การตรวจสุขภาพประจำปีในคนเรานั้นเป็นกุญแจสำคัญในการดูแลสุขภาพ ในสุนัขและแมวก็เช่นเดียวกันคน เมื่อมีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคข้ออักเสบ โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การตรวจสุขภาพมีความจำเป็นอย่างไร และมีการตรวจอะไรบ้าง วันนี้ผมมีข้อมูลดีๆจาก รศ.ร.ท.หญิง สพ.ญ.ดร.เนาวรัตน์ สุธัมนาถพงษ์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มาฝากครับ
สุนัขเป็นสัตว์ที่มีอายุขัยไม่มากเท่าคน จึงเข้าสู่วัยชราได้รวดเร็วกว่า ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพสามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แม้ในปัจจุบัน สุนัขได้รับการดูแลเอาใจใส่เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่จึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาวมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในช่วงวัยชราจะสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน
การตรวจสุขภาพประจำปีสามารถช่วยให้สัตวแพทย์ทำการวินิจฉัย ให้การรักษาหรือป้องกันความผิดปกติก่อนที่จะเกิดความรุนแรงจนกลายเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้การพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์นั้น ยังเป็นโอกาสที่ดีที่เจ้าของสุนัขจะได้ถามคำถามต่างๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูสุนัขให้แข็งแรง มีสุขภาพที่ดี เช่น เรื่องของอาหารโภชนาการพฤติกรรม และปัญหาอื่นๆ ด้วย
รายการตรวจสุขภาพประจำปีที่แนะนำ มีดังนี้
1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค และป้อนยาถ่ายพยาธิ
2. ตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ชั่งน้ำหนักตัว
3. ตรวจสีเหงือก ผิวหนัง เท้า/เล็บ อวัยวะสืบพันธุ์
4. ตรวจตา
5. ตรวจหูด้วย otoscope และตรวจไรหู
6. คลำตรวจตามร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก/ข้อต่อ ช่องท้อง
7. ตรวจสุขภาพฟันและช่องปาก
8. ตรวจระบบทางเดินหายใจเบื้องต้น โดยใช้หูฟังฟังเสียงปอด
9. ตรวจระบบการทำงานของหัวใจเบื้องต้น โดยใช้หูฟังฟังเสียงหัวใจ เป็นต้น
10. ตรวจค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือ Complete Blood Count (CBC) เพื่อดูปริมาณและรูปร่างของเม็ดเลือดต่างๆ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ว่ามีความผิดปกติหรือไม่
11. ตรวจค่าทางเคมีของเลือด serum chemistry profile เพื่อดูค่าของสารต่างๆ ในเลือด เช่น เอนไซม์ โปรตีนกลูโคส คอเลสเตอรอล และสารอื่นๆ ที่สร้างขึ้นในร่างกาย ซึ่งใช้เป็นตัวบ่งชี้ว่าอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต มีการทำงานเป็นปกติหรือไม่
12. ตรวจปัสสาวะ (urinalysis)
13. ตรวจพยาธิในระบบทางเดินอาหาร ทำโดยการเก็บตรวจอุจจาระไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
14. ตรวจพยาธิหัวใจ และพยาธิในเม็ดเลือด ทำโดยการเจาะเลือดไปตรวจด้วยวิธีต่างๆ เช่น
a. นำตัวอย่างเลือดไปป้ายบนแผ่นสไลด์ ย้อมสี แล้วส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาพยาธิ
b. ตรวจระดับแอนติบอดีซึ่งจำเพาะต่อพยาธิที่ร่างกายสร้างขึ้น ด้วย test kit
c. ตรวจด้วยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR)
สำหรับสุนัขที่อายุมากกว่า 7 ปี ควรตรวจการทำงานของไทรอยด์ และเอกซเรย์ช่องอกเพิ่มเติมด้วยครับ
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี