ความสงบสุขร่มเย็นของพสกนิกรชาวสยามเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้มาแต่โบราณกาล ด้วยพระบารมีแห่งบูรพกษัตริย์
ในหนังสือ “กฤษฎาภินิหาร อันบดบังมิได้” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปราชญ์แห่งแผ่นดิน ได้ยกตัวอย่างและยกย่องกษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง
“...ความปลอดภัยอันแท้จริงมาเกิดมีขึ้นเพราะพระนเรศวรเป็นเจ้าพระองค์เดียว ผู้ทรงก่อให้เกิดความคิดใหม่ วิธีการใหม่ และความหวังใหม่ขึ้นในใจคนไทย ถึงคนไทยจะเกรงกลัวพระราชอาญาแห่งพระเจ้านเรศวรเป็นเจ้ายิ่งกว่าความตาย
“ความกลัว” นั้นก็ยังดีกว่าความกลัว “พม่า” หรือหวาดหวั่น “ผู้มีอำนาจจากทิศอื่น” เพราะพระนเรศวรเป็นเจ้า ทรงปฏิบัติพระองค์ให้แลเห็นได้ชัดโดยทั่วกันว่า พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกันของ “คนไทย” และเพื่อประโยชน์ของ “บ้านเมือง” มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์เลยแม้แต่น้อย...”
พระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นที่ครั่นคร้ามแก่อริราชศัตรู บ้านเมืองของเราจึงสุขสงบร่มเย็น ราษฎรของเรามิได้ถูกกองทัพศัตรูไล่ฆ่าฟัน ถูกเกณฑ์เป็นเชลย เป็นทาสในต่างแดน ใช้ชีวิต แรงงาน ทุกข์ยากแสนเข็ญเป็น “แรงงาน” สร้างปราสาทราชวังรับใช้ “ผู้ชนะ”
บูรพกษัตริย์ของเราได้สร้างบ้านแปงเมือง สร้างอาณาจักรสยามให้มี “เกียรติยศ” ทรงถือราษฎรของพระองค์เสมือน “ลูกหลาน” และทรัพย์สินแผ่นดินเป็น “สมบัติ” ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ
กษัตริย์ไทยจึงทรงหวงแหน “แผ่นดิน” รัก “ราษฎร” การเป็น “เจ้า” จึง “ปฏิบัติ” พระองค์ “บำเพ็ญ” พระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของ “คนไทย”
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา บันทึกไว้ว่า เพื่อรักษากรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชา มีนโยบาย “ผูกมิตร” กับพม่ามากกว่าที่จะเป็น “ศัตรู” ด้วยพระองค์ได้เห็นกำลังของพม่าว่ามีเหนือไทยทุกประการ (จนต้องเสียกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช) และได้ทรงเห็นภัยพิบัติธนมหาศาล ซึ่งเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยและคนไทยทั้งชาติ
แต่พระนเรศวรมิได้ทรงเข้าพระทัยว่าเหตุใดพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระราชบิดา จึงทรงรับทางพระราชไมตรีกับกรุงหงสาวดี
พระนเรศวร ทรงมีความคิดฮึกเหิม “ถึงขนาดจะช่วงชิงเอากรุงหงสาวดีและมงกุฎของพระเจ้าหงสาวดีเสียก็ยังได้...”
อาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มองว่า “ปัญหาของพระมหาธรรมราชากับพระนเรศวรเป็นเจ้า เป็นปัญหาความแตกต่างระหว่าง “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งมีอยู่เสมอมา...”
ด้วยความรักราษฎรของพระองค์เหมือน “ลูกหลาน”ด้วยความเชื่อ “แผ่นดิน” เป็น “สมบัติ” ที่ตกทอดมาจาก “บรรพบุรุษ” สถาบันกษัตริย์จึงมี “เจ้านาย” “เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน” ผู้ทรงเสียสละพระองค์นึกถึง “ประโยชน์ส่วนรวม” มาก่อน
ความข้อนี้ คงต่างไปจาก “นักการเมือง พรรคการเมือง” จะมี “กี่พรรค กี่นักการเมือง” ที่คิด “เสียสละ”เช่นนี้
คนโบราณมี “ศิลปะ” ในการให้กำลังใจสนับสนุนคน “ทำงาน” ยิ่ง “สถาบันกษัตริย์” ที่เป็น “สัญลักษณ์” แห่งการทำความดี เพื่อส่วนรวม เพื่อบ้านเมือง
การสถาปนาพระอิสริยยศ “เจ้าต่างกรม” เป็นขัตติยโบราณราชประเพณีที่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระเกียรติ พระบรมวงศ์ที่ทรงพระราชปรารภยกย่องสรรเสริญ ที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยหรือที่ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงในด้านต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ในอดีตเรามี “เจ้านาย” หลายพระองค์ที่ทรงได้รับการ “สถาปนา” อาทิ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ฯลฯ
“เจ้านาย” ทุกพระองค์ทรงสร้างสรรค์ “คุณประโยชน์”แก่ประเทศให้พวกเราได้เก็บเกี่ยวความสุขสบาย แม้ถึงทุกวันนี้
หลายพระองค์ได้รับการยกย่องจาก องค์การ UNESCO ให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก”
ปีพ.ศ.2562 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสถาปนา “สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี“พระโสทรกนิษฐภคินี” ด้วยทรงพระราชดำริว่า
“ได้ทรงงานอย่างต่อเนื่องด้วยพระวิริยอุตสาหะเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย”
“เกิดเป็นเจ้า ต้องรับใช้ประชาชน”
พระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ที่ได้ติดตามสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทั่วไทย ฯลฯ
สถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รพ.จุฬาภรณ์ อันเนื่องมาจากพระดำริของพระองค์ เจริญก้าวหน้าเป็นที่พึ่งของราษฎรโดยแท้
พระองค์ทรงงานแม้พระพลานามัยไม่สมบูรณ์ บ่อยครั้งที่พระองค์เสวยพระโอสถ เพื่อให้ทรงงานได้ แม้แพทย์จะทูลเตือนว่า พระโอสถจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ก็ตาม ทรงงานเข้มแข็งตลอดมาด้วย ขัตติยะมานะ แห่งหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์
สักวัน “พระบารมีอันบดบังมิได้” คงส่องแสงทะลุเหล่า อกุศลจิตผู้ฝักใฝ่ “เดรัจฉานวิชา”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี