น่าเป็นห่วงว่าพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ ดูจะต้องเหนื่อยพอสมควร ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลังเหล่าบรรดาพรรคจิ๋วที่ร่วมรัฐบาล ออกท่าทีไม่พอใจ ให้สังคมได้เห็น แม้เรื่องดังกล่าวจะจบไปแล้ว ด้วยบทสรุปที่ว่าเหล่าพรรคจิ๋วจะยังให้การสนับสนุนรัฐบาลต่อไป ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่ ซึ่งจะใช่สาเหตุการสื่อสารคลาดเคลื่อนอย่างที่ว่าหรือไม่? ก็ต้องติดตามต่อไป แต่ถ้านับนิ้วดูแล้ว ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เหล่าบรรดาพรรคจิ๋วแสดงท่าทีเอาใจออกห่างจากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเสียงจากบรรดาพรรคร่วมหายไปจริง ก็ย่อมมีผลไม่น้อยกับเกมในสภาฯ หลังจากนี้
แต่หากลองมองในมุมของนักวิเคราะห์บางฝ่ายแล้วที่ได้ออกมาวิจารณ์ในทำนองว่าการที่พรรคจิ๋วเหล่านี้ตีตัวออกห่างรัฐบาล เป็นเพราะผลประโยชน์ 2 ข้อ อย่างที่หลายฝ่ายมองไว้หรือไม่? คือ
1.เพื่อต่อรองให้ตัวเองได้ตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ?
2.เพื่อผันตัวเองไปเป็นพรรคฟรีแลนซ์ ยกมือสนับสนุนรัฐบาลเป็นเรื่องๆ ไป?
ซึ่งปัญหาดังกล่าวหากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่สามารถจัดการอย่างเด็ดขาด ก็คงเจอกับปัญหาการแยกตัวของพรรคจิ๋วที่มีจะมาเรื่อยๆ หลังจากนี้
แต่ดูเหมือนว่าจังหวะการเข้าออกของพรรคร่วมเหล่านี้ก็ดูจะรับมุขกับการที่ พล.อ.ประวิตร ขึ้นมานั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เพื่อปรับหางเสือของเหล่า สส. และยึดพื้นที่ทางการเมืองในพรรคด้วยตัวเองใช่หรือไม่? ซึ่งก็น่าติดตามต่อไปว่ารัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐจะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นหรือไม่? เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวเรือ ได้คนคุ้นเคยอย่าง พล.อ.ประวิตร มากุมหางเสือพรรคร่วมด้วยตัวเอง?
ส่วนการที่ ผบ.ทบ. อย่าง พล.อ.อภิรัชต์ เริ่มออกมาขยับ และเผยตัวมากขึ้น? ทั้งส่วนของการดำเนินการด้านความมั่นคง และการออกมาให้ความเห็นในมิติทางการเมืองที่กำลังเป็นจุดสนใจของประชาชนในขณะนี้ น่าสนใจว่าดูจะขัดแย้งกับสิ่งที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์แต่เดิมว่าเมื่อหมดยุคของรัฐบาล คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กลายร่างเป็นฝ่ายการเมืองไปแล้ว บทบาททางการเมืองของเหล่าทหารน่าจะค่อยๆ จางหายไป ทว่าภาพการเมืองในขณะนี้กลับแสดงให้เห็นว่าการเมืองในปัจจุบันนั้นทหารกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองที่เป็นระบบมากขึ้นหรือไม่? และดูจะมีการทำงานอย่างเข้าขาและเป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองเก่าและการเมืองใหม่มากขึ้นใช่หรือไม่?
แม้หลายฝ่ายจะเป็นห่วงว่าการที่ พล.อ.อภิรัชต์ออกมาแสดงทัศนะทางการเมืองมากเกินไป จนถูกมองว่าเป็นการล้ำเส้นนั้น? หากมองความเป็นจริงแล้ว ในเวลาที่ พล.อ.อภิรัชต์ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อนั้น เนื้อหาโดยส่วนใหญ่มักจะไม่พุ่งเป้า และไม่ซับซ้อนมากนัก เพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้โดยง่าย แต่ด้วยประเด็นการนำเสนอของสื่อ และเนื้อหาที่พูดถึงนั้นมักเป็นประเด็นร้อน จึงอาจจะทำให้เกิดแรงโต้กลับจากกลุ่มของผู้ที่เสียประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าวใช่หรือไม่?
ในขณะที่การจัดการเฟคนิวส์ หรือข่าวปลอมนั้น ศูนย์เฟคนิวส์เซ็นเตอร์ของรัฐมนตรี นายพุทธิพงษ์ ก็มีแนวโน้มในการทำงานที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรณีของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่โดนโจมตีด้วยการตัดต่อคำพูดเกี่ยวกับเศรษฐกิจ แต่ก็ถูกศูนย์เฟคนิวส์โต้กลับในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งก็คงเป็นงานหนักของกระทรวงดีอีหลังจากนี้ ในการสร้างฐานความรู้ให้ทันสมัย และเท่าทันสื่อแก่ประชาชน ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อได้โดยง่ายและรวดเร็ว
แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอีเอง ก็ถือว่ามีเครื่องมือดีให้ใช้งาน อย่างมาตรการทางกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ ที่แม้ตอนแรกจะมีเสียงคัดค้านอยู่บ้าง แต่ถึงตอนนี้ก็คงได้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพมากพอ และช่วยเหลือด้านการจัดการเฟคนิวส์ได้ และยังคาดว่า พ.ร.บ. ดังกล่าว จะครอบคลุมปัญหาต่างๆ และให้อำนาจในการจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งก็ต้องติดตามดูกันต่อไป ที่สำคัญจะนำมาซึ่งบทบาท การนำกระแสทางการเมืองในโซเชียลมากขึ้นของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่? ตลอดจนถึงทำให้บางพรรคมีคดีจากกรณีเฟคนิวส์ จนส่งผลต่ออนาคตพรรคนั้นๆ งานนี้หากทำสำเร็จ อาจทำให้ชื่อชั้นของนายพุทธิพงษ์ ในพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาทันที
ความมีตัวตนของพรรคการเมืองใหม่ 2 พรรค อย่างพรรคอนาคตใหม่ และพลังประชารัฐ แม้จะเป็นพรรคใหม่แม้ถูกวิจารณ์ว่ายังมีพฤติกรรมบางอย่างที่ยังคงวนเวียนไม่ต่างจากพรรคการเมืองเดิมๆ แต่ด้วยความสดใหม่ของบุคลากร ประกอบกับความกล้าเล่น กล้าเดินเกมใหม่ๆทั้งในสภาฯ และในการบริหารประเทศ ของทั้งพรรคอนาคตใหม่และพลังประชารัฐ ก็กำลังสร้างความจดจำ ให้กับประชาชนมากขึ้นทุกวัน และอาจกลายเป็นการสร้างตัวตน แทนที่พรรคการเมืองเดิมในอีกไม่กี่ปีนี้
นับตั้งแต่ผ่านพ้นการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ได้นั้น ก็ถือเป็นการเปิดหน้าสู่บริบทการเมืองไทยยุคใหม่อย่างเต็มตัว แม้ความคิดของประชาชนจะยังแบ่งเป็นสองฝ่ายเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้กลับต่างออกไป กลับกลายเป็นพรรคพลังประชารัฐกับอนาคตใหม่ ที่เป็นตัวแทนอุดมการณ์ของประชาชน ที่ประชาชนไม่ได้ให้ความสนใจพรรคประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยอีกต่อไปแล้ว สังเกตได้จากการพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะมีการพูดถึงนายชวนเท่านั้น หากในวันนี้ไม่มีนายชวน ที่มาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ พรรคประชาธิปัตย์ก็คงเงียบหายไปจากหมู่ประชาชนแล้ว
ส่วนพรรคเพื่อไทย ขนาดมีข่าวการขยับตัวของนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ไม่อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนได้เท่ากับการขยับตัวของนายธนาธรและนายปิยบุตร ซึ่งด้วยภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปนี้เอง ทำให้การต่อสู้ต่อแต่นี้ไป จะกลายเป็นการต่อสู้ของอุดมการณ์เต็มรูปแบบ โดยมีพรรคอนาคตใหม่และพลังประชารัฐเป็นหลัก อย่างที่เห็นได้ คือการเมืองในสภาฯ ที่ตอนนี้พรรคที่มีบทบาทมากคือพรรคอนาคตใหม่ อย่างวานนี้ที่เป็นตัวแทนประชาชนเคลื่อนไหวเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ด้วยการตั้งกระทู้ถามเรื่องการคัดค้านโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการที่เชิงดอยสุเทพ (ป่าแหว่ง) จ.เชียงใหม่ซึ่งผู้ที่ตอบโต้กลับ ก็เป็นเพียงสส.จากพรรคพลังประชารัฐ และประธานสภาฯ เท่านั้น ไม่มีผู้ใดอื่นเลย
ในขณะที่การดำเนินนโยบายครม.ประยุทธ์ 2 ในโควตาเก้าอี้พลังประชารัฐ ก็ดูจะไม่ธรรมดาอย่างที่คิด ตั้งแต่การเตรียมแปลงนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ มาสู่นโยบายรัฐบาล ที่แม้จะเป็นกระทรวงที่พรรคพลังประชารัฐไม่ได้กำกับก็ตาม ก้าวย่างเช่นนี้น่าสนใจเป็นอย่างมากว่า พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย จะยอมทำตามหรือจะขวาง เพราะหลายนโยบายหากขวาง อาจจะทำให้เกิดความขุ่นเคืองในใจประชาชนมากกว่าก็เป็นได้ ในขณะเดียวกันการที่พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทยพยายามจะผลักดันนโยบายของพรรคตัวเอง แต่กลับถูกกลืนไปกับชุดนโยบายพลัง
ประชารัฐ จนถึงตอนนี้ก็ตาม
และล่าสุด ดร.สมคิด ยังคงรักษาชั้นเชิงทางการเมือง ด้วยการเตรียมออกแพ็กเกจเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของครม.ประยุทธ์ 2/1 ที่จะออกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกร ประชาชนฐานราก ประชาชนทั่วไป คนทำงาน สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี รวมถึงแพ็กเกจงบประมาณปี’63 ที่จะเริ่มใช้ปลายปีนี้ ด้วยทั้งนโยบายใหม่ในการบริหารประเทศของพรรคพลังประชารัฐ และทั้งแนวทางการต่อสู้ฝ่ายค้านรูปแบบใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ ก็ยิ่งตอกย้ำความเป็น 2 พรรคหลักที่หลังจากนี้จะเป็นแกนสำคัญ ในการขับเคลื่อนและเดินหน้าการเมืองไทยต่อไปหรือไม่?
“ดื่มสุราพึงเมามาย วาจาหลังเมามาย เป็นวาจาจากใจจริง”
โกวเล้ง จากเรื่องมังกรเมรัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี