ในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่ มีหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องมีโอกาสที่จะถูกดำเนินคดี ทั้งคดีฟอกเงินและคดีอาญาในศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบฯ ซึ่งมักจะเป็นความผิดในการร่วมกันหรือดำเนินการในการครอบครองบุกรุก แผ้วถางป่าโดยไม่ชอบ รวมถึงร่วมทำการออกโฉนดโดยไม่ชอบ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการดำเนินคดีฟอกเงินกับคดีในศาลอาญาทุจริตนั้นมีข้อแตกต่างกันกล่าวคือ
ในคดีฟอกเงินนั้น เป็นบทบังคับในการตรวจสอบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ดังนั้น สิ่งที่ศาลนำมาพิจารณายึดหรืออายัดทรัพย์นั้น จะพิจารณาจากเส้นทางทางการเงิน ที่มาของทรัพย์สินอาชีพ รายได้ ซึ่งก่อให้เกิดทรัพย์สินตามบัญชีที่ถูกยึดหรืออายัดเป็นหลัก และถึงพี่นาประกอบจาก มูลเหตุของการกระทำความผิดว่า มีมูลหรือศาลพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่อย่างไร
ถึงแม้ในคดีฟอกเงินนั้นยังไม่มีคำพิพากษาหรือยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาก็ตาม แต่หากผู้คัดค้านไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินได้ ในคดีฟอกเงินศาลสามารถมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ โดยยังไม่ต้องรอฟังผลในคดีอาญาแต่อย่างใด
ในมุมกลับกันหากในกรณีที่ คำพิพากษาในคดีอาญาได้มีคำพิพากษาแล้วหรือแม้กระทั่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่หากผู้คัดค้านในคดีฟอกเงินสามารถชี้แจงได้ชัดเจนว่าทรัพย์สินที่ตนเองมีอยู่หรือถูกยึดหรืออายัดทรัพย์นั้นมาจากอาชีพโดยสุจริตของตน ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐานหรือเกี่ยวกับการครอบครองออกโฉนดโดยไม่ชอบ รวมถึงการซื้อขายที่ดินที่เกิดจากการออกโฉนดโดยมิชอบ ศาลอาจมีคำพิพากษาไม่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องก็ได้
อย่างไรก็ตามความยุ่งยากในการชี้แจงทั้งคดีอาญารวมถึงคดีฟอกเงินนั้น ค่อนข้างจะมีความซับซ้อนและมีรายละเอียดมากทั้งข้อกฎหมายและในทางเอกสาร ซึ่งอาจจะเป็นภาระและข้อควรระวังที่ผู้ทำการซื้อที่ดินควรจะต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบอย่างสูงในการซื้อที่ดินประเภทที่เป็นโฉนดที่ดินจากพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงหรือสงสัยว่าอาจจะเป็นการบุกรุกแผ้วถางป่า รวมทั้งมีความสุ่มเสี่ยงในการที่จะต้องถูก เพิกถอนโฉนดและทำให้ศูนย์เงินในการซื้อขายที่ดินดังกล่าวได้