...ชื่อมหาวิทยาลัยของท่าน คือ จุฬาลงกรณ์ จะติดตัวท่านไปด้วยเสมอ ไม่ว่าจะประพฤติดีหรือประพฤติชั่วฉะนั้น ทุกๆ ครั้งที่ท่านจะทำ กระทำการสิ่งใดลงไปจงคิดแล้วคิดอีก ทบทวนดูทั้งทางได้ทางเสียให้แน่ชัดเสียก่อน... (ความตอนหนึ่งจากพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459
วันนี้ เป็นโอกาสคล้ายวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีความยินดีปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักของคนในประชาคมจุฬาฯ ดำรงสืบต่อมาจนมีอายุเกินหนึ่งศตวรรษ และจะดำรงคงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน เท่าที่ชาวประชาคมจุฬาฯ จะทำนุบำรุง ส่งเสริมและรักษาสถาบันการศึกษาสง่าพระนามแห่งนี้ไว้
โดยประวัติความเป็นมาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานไชยศรี เมื่อ พ.ศ. 2442 ครั้นต่อมา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรเข้ารับราชการ อันเนื่องจากมีการขยายตัวของระบบราชการอย่างรวดเร็ว หลังจากมีพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2425
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลที่ทรงต้องการให้ประเทศชาติของเรามีสถาบันอุดมศึกษา ผลิตบุคลากรเพื่อทำงานในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคราชการและเอกชน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงจัดให้มีมหาวิทยาลัยสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2453 อันเนื่องจากทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชเจ้าที่จะให้ชาวสยามมีสถาบันอุดมศึกษา
ในกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรออกไปรับใช้สังคมในสาขาวิชาต่างๆ ได้ครอบคลุมมากขึ้น มิใช่เฉพาะผู้ที่ต้องการร่ำเรียนไปเพื่อรับใช้ราชการเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการแสวงหาความรู้ด้านวิชาการได้สามารถศึกษาเพิ่มเติมให้อย่างลึกซึ้งและแตกฉานยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 โดยในช่วงแรกนั้นมีคณะต่างๆ สี่คณะคือ รัฐประศาสนศาสตร์ แพทยศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
สำหรับวิชาต่างๆ ที่เปิดสอนในครั้งแรก แบ่งได้ 8 แผนกวิชา ได้แก่ การปกครอง การทูต กฎหมาย การคลังการแพทย์ การช่าง การเกษตร และวิชาครู
บัดนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอายุ 106 ปี แต่หากจะนับสืบเนื่องลงไปจึงถึงโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ก็จะมีอายุ 124 ปี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ที่ได้รับพระราชทานกำเนิดโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นตราประจำมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงเป็นพระเกี้ยว
พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคารพเทิดทูน เพราะสำนึกเสมอมาว่าชื่อของมหาวิทยาลัยคือพระนามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อให้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชเจ้า ผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลในพระองค์ ครั้นเมื่อก่อตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายที่หน้าหมวกของนักเรียน และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน จนกระทั่งเมื่อสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลทรงทราบ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้พระเกี้ยวเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย
พระเกี้ยวจึงเป็นตราประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ได้ตราบมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับพระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ ณ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ คือพระเกี้ยวองค์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อจัดสร้างพระเกี้ยวจำลองจากพระเกี้ยวองค์จริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง
สำหรับพระเกี้ยวองค์จำลองนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2531
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันนี้มีอายุกว่าศตวรรษแล้ว พระนามจุฬาลงกรณ์ยังคงตราตรึงอยู่ในมโนสำนึกของประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตลอดมา และตลอดไป
ตราพระเกี้ยวจะยังยั้งยืนยงไปตราบนานเท่านาน จนกว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะยุติสถานภาพของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย
ส่วนบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังคงยึดมั่นในคำที่ว่า เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน
สำหรับพิธีการสำคัญในวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีดังนี้
เวลา 07.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสดุาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงถวายบังคม และเสด็จไปทรงบาตร ณ บริเวณหน้าเสาธงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เวลา 09.00 น. เสด็จ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทอดพระเนตรการแสดงของวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จากนั้นจะทรงดนตรีไทยร่วมกับวงสายใยจามจุรี และวงดนตรีสากลสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในโอกาสแห่งวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 106 ปี ในปีนี้ ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคนต่างปลื้มปีติที่สถาบันอุดมศึกษาสง่าพระนามจุฬาลงกรณ์ได้ทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านศิลปวิทยาการในสาขาต่างๆ มาโดยตลอด
ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคณะวิชาต่างๆ19 คณะ วิทยาลัย 3 แห่ง บัณฑิตวิทยาลัย 1 แห่ง สถาบัน 14 แห่ง และสถาบันสมทบ 2 แห่ง ปัจจุบันมีนิสิตทุกระดับการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประมาณ 38,000 คน
น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา
พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์
ขอทูนขอเทิดพระนามไท พระคุณแนบไว้นิรันดร
ขอองค์พระเอื้ออาทร หลั่งพรคุ้มครอง
นิสิตพร้อมหน้า สัญญาประคอง
ความดีทุกอย่างต่างปอง ผยองพระเกียรติเกริกไกร
ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง นิสิตประสงค์เป็นธงชัย
ถาวรยศอยู่คู่ไทย เชิดชัย ชโย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี