เมื่อยิ่งแกะข้อมูลจาก SFO Serious Fraud Office หรือหน่วยงานปราบโกงขั้นรุนแรงของอังกฤษก็ยิ่งพบว่า มีข้อมูลมากมายเชื่อมโยงกันกับการจัดหาซื้อเครื่องบินในช่วงที่มีการรับสินบนนั้นต่อเนื่องกัน
โรลส์-รอยซ์ ผู้จ่ายสินบนโดนศาลต่างประเทศปรับเป็นเงินหลักหลายหมื่นล้านไปเรียบร้อยแล้วแต่ผลของการกระทำที่ทิ้งเอาไว้ให้อีก 7 ประเทศที่มีบริษัทรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบนนี้ยังไม่จบ ในรายงานของ SFO ระบุว่า กรณีของไทยเองนั้น จาก 3 สัญญาที่โรลส์-รอยซ์ได้จ่ายสินบนเอาไว้จำนวนรวม 1,300 ล้านบาท สามารถก่อให้เกิดการขายเครื่องยนต์ที่ฟันกำไรไปกว่า 7,000 ล้านบาท แล้วรัฐเสียอะไร ก็เสียโอกาสที่จะได้เลือกคู่ค้าที่โปร่งใส คุณภาพอาจดีกว่า ราคาอาจถูกกว่า ยังไงล่ะครับ แต่กลับมาต้องชะงักงันกับเจ้านี้ เพราะมีคนในไปวิ่งเต้นฮั้วเซ็นสัญญาค้าขายกันไว้
นอกจากประเด็นนี้สืบเนื่องมาถึงการซื้อเครื่องบินเป็นลำๆ กันต่อเนื่องได้เลย ในครม.ของรัฐบาลไทยรักไทยในสมัยเดียวกับที่มีการฮั้วสินบนในปี 2547-2548 นั้นมีการอนุมัติจัดซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ที่การบินไทยไม่เคยมีมาก่อนนั่นคือ A340-500 จำนวน 4 ลำ ตอนนี้เหลือเป็นซากอยู่ 3 ลำ อีกลำนึงต้องกราบขอบคุณกองทัพอากาศ ที่ช่วยมาซื้อเอาไว้ใช้งาน แต่เมื่อย้อนเวลากลับไป เครื่องบิน 4 ลำนี้ แงะเป็นตัวเลขขาดทุน 3 ปีสูงถึง 7,000 ล้านบาท จนกระทั่งบอร์ดต้องมายกเลิกภายหลังในปี 2551 หลังเครื่องบินได้รับการอนุมัติซื้อมาในปี 2548 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เส้นทางที่ว่านี้ก็คือ กรุงเทพฯ - นิวยอร์ก แบบบินตรง
เชื่อได้เลยครับว่า ปกติเวลาซื้อเครื่องบินอะไรแบบนี้ จะต้องมีการคำนวณจุดคุ้มทุนเอาไว้ล่างหน้าอยู่แล้ว เช่น ต้องบินกี่ไฟลท์ กี่วัน อย่างไร ผู้โดยสารต้องเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ถึงจะมีจุดคุ้มทุนต่อเที่ยว คำตอบที่ได้ภายหลังคือประมาณ 120% ของผู้โดยสารจึงจะคุ้มทุน นั่นแปลว่า ไม่มีทางกำไร เพราะต่อให้เต็มทุกไฟลท์ ก็ยังขาดทุนเลย !!! จะไปฝันให้ผู้โดยสารขี่คอกันบินก็คงเป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้ แต่คณะรัฐมนตรีไทยรักไทยและบอร์ดการบินไทย ดีดีการบินไทยที่แต่งตั้งโดยฝั่งการเมืองไทยรักไทย ก็ยังดันทุรังจัดซื้อเครื่องแบบนี้เข้ามาบินต่อ
นอกจากรุ่นนี้ก็ยังมี A340-600 อีกจำนวน 6 ลำ ที่จัดซื้อรวมในรัฐบาลทักษิณตั้งแต่ปี 2546 และรายงานจากการบินไทยเองก็มีระบุเอาไว้ว่า เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ที่ผ่านการรับจ่ายสินบนนั้นก็อยู่ในเครื่องบินพวกที่เป็นเครื่องบินบินเต็มก็ยังเจ๊งพวกนี้นี่แหละครับ
สรุปได้แบบนี้ก็ไม่ผิดนักว่า แผนที่ผิดพลาดแบบนี้ ฝ่ายบริหารที่มีข้อมูลรู้อยู่เต็มอก แต่ว่าความผิดพลาดที่ยังคงเกิดขึ้นก็เพราะ “ใบสั่งการเมือง” ที่มีคนระดับ รัฐมนตรีช่วย ว. กับรัฐมนตรีช่วย พ.เกี่ยวข้องกับดินเนอร์โกงกินสิ้นชาติ โดยมีเนื้อหาหนึ่งในกรุงเทพธุรกิจที่กล่าวไว้ว่า นายหน้าคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจเอาไว้ว่า นายว. กับนายพ. นี้เองจะต้องเอาเงิน
สินบนไปให้กับนายใหญ่ที่เป็นผู้หญิง เพื่อให้ตำแหน่งของตัวเองไม่หลุด!
ก็ชัดเจนยิ่งขึ้นตรงนี้แหละครับว่า อะไรต่อมิอะไรนั้น คืออะไร !!
รายงานของการบินไทยระบุว่า การซื้อฝูงบินนี้โดยรัฐบาลไทยรักไทยนั้นตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2548 ถึง 1 กรกฎาคม 2551 รวม 3 ปีที่มีการบินตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์กนั้น ขาดทุนรวม 7,000 ล้านบาท ชาติเสียหายแต่คนรับสินบนสบาย เอาไปซื้อพรรคการเมือง เอาไปต่อยอดทุนทางการเมืองได้อีกบานเลย สุดท้ายก็ต้องมีมติยกเลิกเส้นทางดังกล่าวและ ประกาศขายซากเครื่องบินรุ่นนี้ออกไป แต่ก็ยังขายไม่ได้ จอดทิ้งไว้ที่อู่ตะเภา ตอนนี้มีหลายประเทศสนใจซื้อเครื่องบินซากที่เหลือเหล่านี้เข้ามาแต่ก็ยังไม่คุ้มค่าทางการเงิน จนสุดท้ายอาจถึงกับต้องมีการขายแบบกำขี้ดีกว่ากำตด ไม่งั้นก็จะสูญไปเรื่อยๆ ไม่ต่างจากข้าวเน่า โมเดลเดียวกันกับรัฐบาลเพื่อไทยเชื้อร้ายทางสายพันธุ์ของรัฐบาลไทยรักไทย
เมื่อรวมยอดผลรวมความเสียหายจากการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลไทยรักไทยต่อเฉพาะประเด็นนี้นับว่า ได้สร้างความฉิบหายให้ชาติรวมแล้วเป็นเงิน 14,000 ล้านบาทจากผลขาดทุนการบิน แล้วขาดทุนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และมูลค่าการด้อยค่าของสินทรัพย์ตัวเครื่องบินที่จอดซากอยู่ที่อู่ตะเภา
นี่เฉพาะเรื่องเดียวยังขนาดนี้นะครับ ไม่ได้นับย้อนไปรวมมูลค่าตัวเลขจากคดีความต่างๆ ที่รัฐบาลไทยรักไทยได้กระทำเอาไว้ต่อประเทศไทย
ส่วนเรื่องการจับคนผิดมาลงโทษล่าสุด มีเสียงเรียกร้องจากหลายหน่วยงาน แน่นอนกฎหมายเดิมมีอยู่แล้วแต่มัวแต่เงื้อง่าราคาแพงเมื่อไหร่คนชั่วจะเลิกตายใจ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคุณกรณ์ จาติกวณิช กล่าวไว้ว่า..การแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นถือเป็นวาระสำคัญของชาติต้องเร่งดำเนินการ ขึ้นอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะเอาจริงแค่ไหนในการเอาผิดให้ได้ เพราะการแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้เป็นประเด็นเทคนิค
คุณกรณ์ บอกว่า “การเอาผิดได้จริงคือ เรื่องที่ต้องทำให้เห็นผลย้อนกลับไป 3-5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีกรณีทุจริตเกิดขึ้นแต่ไม่เคยมีกรณีไหนที่เอาผิดได้เลย เราก็ยังอยู่ในสังคมที่หล่อเลี้ยงด้วยระบบคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด รูปแบบหนึ่งทุกระดับ”
การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องใหญ่ที่ คสช.สามารถผลักดันผ่านกระบวนการแก้กฎหมายตามปกติ โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 แต่หากจะใช้มาตรา 44 จะเหมาะสมต่อการนำไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของกฎหมายเพื่อแก้ไขในระยะยาวได้ อย่างไรก็ยังเห็นความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ท่านปฏิเสธกระทรวงคมนาคมไม่ให้รับรถเมล์เอ็นจีวี เพราะรู้ว่าเป็นของร้อน ถือเป็นสัญญาณที่ดีเรื่องหนึ่งในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น
นายกรัฐมนตรีเอาจริงกับปัญหาคอร์รัปชั่นแต่คนอื่นๆ รอบตัวของนายกฯ เอาจริงเอาจังกับเรื่องการแก้ปัญหานี้ด้วยมากน้อยแค่ไหน
คุณกรณ์กล่าวสรุปเอาไว้ว่า หากรัฐบาลเอาจริงให้เห็นผล ลงโทษเอาผิดคนทุจริตคอร์รัปชั่น มองว่ากฎหมายมีอยู่ก็เพียงพอหรือไม่ ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นผล แต่เห็นแค่ความตั้งใจ คงต้องกลับมาดูว่า คอร์รัปชั่นนั้นเกิดขึ้นจากจุดไหนบ้าง ลองตั้งคำถามดูว่า “พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง” ทำไมถึงมีการยกเว้นให้กับรัฐวิสาหกิจและการแก้กฎหมายใหม่นั้น ครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ เอาผิดคนคอร์รัปชั่นได้จริงหรือยัง !?
เราคงได้แต่เอาใจช่วยท่านนายกรัฐมนตรีต่อไปครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี