พระราชบัญญัติการสาธารณสุข เป็นกฎหมายที่คุ้มครองด้านสุขลักษณะและการอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือ การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมซึ่งครอบคลุมทั้งกิจกรรม การกระทำทุกอย่าง และกิจการประเภทต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ตั้งแต่ระดับชุมชน ตลอดจนกิจการขนาดใหญ่โดยให้อำนาจแก่ราชการส่วนท้องถิ่น ในการออกข้อกำหนดท้องถิ่นใช้บังคับในเขตท้องถิ่นนั้นๆ และให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการควบคุมดูแล โดยการออกคำสั่งให้ปรับปรุง แก้ไขการอนุญาต หรือไม่อนุญาต การสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต รวมทั้งการเปรียบเทียบคดีและยังกำหนดให้มี “เจ้าพนักงานสาธารณสุข” เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการตรวจตรา ให้คำแนะนำ ปรับปรุงแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น ในการวินิจฉัย สั่งการ หรือออกคำสั่ง รวมทั้งผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อให้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 มีบทบัญญัติ หรือข้อกำหนดที่ใช้ในการควบคุมมลพิษทางอากาศ ได้แก่ บทบัญญัติ ในหมวด 1 เรื่อง บททั่วไป มาตรา 6-8 หมวด 5 เรื่อง เหตุรำคาญ มาตรา 25-28 และหมวด 7 เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาตรา 31-33 หมวด 8 เรื่อง ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร และสถานที่สะสมอาหาร
โดยในหมวด 5 เกี่ยวกับเหตุรำคาญ มีมาตราสำคัญคือมาตรา 25 เป็นมาตราที่กำหนดรายละเอียดสาเหตุของเหตุเดือดร้อนรำคาญโดยมีหลักสำคัญคือ 5 แหล่งที่มา กล่าวคือ ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ
(1) แหล่งน้ำ ทางระบายน้ำ ที่อาบน้ำหรือที่ใส่มูลหรือเถ้า หรือสถานที่อื่นใดซึ่งอยู่ในทำเลที่ไม่เหมาะสม สกปรก มีการสะสมหรือหมักหมมสิ่งของที่มีการเททิ้งสิ่งใดเป็นเหตุให้มีกลิ่นเหม็นหรือละอองสารเป็นพิษ หรือเป็นหรือน่าจะเป็นที่เพาะพันธุ์พาหะนำโรค หรือก่อให้เกิดความเสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
(2) การเลี้ยงสัตว์ในที่หรือโดยวิธีใด หรือมีจำนวนเกินสมควรจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
(3) อาคารอันเป็นที่อยู่ของคนหรือสัตว์โรงงานหรือสถานที่ประกอบการใดไม่มีการระบายอากาศ การระบายน้ำ การกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือการควบคุมสารเป็นพิษหรือมีแต่ไม่มีการควบคุมให้ปราศจากกลิ่นเหม็นหรือละอองสารเป็นพิษอย่างพอเพียงจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
(4) การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า หรือกรณีอื่นใดจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
(5) เหตุอื่นใดหรือรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
โดยในมาตรา 25 กำหนด แบ่งประเภทเป็น 5 ประเภทหลักคือ 1.เหตุเดือดร้อนรำคาญทั่วไป 2.เหตุเดือดร้อนรำคาญที่มาจากการเลี้ยงสัตว์ 3.เหตุเดือดร้อนรำคาญที่มาจากอาคาร 4.เหตุเดือดร้อนรำคาญที่มาจากกิจกรรมต่างๆ 5.เหตุเดือดร้อนรำคาญที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งพบอยู่ 2 ฉบับสำคัญ คือ ฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2545 เกี่ยวกับเรื่องยุงลาย ส่วนอีกฉบับตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 14 มิถุนายน 2565 เกี่ยวกับเรื่องควันกัญชา กัญชง
โดยในมาตรการกฎหมายดังกล่าวนั้นได้กำหนดให้ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจควบคุมจัดการ ระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ รวมทั้งยังมีประเด็นนำไปสู่การกำหนดโทษซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 1 ปี นอกจากนี้ในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งเกี่ยวกับเดือดร้อนรำคาญรายละเอียดและข้อเท็จจริงตามเกี่ยวกับการสอบสวน เตือน ปรับ รวมถึงสั่งคำสั่งใดๆ ของเจ้าหน้าที่และสำนวนข้อเท็จจริงต่างๆที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำไปตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุขนั้นถือเป็นข้อเท็จจริงสำคัญ ในคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้ก่อความเดือดร้อนรำคาญอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี