วันจันทร์ ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
มันเกี่ยวกับเงินลูกจ้างต้องรู้! ประกันสังคมขยายเกษียณอายุ 60 ปีตามก้น กม.แรงงาน

มันเกี่ยวกับเงินลูกจ้างต้องรู้! ประกันสังคมขยายเกษียณอายุ 60 ปีตามก้น กม.แรงงาน

วันพฤหัสบดี ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561, 07.10 น.
Tag : ขยายอายุ เกษียณอายุ กม.แรงงาน นายจ้าง แรงงาน ลูกจ้าง ประกันสังคม
  •  

ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)ภายในปี 2568  โดยจะมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดยประชากรทุกๆ 5 คนจะมีผู้สูงอายุ 1 คน มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ เผยว่าปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศในเอเชีย ที่มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุ รองจากประเทศสิงคโปร์

จากสภาพปัญหาดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมอบหมายให้กระทรวงแรงงานสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานประกันสังคมดำเนินการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพและระเบียบต่างๆ ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีสัดส่วนคนสูงวัยใกล้เกษียณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อให้มีความมั่นคงในบั้นปลายชีวิต โดยเฉพาะลูกจ้างและพนักงานบริษัทซึ่งไม่ได้มีบำเหน็จบำนาญเหมือนกับผู้ที่รับราชการ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้เกษียณอายุและผู้ที่ทำงานมานานแต่ถูกเลิกจ้าง


แก้ กม.แรงงานใหม่ลูกจ้างได้มากกว่าเดิม

โดยสิทธิประโยชน์ซึ่งลูกจ้างทุกบริษัทที่เกษียณอายุจะได้รับเพิ่มขึ้นนั้นจะมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ได้รับจากนายจ้าง ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีแนวทางจะเพิ่มค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 เป็นการปรับปรุงแก้กฎหมายแรงงานเพื่อเพิ่มอัตราค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น จากเดิมอัตราค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดนั้นกำหนดอยู่ 5 อัตรา คือ 
1.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน ได้รับค่าชดเชย 30 วัน 
2.ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 
3.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 6 ปี ได้รับค่าชดเชย 180 วัน 
4.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 8 ปี ได้รับค่าชดเชย 240 วัน 
5.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 10 ปี ได้รับค่าชดเชย 300 วัน
แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มอัตราที่ 6 เข้าไปคือ "หากทำงานต่อเนื่องครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน"

 

 

ขยายเกษียณ 60 ปรับตาม กม.แรงงาน

2.ได้รับจากกองทุนประกันสังคมที่ลูกจ้างแต่ละบริษัทส่งเงินเข้ากองทุนไว้ฯ ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมได้ข้อสรุปเป็นนโยบาย 3 ประการจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของลูกจ้างและนายจ้างทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาคเพื่อให้เป็นระบบบำนาญที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายมากที่สุดคือ

1. ขยายอายุการเกิดสิทธิเริ่มรับเงินบำนาญจากเดิม 55 ปี เป็น 60 ปี ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยจะทยอยปรับขยายอายุ ทุก ๆ 2 ปี คือปีแรกที่บังคับใช้ ผู้ประกันตนเริ่มมีสิทธิรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปี อีก 2 ปีถัดไป ผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 56 ปี จากนั้นอีก 2 ปี มีสิทธิรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 57 ปี โดยจะขยายอายุในลักษณะนี้ไปจนกว่าจะขยายอายุครบ 60 ปี ซึ่งระบบนี้เป็นระบบที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้ประกันตน เพราะผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญไปตลอดชีวิต 

โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจมีผู้ประกันตนบางรายถูกบริษัทบังคับให้เกษียณตั้งแต่ก่อนที่จะมีสิทธิรับบำนาญชราภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกบังคับเกษียณที่อายุ 55 ปี ทางสำนักงานประกันสังคมจะให้การช่วยเหลือโดยในแต่ละปีที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์รับบำนาญ ประกันสังคมจะจ่ายบำเหน็จให้ 10 เท่าของบำนาญ 1 เดือน เช่น ถูกบังคับเกษียณตอนอายุ 55 ปี อายุรับบำนาญอยู่ที่ 56 ปี ก็จะได้บำเหน็จ 10 เท่าของบำนาญ 1 เดือน หากอายุรับบำนาญอยู่ที่ 57 ปี จะได้บำเหน็จ 20 เท่าของบำนาญ 1 เดือน ทั้งนี้สูงสุดไม่เกิน 30 เท่า

หากเสียชีวิตบำนาญจะตกแก่ทายาท

2. การันตีระยะเวลาการรับเงินบำนาญอย่างน้อย 5 ปี หากเสียชีวิตก่อนครบ 5 ปี ผลประโยชน์บำนาญรายเดือนที่เหลือในส่วนที่ยังไม่ครบ 5 ปี จะตกแก่ทายาท โดยจ่ายเป็นรายเดือนให้จนครบ 5 ปี

3. ปรับสูตรการคำนวณเงินบำนาญ จากเดิมที่นำอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ เปลี่ยนเป็นนำอัตราเงินเดือนตั้งแต่เริ่มทำงานจนกระทั่งสิ้นสุดการทำงานมาเฉลี่ย พร้อมทั้งนำมูลค่าเงินในอดีตแต่ละช่วงเวลามาพิจารณาและปรับเพิ่มให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เงินบำนาญที่ผู้ประกันตนจะได้รับสอดคล้องกับค่าเงินในปัจจุบันและเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกันตน

 

 

เผยขยับเกษียณแบบแบบค่อยเป็น ค่อยไป 

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยกับ "ทีมข่าวแนวหน้าออนไลน์" ว่า ปัจจุบันผู้ชายไทยอายุเฉลี่ย 81 ปี ส่วนผู้หญิงอายุเฉลี่ย 83 ปี ขณะที่เทรนด์ของโลกขยับขยายอายุเกษียณออกไป และกฏหมายแรงงานไทยก็จะปรับให้เกษียณที่อายุ 60 ปี ดังนั้น ในส่วนของสำนักงาน ประกันสังคม จึงจะต้องมีการปรับขยายส่วนอื่นรองรับตามไปด้วยเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

โดยตอนนี้ สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดเนื้อหาระบบบำนาญก่อนนำเสนอกระทรวงแรงงานเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนการออกกฏหมายบังคับใช้ โดยขยับอายุการเกิดสิทธิในการรับบำนาญออกไป ซึ่งจะขยับอายุการเกิดสิทธิฯออกไปแบบค่อยเป็น ค่อยไป ไม่ใช่ขยับอายุการรับสิทธิออกไปทันไป 5 ปีจากอายุ 55 ปี เป็นอายุ 60 ปีแต่มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 10 ปี จึงจะกำหนดให้เกษียณหรือเกิดสิทธิรับบำนาญที่อายุ 60 ปี 

"เบื้องต้นสำนักงานประกันสังคม ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทุกคนเห็นด้วยที่จะขยับอายุของผู้ประกันตนที่จะเกิดสิทธิรับบำนาญเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยแต่ละกลุ่มมีจำนวนใกล้เคียงกัน มีความเห็นแบ่งออก 3 กลุ่ม คือ 1.ต้องการให้ขยับอายุเกิดสิทธิรับบำนาญออกไปทุก 1 ปี 2.ต้องการให้ขยับทุก 2 ปี และ 3.ต้องการให้ขยับอายุการรับสิทธิฯออกไปทีเดียว 5 ปี" นายสุรเดช กล่าว

เกษียณ60จะได้รับบำนาญเพิ่มเป็น 7.5%

นายสุรเดช กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานายจ้างส่วนใหญ่คิดเอาว่ากฏหมายประกันสังคมกำหนดอายุเกษียณ แต่ตนยืนยันว่ากฎหมายประกันสังคมไม่ได้บังคับกำหนดอายุเกษียณ แต่กฎหมายประกันสังคมกำหนดอายุในการเกิดสิทธิการรับบำนาญ อย่างเช่นตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับปัจจุบัน ตอนนี้อายุครบ 55 ปี จึงเกิดสิทธิรับเงินบำนาญ แต่หากบริษัทไม่ได้บอกว่าให้เกษียณอายุ 55 ปี และถ้าแรงงานจะทำงานต่อก็จ่ายเงินสมทบกับสำนักงานประกันสังคมต่อไปเรื่อยๆ ได้ ซึ่งหลังอายุ 55 ปี ทุกๆ 1 ปีที่เกษียณช้าลงก็จะได้รับเงินบำนาญบวกเพิ่มขึ้น 1.5 เปอร์เซนต์ หากเกษียณที่อายุ 60 ปี หรือเกษียณช้าออกไป 5 ปี ผู้ประกันตนจะได้รับบำนาญอัตราเงินเพิ่มเป็น 7.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าคุณอยู่ในบริษัทเกษียณอายุ 55 ปี แล้วบริษัทจ้างต่อเป็นปีต่อปีเขาก็อยู่ต่อได้ ขณะที่เขาเกษียณช้าลง 1 ปี จะมีเงินสะสมกับประกันสังคมได้รับเงินบำนาญในระยะยะยาวบวกเพิ่มขึ้นปีละอีก 1.5 เปอร์เซ็นต์" 

ดังนั้น ถ้าคุณอายุ 55 ปีเลือกจะได้รับเงินบำนาญทุกเดือนปกติก็ได้ หรือว่าผู้ประกันตนจะรับบำนาญตอนอายุ 56 ปี และเลือกแบบรับเงินก้อนล่วงหน้าเป็นเงินบำนาญจากประกันสังคมไปก่อน 1 ปี โดยครั้งแรกจ่ายให้จำนวน 10 เดือน แต่จะถูกหักเงิน 2 เดือน หรือถ้าเลือกรับเงินบำนาญอายุ 57 ปี ประกันสังคมจะจ่ายเงินก้อนให้ 20 เดือน หรือหักเงิน 4 เดือน ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเงินก้อนหนึ่งตอนเกษียณก็คงจะชอบแบบนี้ โดยผู้ประกันตนหลังอายุครบ 56 ปี, 57 ปี แล้วก็มารับเงินบำนาญรายเดือนทุกเดือนไปตลอดชีวิต

 


คำนวณเงินบำนาญปรับตามดัชนีเงินเฟ้อ

เลขาธิการประกันสังคม อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมในการเสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคมในครั้งนี้ด้วยว่า ปัจจุบันเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนสูงสุดที่อัตราเงินเดือน 15,000 บาท หักเงินสมทบ 750 บาท หากออกจากงานเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินเองตามมาตรา 39 (จ่ายเงินส่งเงินสมทบเอง) ก็จะคิดจากฐานเงินเดือนละ 4,800 บาท ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินบำนาญน้อยลง จึงคิดคำนวณเพิ่มให้โดยปรับตามดัชนีเงินเฟ้อหรือคิดตามมูลค่าเงินปัจจุบันสมทบ ซึ่งหากคิดตามสูตรนี้แล้วจะทำให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเองตามมาตรา 39 และมาตรา 33 ผู้ประกันตนที่มีนายจ้างนั้นได้รับเงินบำนาญในจำนวนที่ใกล้เคียงกันถ้าหากจำนวนปีที่อยู่ระบบประกันสังคมเท่ากัน

ดังนั้น ผู้ประกันตนที่หลุดออกจากระบบประกันสังคมจะด้วยเหตุอะไรก็ตาม ถ้ากลับเข้ามาเป็นสมาชิกผู้ประกันตนต่อก็จะสร้างให้เกิดความมั่นใจว่าเงินบำนาญที่จะได้รับมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 หรือมาตรา 33

"ยกตัวอย่างผู้ประกันตนทำงานรับเงินเดือน 30,000 บาท แต่หักเงินส่งสมทบคิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ก็จะเท่ากับจ่ายกองทุนประกันสังคมเดือนละ 750 บาท และหากออกจากงานเป็นผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเองตามมาตรา 39 โดยคิดจากฐานเงินเดือน 4,800 บาท ถ้านำมาคิดเฉลี่ยก็อาจจะทำให้รับเงินบำนาญจำนวนน้อยเกินไป แต่ในการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคมในครั้งนี้ เราได้มีการคำนวณเพิ่มให้ด้วย จะใช้วิธีคำนวณเงินบำนาญปรับตามดัชนีเงินเฟ้อ คือ คิดตามมูลค่าของเงินสมทบทั้งในส่วนมาตรา 39 หรือมาตรา 33 ผู้ประกันตนที่มีนายจ้างนั้นก็จะได้รับเงินบำนาญจำนวนใกล้เคียงกัน หากจำนวนปีที่ส่งเงินสมทบเท่ากัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีจำนวนเงินบำนาญเพียงพอกับการดำรงชีวิตสำหรับผู้ประกันทั้ง 2 แบบ" เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวอธิบาย

ถ้าส่งครบ 35 ปีจะได้รับ 50 เปอร์เซ็นต์ 

พร้อมอธิบายต่อว่า ตนลองคำนวณสูตรให้ดูว่าจ่ายเงินสมทบประกันสังคมคุ้มหรือไม่ สมมติพนักงานคนหนึ่งทำงานและจ่ายเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมเดือนละ 5 เปอร์เซ็นต์ ตอนรับเงินบำนาญจากประกันสังคมเริ่มรับที่ 20 เปอร์เซนต์ ซึ่งขณะนี้ถ้าคิดจากหักสมทบฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท ต้องจ่ายประกันสังคมเดือนละ 750 บาทจ่าย 10 เดือน เท่ากับ 7,500 บาท ถ้า 100 เดือน เท่ากับ 75,000 บาท และถ้าครบ 15 ปี (180 เดือน) เท่ากับจ่ายเงินรวม 135,000 บาท แต่ถ้าคิดจากฐานรับเงินบำนาญต่ำสุด 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเท่ากับปีละ 36,000 บาท (ได้เงินขั้นต่ำจากประกันสังคม 20% หรือเท่ากับรับ 4 เท่าจำนวนที่จ่าย) ซึ่งรับเงินบำนาญ 5 ปี รวมเป็นเงิน 180,000 บาทก็คุ้มแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่ได้รับบำนาญมากกว่าส่งสมทบฯมานาน 15 ปี 

แต่ถ้าส่งมาครบ 35 ปีจะได้รับ 50 เปอร์เซ็นต์หรือได้รับเงิน 10 เท่าที่จ่ายเงินสมทบ ซึ่งจะเท่ากับได้รับเดือนละ 7,500 บาท ถ้าคิด 10 เดือน เท่ากับ 75,000 บาท ถ้า 100 เดือนจะเท่ากับ 750,000 บาท ซึ่งถ้าคำนวณที่ระยะเวลา 60 เดือนจะได้รับเงินบำนาญเท่ากับ 450,000 บาทแล้ว ซึ่งตรงนี้ได้รับเงิน 3 ปีก็จะเท่ากับเงินสะสมส่งสมทบกองทุนประกันสังคมแล้ว แต่เงินบำนาญนี้จะได้รับจากกองทุนประกันสังคมทุกเดือนไปจนตลอดชีวิต

"ผมอยากฝากบอกเพิ่มเติมถึงผู้ประกันตนฯว่า ตอนเริ่มต้นกฎหมายประกันสังคมค่าแรงขั้นต่ำวันละ 111 บาท ตอนนั้นคนในระบบมีประมาณ  1 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนเงินเดือนถึง 15,000 บาทไม่ถึง 1 แสนคน แต่เวลาผ่านมา 27 ปี ตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 330 บาท หรือค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้น 3 เท่า แต่ยังกำหนดฐานหักเงินส่งสมทบสูงสุดที่ 15,000 บาท ถามว่าตอนเกษียณถ้าใช้ฐาน 15,000 บาท ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพียงพอกับการดำรงชีพหรือไม่ ขณะที่ตอนนี้คนที่มีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท มีจำนวน 32%" นายสรุเดช กล่าว
ขอความรู้ได้ที่เว็บไซต์ประกันกันสังคม 

 

 

เลขาธิการประกันสังคม กล่าวต่อว่า ถ้าประชาชนอยากได้สิทธิ์ตอนเกษียณอย่างเพียงพอนั้น ฐานค่าจ้างในการจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมก็ควรจะขยับขึ้น เช่น คนที่มีเงินเดือน 30,000 บาท อาจขยับคิดฐานเงินเดือนสูงสุด 20,000 บาท และหักเงินส่งสมทบเพิ่มเป็นเดือนละ 1,000 บาท แล้วเวลารับเงินบำนาญก็ได้รับเงินบำนาญสูงขึ้นตามอัตราที่หักเงินสมทบจริง จากเดิมรับบำนาญ 7,500 บาท เป็นรับบำนาญเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งคนที่ได้รับฟังข้อมูลอย่างครบถ้วน 80% เห็นด้วย แต่ปัญหาคือ การรับฟังจากสื่อโซเชียลโดยไม่ได้ตรวจสอบว่าของจริงคืออะไร แล้วไปพูดกันทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้คนที่จะได้ประโยชน์เสียประโยชน์ไป ซึ่งอยากให้ประชาชนที่มีข้อสงสัยส่งคอมเม้นต์ หรือขอความรู้มาได้ที่เว็บไซต์ประกันกันสังคม www.sso.go.th

นายสุรเดช ได้กล่าวทิ้งท้ายคำตอบระยะเวลากฎหมายเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนมีผลบังคับใช้ว่า "คงตอบไม่ได้ว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายจะใช้ระยะยาวนานแค่ไหน ก่อนหน้านี้ในยุคช่วงสมัยรัฐบาลการเมืองเสนอขอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม 10 ปียังไม่สำเร็จเลย ซึ่งเป็นเรื่องระบบพิจารณากฏหมาย ไม่ใช่เป็นความผิดของคนใด คนหนึ่ง"

คนตกงาน-รายได้น้อยคงจะไม่เห็นด้วย

นายทวีศักดิ์ ชิตทัพ อายุ 55 ปี ผู้สื่อข่าว นสพ.สยามรัฐ ได้ให้ความเห็นต่อการปรับกฏหมาประกันสังคมขยับอายุเกิดสิทธิรับนาญว่า ข้อเสนอที่ขยับเลื่อนเวลารับบำนาญแล้วได้เงินบำนาญสูงขึ้นตามไปด้วยเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ

"ถามว่าสำหรับคนที่ต้องเออร์ลี่รีไทร์อายุ 55 ปี ช่วงระหว่างนี้ถ้าไม่ได้ทำงานจะเอาเงินที่ไหนมาส่งอีก 5 ปี เพื่อให้รอครบอายุ 60 ปี เพราะต้องเอาเงินส่วนหนึ่งที่เก็บออมมาแบ่งส่งสมทบประกันสังคมตามมาตรา 39 แม้จะเป็นเงินเพียงแค่ 500 บาทต่อเดือน แต่เป็นปัญหาสำหรับคนไม่ได้ทำงานแล้ว รวมทั้งคนที่มีรายได้น้อยคงจะไม่เห็นด้วย เพราะเกิดช่องว่างระหว่าง 5 ปี ซึ่งคนไม่มีก็จะลำบากต้องขาดโอกาสจำยอมรับเงินบำนาญตั้งแต่เกิดสิทธิอายุ 56 ปี แทนที่จะได้รับประโยชน์บำนาญมากๆ เพิ่ม 5 เท่า แต่คนที่มีตังค์คงจะไม่มีปัญหา"

ส่วนข้อเสนอเกิดสิทธิรับบำนาญปีแรกตามกฏหมายประกันสังคมฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันให้มารับเงินก้อนไปก่อนได้ แต่เงินบำนาญ 1 ปีจะต้องถูกหัก 2 เดือนให้รับแค่ 10 เดือนนั้น นายทวีศักดิ์ คิดว่าเงื่อนไขนี้น่าจะรับได้มากกว่าเงื่อนไขข้างต้น เพราะช่วยลดภาระและลดช่องว่างรายได้ในช่วงเวลาที่ไม่ได้มีงานทำแล้ว แต่คิดว่าสำหรับคนที่มีเงินออมน้อยก็คงจะเป็นปัญหามากพอสมควร

อยากให้ปรับเพิ่ม"เงินค่ารักษา"มากกว่าเดิม

น.ส.เล็ก อายุ 35 ปี พนักงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกนอกแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ซึ่งปัจจุบันถูกหักเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเดือนละ 500 บาท แสดงความเห็นกรณีประกันสังคมขยับเวลาเกิดสิทธิรับบำนาญว่า ผลตอบแทนที่จะได้รับเงินบำนาญช้าออกไปแต่ได้รับเงินบำนาญต่อเดือนมากขึ้นจนเสียชีวิตนั้นน่าสนใจสำหรับคนที่มีเงินเก็บไม่เดือดร้อน แต่ถ้าคนงานทั่วไปคงต้องยอมเสียโอกาสรับเงินบำนาญทันทีที่เกิดสิทธิ แม้จะเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าก็ตาม เพราะจำนวนเงินออมคงไม่สามารถพยุงเวลาค่ากินและใช้จ่ายออกไปเป็นปีได้

"อยากเสนอให้ประกันสังคมปรับเพิ่มจำนวนเงินในการรักษาฟันมากกว่า เพราะเงินที่ให้ปัจจุบัน 900 บาท แค่ถอนฟันก็หมดแล้ว ล่าสุดไปขูดหินปูนที่คลินิคแห่งหนึ่ง แพทย์บอกว่าการรักษาขูดหินปูนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องขัดคราบเหงือกข้างใน รักษาเหงือกด้วย พอรวมค่าเอ็กซเรย์และยาชา 4 เข็ม ปรากฏว่าค่ารักษาครั้งเดียววันเดียวรวม 4,000 บาท ซึ่งเราก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มเองทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ไปหาหมอหลายปีแล้ว แต่สิทธิที่เรามีก็หมดไปเอาไปสมทบปีถัดไปไม่ได้" 

 

 

แนะปรับวงเงินให้สอดรับกับรายรับรายจ่าย

นายเอกชัย อายุ 33 ปีพนักงานบริษัทเอกชนย่านคลองเตย รับเงินเดือนมากกว่า 30,000 ต่อเดือน มีมุมมองการปรับเกิดสิทธิรับบำนาญ ว่าในฐานะคนชอบเก็บเงินออมอยู่แล้วมองว่าเป็นเงินออมในอนาคตต่อไปด้วย และการขยับสิทธิเวลาเกิดบำนาญออกไปทุก 1 ปีมีผลต่อเงินบำนาญเพิ่มขึ้นปีและรับอายุ 60 ปีเพิ่มเป็น 7.5% ถือว่ามีประโยชน์ด้านการเก็บออมเงินหลังเกษียณอายุ เพราะจะเป็นการสะสมเงินไปในตัวได้มีเงินไว้ใช้เพิ่มมากขึ้นหลังเกษียณ

"แต่การที่เงินบำนาญเพิ่มเป็น 7.5 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นตัวเลขตอบแทนปกติ เพราะในช่วงที่เราขยับอายุรับบำนาญ เราก็ต้องส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมอยู่ดี"

นายเอกชัย เสนอความเห็นว่า สิ่งที่อยากให้กองทุนประกันสังคมให้ความสำคัญเรื่องการให้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลมากที่สุด และควรปรับเพิ่มวงเงินรับบำนาญให้สูงขึ้นมากกว่าที่ให้ในปัจจุบันเพื่อให้เหมาะสมกับรายรับ-รายจ่ายตามสภาวะความเป็นจริงค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงชีวิตหลังเกษียณด้วย เพราะผู้สูงอายุมีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ที่ต้องจ่ายอัตราเดียวกับคนในวัยทำงาน 

หมายเหตุ : ความรู้ "มาตรา 39 มาตรา 33" 

ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 39) คือ บุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก และได้มีการสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 ซึ่งการสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รนับคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร และกรณีชราภาพ
 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ‘พื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ’ ตัวแปรประสิทธิภาพแรงงาน ‘พื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ’ ตัวแปรประสิทธิภาพแรงงาน
  • รายงานพิเศษ : ‘ความปลอดภัยและสุขภาพ’ เรื่องสำคัญต้องดูแล‘แรงงาน’ รายงานพิเศษ : ‘ความปลอดภัยและสุขภาพ’ เรื่องสำคัญต้องดูแล‘แรงงาน’
  • ลูกจ้าง 3 กลุ่มอาชีพมีเฮ!!! \'สปส.\'เปิดรับฟังความคิดเห็น ขยายความคุ้มครองมาตรา 33 ลูกจ้าง 3 กลุ่มอาชีพมีเฮ!!! 'สปส.'เปิดรับฟังความคิดเห็น ขยายความคุ้มครองมาตรา 33
  • นักวิชาการธรรมศาสตร์เสนอแยก\'ประกันสังคม\'ออกจากระบบราชการเพิ่มประสิทธิภาพ-ความโปร่งใส นักวิชาการธรรมศาสตร์เสนอแยก'ประกันสังคม'ออกจากระบบราชการเพิ่มประสิทธิภาพ-ความโปร่งใส
  • เช็คสิทธิ์มนุษย์เงินเดือน นอกจากทำฟันฟรี-ตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว ยังมีอะไรบ้าง? เช็คสิทธิ์มนุษย์เงินเดือน นอกจากทำฟันฟรี-ตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว ยังมีอะไรบ้าง?
  • เช็คเลย!! คำนวณมาให้แล้ว มนุษ์เงินเดือนตอน\'เกษียณ\' จะได้เงิน\'ชราภาพ\'กี่บาท? เช็คเลย!! คำนวณมาให้แล้ว มนุษ์เงินเดือนตอน'เกษียณ' จะได้เงิน'ชราภาพ'กี่บาท?
  •  

Breaking News

แฟนคลับเทใจร่วมทำบุญหนุนเลิฟนักแสดงวัยรุ่น'สกาย พสิษฐ์'

รู้ก่อน ปลอดภัยก่อน! รบ.จัด Mobile War Room รถเฝ้าระวังน้ำท่วม นำร่อง จ.อยุธยา

ผอ.มูลนิธิมนุษยธรรมแห่งฉนวนกาซาประกาศลาออก อ้างขาดความเป็นอิสระ

สวยสง่าสมตำแหน่ง'หมูแฮม -โชตินภา'คว้ามง'นางสาวไทย 2568'คนที่56ของประเทศไทย

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved