นั้นเกื้อกูลกันมานาน เพราะฉะนั้น บารมีของจอมพล ป. ก็ช่วยโอบอุ้ม เผ่า ศรียานนท์ ให้เติบใหญ่ในตำแหน่งหน้าที่ จนกระทั่งอยู่ในตำแหน่ง อธิบดีกรมตำรวจ ที่ทำให้ตำรวจยุคนั้นเรียกได้ว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้”
และก็ดูจะสมคำร่ำลือ เพราะศรัตรูทางการเมือง ของรัฐบาลหายไปทีละคนสองคน โดยจับใครไม่ได้ เป็นต้น 4 อดีตรัฐมนตรี จำลอง ดาวเรือง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ทองเปลว ชลภูมิ ถวิล อุดล ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับขังไว้หลายสถานีตำรวจ พอย้ายที่คุมขังก็ถูกโจรจีนมลายูมาแย่งแล้วเกิดยิงกัน ทำให้อดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 เสียชีวิต โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปลอดภัย เตียง ศิริขันธ์ ส.ส สกลนคร หายไปไร้ร่องรอย มาทราบทีหลังว่าถูกยิงสดในป่าที่กาญจนบุรี ยังมีอีกหลายคนครับ
มีนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ อารีย์ ลีวีระ แห่งหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ถูกยิงอย่างอุกอาจที่หัวหิน ขณะไปพักผ่อนกับภริยา
จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเสมอขี่เสือ 2 ตัว โดยคิดว่าจะเป็นการถ่วงดุล
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น มี ถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร กฤษณ์ สีวะรา เป็นมือรองๆ เป็นกลุ่มสี่เสา เทเวศน์
ส่วนเผ่า ศรียานนท์ ต้องจัดเป็นกลุ่มราชครู มีผิน ชุณหะวัน พ่อตา ประมาณ อดิเรกสาร คู่เขย และชาติชาย ชุณหะวัณ น้องเมีย
จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีมาอย่างยาวนาน ถึงคราวที่จะต้องเลือกตั้ง จึงตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ชื่อพรรคเสรีมนังคศิลา จอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค สฤษดิ์ เป็นรอง ส่วนเผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค
เลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 คู่แข่งสำคัญคราวนั้นคือพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายควง อภัยวงศ์เป็นหัวหน้าพรรค
ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ชนะเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศต่อไป
แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด เท่าที่เคยมีมาโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ สมัยนั้นยังแยกกันเป็น จังหวัดพระนคร กับ จังหวัดธนบุรี
สกปรกอย่างไร ?
เขตเลือกตั้งดุสิต ที่เป็นเขตทหาร ทหารเข้าแถว เวียนลงคะแนน จนเมื่อปิดหีบนับคะแนนข้ามวันข้ามคืนไม่เสร็จ บางเขตมีบัตรเลือกตั้ง กาบัตรเรียบร้อย วางไว้บนโต๊ะเจ้าหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้ง บางเขตขณะนับคะแนนไฟดับ พอไฟสว่างคะแนนของผู้สมัครเพิ่มมากขึ้นกว่าผู้ใช้สิทธิลงคะแนน
การเลือกตั้งสกปรกเพื่อสืบทอดอำนาจของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาเคลื่อนไหว คัดค้านการเลือกตั้งสกปรก
จอมพล ป. ส่ง สฤษดิ์ มาเจรจากับนิสิตนักศึกษา
เป็นการเจรจาที่เข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดี
และนั่นนำมาสู่การยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
เป็นผลให้ เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ขอเนรเทศตัวเองไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ ส่วน จอมพล ป.พิบูลสงคราม เผ่นไปเกาะกง กัมพูชา และไปมรณกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น
สิ้นยุคจอมพลคนหัวปีแต่บัดนั้น
สำเริง คำพะอุ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี