ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 สมองพิการเกิดจากการบาดเจ็บในสมองที่กำลังอยู่ระหว่างการเจริญเติบโต ทำให้สมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและท่าทางเกิดการทำงานผิดปกติ แต่การบาดเจ็บของสมองนั้นไม่ใช่ชนิดที่เป็นมากขึ้น ความพิการรุนแรงมากน้อยจึงมักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บของสมองเวลานั้น ถ้าเด็กไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและตั้งแต่แรกๆ มักมีปัญหาแทรกซ้อนตามมาทำให้ซ้ำเติมความพิการรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่ถ้าได้รับการวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ และรักษาอย่างเต็มที่ ความรุนแรงของปัญหาจะลดลงมาก เด็กสมองพิการจำนวนไม่น้อยสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้และอาจเจริญเติบโตเหมือนเด็กปกติ ส่วนเด็กที่มีการบาดเจ็บของสมองรุนแรงก็สามารถช่วยให้เด็กดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
สาเหตุของสมองพิการ แบ่งตามช่วงเวลาเกิด
1.ระยะก่อนคลอด การเกิดบาดเจ็บของสมองในระยะนี้อาจเกิดจากภาวะเจ็บป่วยของแม่ เช่น ลมชัก ติดเชื้อ หรือการรับยาบางชนิด อุบัติเหตุ รวมถึงไม่ทราบสาเหตุ
2.ระยะระหว่างคลอด พบได้บ่อยจากทารกคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดน้อย หรือมีปัญหาระหว่างคลอดหรือมีภาวะการขาดออกซิเจนเกิดขึ้น เช่น รกพันคอ คลอดยากลูกแฝด และอื่นๆ
3.ระยะหลังคลอด อาจเกิดการบาดเจ็บหรือมีสาเหตุทำให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง จากเหตุต่างๆ เช่น อุบัติเหตุจมน้ำ สำลักอาหาร โรคติดเชื้อ เป็นต้น
อาการที่พบ
มีอาการแตกต่างกันตามตำแหน่งและความรุนแรงของการบาดเจ็บในสมอง ในระยะแรกคลอดหรือทารกอาจวินิจฉัยยาก มักจะสงสัยจากประวัติความเสี่ยงต่างๆ ของการเกิดสมองพิการ เช่น มีประวัติคลอดยาก ประวัติการขาดออกซิเจนระหว่างคลอด เด็กคลอดก่อนกำหนด เป็นต้นแรกเกิดอาจไม่มีอาการชัดเจนหรืออาจมีปัญหาตัวนิ่มอ่อนหรือเกร็งผิดปกติ ดูดนมไม่ได้ สำลักบ่อย เป็นต้น เมื่อติดตามผลต่อมาอาจพบปัญหาพัฒนาการล่าช้า เช่น ลูกไม่จ้องหน้า ไม่ชันคอ ไม่พูด ไม่นั่งตามอายุที่ควรทำได้ มีความผิดปกติของระบบการเคลื่อนไหวต่างๆ และท่าทางหรือปัญหาทางระบบประสาท อาจสังเกตเห็นอาการขาจิก ไขว้ กางขาลำบากหรือเวลาจับยืนอาจพบยืนขาเขย่งหรือเคลื่อนไหวผิดปกติช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีปัญหาการสื่อสาร เป็นต้น
ชนิดของสมองพิการ
มีหลายรูปแบบ ที่พบมากที่สุดคือประเภทมีอาการเกร็ง รองลงมาคือมีการเคลื่อนไหวของร่างกายแขนขาผิดปกติ เช่น เคลื่อนไหวแบบบิดหมุนแขนขาช้าๆ เหมือนท่ารำควบคุมไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวแบบกระตุก เร็วๆ ไม่สม่ำเสมอ อาจพบอาการเหล่านี้ที่แขนขาทั้งหมด หรือเฉพาะขา 2 ข้าง หรือซีกหนึ่งของร่างกาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่บาดเจ็บ
ปัญหาที่อาจพบร่วมได้ในเด็กสมองพิการ
1.ปัญหาด้านสติปัญญา
2.ลมชัก
3.ปัญหาการมองเห็น
4.ปัญหาด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์
5.ปัญหาทางการสื่อสาร
6.ปัญหาการรับประทานอาหาร
การฟื้นฟูรักษา
เด็กสมองพิการ มักมีปัญหาทางร่างกายร่วมกันหลายๆ อย่าง เช่น การเคลื่อนไหวผิดปกติ ปัญหาเกร็งหรือข้อติดผิดรูป พัฒนาการล่าช้า ปัญหาการช่วยเหลือตัวเอง ปัญหาการรับประทานและโภชนาการ ทางการสื่อสาร ปัญหาในการรับการศึกษาหรือเข้าสู่สังคม การบำบัดรักษาจึงต้องอาศัยทีมประกอบด้วยแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักของเล่นบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักกายอุปกรณ์ นักจิตวิทยา รวมถึงพ่อแม่และครอบครัวที่เป็นหนึ่งในทีมที่สำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของการรักษา
หลักใหญ่ๆ 2 ข้อของการรักษา
1.รักษาปัญหาทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูกรวมถึงการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เกิดจากการบาดเจ็บของสมอง เช่น การให้ยาเพื่อลดเกร็ง การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูการเคลื่อนไหว ความแข็งแรง การยืดดัดข้อ การลดปัญหาหลังคดหรือการรักษาปัญหาการดูดกลืน
2.การรักษาด้านพัฒนาการโดยกระตุ้นและฝึกทักษะการเรียนรู้ช่วยเหลือตนเอง เพื่อช่วยให้เด็กสามารถเติบโตมีพัฒนาการปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุดรวมถึงมีโอกาสในการศึกษาเท่าที่จะทำได้
บทความโดย ศ.คลินิก พญ.ศรีนวล ชวศิริ
หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูเด็ก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี