สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” ขอนำเรื่องราวจากการเสวนา(ออนไลน์) เรื่อง “COVID-19 : การเข้าถึงบริการทางสังคมและสุขภาพของผู้สูงอายุ” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS มานำเสนอกับท่านผู้อ่าน เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้สูงอายุถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในหลากหลายมิติ
ณปภัช สัจนวกุล นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำโครงการวิจัย “การสำรวจผลกระทบของการ Lockdown ต่อผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งทั้งประเทศ มีอยู่ 4.9 ล้านคน โดยในกลุ่มนี้ร้อยละ 60 อาศัยอยู่กับบุตรหลาน ร้อยละ 13 อาศัยอยู่ลำพังคนเดียว และอีกร้อยละ 15 อยู่กับผู้สูงอายุด้วยกัน ทั้งนี้ในจำนวนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ร้อยละ 40 ยังต้องทำงานบางรายต้องดูแลบุคคลอื่นด้วย
เมื่อมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 80 ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะด้านสุขภาพ และความวิตกกังวล ความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ จึงเสนอให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจนี้จะเกิดในระยะยาว ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวนั้นเห็นว่ารัฐบาลมีระบบการพัฒนากำลังคนในรูปแบบของอาสาสมัครที่เป็นเครื่องมือของรัฐ ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงบริการและข้อมูลข่าวสารเป็นไปได้มากขึ้น แต่ยังเป็นห่วงเรื่องความต่อเนื่องและความเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน
“แม้โควิด-19 จะแพร่ระบาดไปทั่วโลก แต่ในประเทศไทยกลับสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่สะสมมานาน โดยเฉพาะการเข้าไม่ถึงการให้บริการของภาครัฐของผู้มีรายได้น้อย แม้รัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือด้วยมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็ตาม แต่หากยังไม่สามารถแก้ที่ต้นเหตุได้ รัฐก็ต้องมีมาตรการเยียวยาต่อไปเรื่อยๆ จึงเห็นว่าการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การยับยั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการฉีดวัคซีนจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วยิ่งขึ้น” ณปภัช กล่าว
ขณะที่ ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านผู้สูงอายุ ให้ความเห็นว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้สูงอายุมีความกังวล จึงควรมีสายด่วนสำหรับผู้สูงอายุ หรือควรทำคู่มือสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ส่วนผลกระทบต่อการดำรงชีพนั้นแม้จะมีหลายภาคส่วนนำสิ่งของอุปโภค-บริโภคเข้าไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงเพราะขาดการจัดการ ส่วนด้านอาชีพและรายได้ของผู้สูงอายุ เห็นว่าหลังจากนี้ควรต้องปรับรูปแบบนอกจากจะแจกสิ่งของอุปโภค-บริโภคแล้ว ก็ควรให้ความรู้การปรับเปลี่ยนตัวเองต่ออาชีพใหม่ๆ ด้วย
ด้าน สว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ จ.เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเชื่อข้อมูลจากคนใกล้ตัว ทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลลดลง จึงควรให้แต่ละชุมชนมีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อเป็นเกราะป้องกันให้กับผู้สูงอายุเพราะอาสาสมัครเป็นคนในชุมชนสามารถดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง รวมทั้งนำสิ่งของอุปโภค-บริโภคต่างๆไปช่วยเหลือได้
จากด้านสังคมสู่ด้านสุขภาพ ดร.ภญ.พัทธรา ลีฬหวรงค์ นักวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงแรกของการระบาด การให้บริการในโรงพยาบาลลดลง และลดลงอย่างมากในช่วงที่มีการล็อกดาวน์โดยกลับมาปกติในช่วงที่มีการผ่อนปรน สาเหตุที่กระทบต่อการมาโรงพยาบาลของผู้ป่วยคือมาตรการของภาครัฐ ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีบริการเสริมต่างๆ ทั้งระบบแพทย์ทางไกล การส่งยาทางไปรษณีย์
รวมทั้งการให้ผู้ป่วยรับยาที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยผู้ป่วยที่ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้จึงควรนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยที่ต้องหาหมอหรือรับยาต่อเนื่อง และควรให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ป่วยระยะกลางก่อนที่จะเป็นผู้ป่วยติดเตียง อย่างไรก็ตาม เห็นว่าทุกคนควรได้เรียนรู้จากวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งการได้เห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนถือเป็นบทเรียนที่ดีภายใต้ภาวะวิกฤตินี้
ปิดท้ายด้วย ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความกังวลถึงอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19ว่า “ทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีน ยกเว้นผู้ที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่คาดว่าจะเสียชีวิตภายใน 6 เดือน”ส่วนผู้ที่เคยได้รับเชื้อโควิด-19 ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
และขอย้ำว่า “อย่ากลัวการฉีดวัคซีน ให้กลัวการเสียชีวิตจากโควิด-19 ดีกว่า” รวมถึงผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงก็ควรได้รับวัคซีนเช่นกัน อีกทั้งยังเห็นว่า “การฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นไม่ใช่การฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ แต่เป็นการฉีดเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ รวมทั้งลดความรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อ” อย่างไรก็ตาม เห็นว่าผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ น่าเป็นห่วงมากกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ต่างจังหวัดเนื่องจากต่างจังหวัดมีระบบบริการสาธารณสุข โดยอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ให้การดูแลอย่างทั่วถึง
“ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่เป็นบ้านเดี่ยว บ้านจัดสรร และอาคารพาณิชย์ ที่ไม่มีบุตรหลานดูแล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็เตรียมให้มีการส่งวัคซีนไปฉีดที่บ้านแล้ว โดยผู้ที่เข้าไปฉีดตามบ้านจะต้องมีความรู้หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ต้องสามารถให้การช่วยเหลือได้ทันทีส่วนการดูแลผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังนั้น เห็นว่าควรต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ป่วยและญาติ ให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองและรู้ว่าแพทย์คาดหวังอะไรจากผู้ป่วยซึ่งจะช่วยให้การบริการด้านสาธารณสุขดียิ่งขึ้น” ผศ.พญ.สิรินทร กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี