หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ขับไล่อังกฤษเจ้าอาณานิคม กลับไปอยู่ที่เกาะอังกฤษทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกาก็ทำการประกาศอิสรภาพเมื่อปี ค.ศ. 1776 (พ.ศ. 2319) ส่วนรัฐสยามภายใต้การนำพาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ได้ขับไล่กองทัพพม่าผู้รุกรานออกไปจากพื้นแผ่นดินลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และตั้งราชอาณาจักรกรุงธนบุรีเป็นราชธานีเมื่อปี พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770)
อีกประมาณ 60 ปีต่อมา สหรัฐอเมริกาและสยามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในฐานะประเทศที่มีความเป็นเอกราช มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง ที่มีความทัดเทียมกัน ได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ หรือเรียกว่า สนธิสัญญาโรเบิร์ต เมื่อปี ค.ศ. 1833 (พ.ศ. 2376)
มาบัดนี้ความสัมพันธ์ทางการทูตได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 192 ปีโดยรวมจัดได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยมิตรจิตมิตรใจ มีการร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ ท่ามกลางทัศนคติและมุมมองต่อความเป็นไปในโลกกว้างที่คล้ายคลึงกัน
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะได้เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิการล่าอาณานิคม เช่น การเข้าไปครอบครองหมู่เกาะฮาวาย และหมู่เกาะฟิลิปปินส์ โดยการขับไล่เจ้าอาณานิคมสเปนออกไป แต่สหรัฐฯ ก็มิได้มาคุกคามประเทศไทย
ไทย และสหรัฐอเมริกาต่างเข้ากับฝ่ายพันธมิตรในการต่อสู้กับฝ่ายเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และถึงแม้ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยจำต้องยินยอมให้ฝ่ายญี่ปุ่นกรีธาทัพเข้าสู่ดินแดนไทย เพื่อมาตั้งมั่นพร้อมกับการเคลื่อนทัพเข้าสู่พม่า ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หรือจะคุกคามมลายูที่อยู่ ในอาณัติของอังกฤษก็ตาม ในขณะนั้น สหรัฐฯ ก็ได้
ให้การสนับสนุนขบวนการเสรีไทยที่ต่อต้านการครอบงำ ประเทศไทยของฝ่ายญี่ปุ่น และเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายสหรัฐฯ ก็มิได้กำหนดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มของผู้พ่ายแพ้สงคราม
ในปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) ไทย และสหรัฐอเมริกาได้ลงนามสนธิสัญญาแห่งกรุงมะนิลา หรือสนธิสัญญาว่าด้วยการป้องกันร่วมกันในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) และจัดตั้งองค์การ สปอ.ที่กรุงเทพมหานคร เท่ากับว่า ไทย และสหรัฐฯ ร่วมเป็นพันธมิตรร่วมกันในการต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งก่อนหน้านั้นไทยและสหรัฐฯ ก็ได้เข้าเป็นส่วนร่วมของกองกำลังสหประชาชาติในสงครามคาบสมุทรเกาหลี และต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2511-2519 โดยประมาณ ไทย และสหรัฐฯ ก็มีกองกำลังปฏิบัติการเพื่อช่วยรัฐบาลเวียดนามใต้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ จนในปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) เวียดนามได้เข้ารุกราน และยึดครองกัมพูชา ไทย และสหรัฐฯ ก็ได้ร่วมกับมิตรประเทศหลายประเทศจนประสบความสำเร็จในการให้เวียดนามถอนกำลังออกไปจากกัมพูชา ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลรักษาการสหประชาชาติ และการนำระบอบประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศกัมพูชา
มาบัดนี้บริบทการเมืองระหว่างประเทศทั้งในระดับโลก และภูมิภาคได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย จีนเดินหน้าท้าชิงตำแหน่งเจ้าโลกจากสหรัฐฯ จีนและรัสเซีย กลายเป็นคู่แฝดในการนำพาประเทศในโลกที่สามที่จะลดอิทธิพลและการพึ่งพาของฝ่ายตะวันตก (The West) ที่นำโดยสหรัฐฯ อีกทั้งรัสเซียก็กระชับความร่วมมือกับเกาหลีเหนือ เพื่อเผชิญหน้ากับฝ่ายยุโรปที่สนามรบยูเครน และคุกคามญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ เร่งรัดให้ประเทศพันธมิตรทุกประเทศเพิ่มงบประมาณทางการทหาร และพัฒนาขีดความสามารถทางการทหาร เพื่อร่วมมือกันในการต่อต้านจีน และการยันการเข้ามายุ่มย่ามของรัสเซีย
ในการทั้งหมดนี้ ประเทศไทยมิได้เป็นรัฐแนวหน้าในสายตาของฝ่ายสหรัฐฯ อีกต่อไป ความสนใจของสหรัฐฯ ไปอยู่ที่รัฐแนวหน้าที่จะต้องเผชิญหน้า และโอบล้อมจีน นั่นคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอินเดีย
ต้นปีนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรกับทุกประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ และที่เรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้าสหรัฐฯ ที่ฝ่ายสหรัฐฯ เห็นว่าไม่สมเหตุสมผล โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือกันประเทศหนึ่งใดออกไปจากเหตุผลที่มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษแต่อดีต หรือไม่ก็ตาม ซึ่งแต่ละประเทศต่างก็ต้องช่วยตัวเองด้วยการยกเอาเรื่องความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์มาอ้างอิงเพื่อให้ฝ่ายสหรัฐฯบรรเทาความแข็งกระด้าง ก้าวร้าว ซึ่งดูแล้วก็คงจะไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่นัก เพราะทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในทำนอง “หมูไป ไก่มา”
ฉะนั้นในการนี้ฝ่ายไทยจะต้องระดมสมองปรึกษาหารือกันทุกหมู่เหล่าอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง เพื่อวางแผนและปูทางสำหรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาต่อไปอีก 100 ปีข้างหน้า
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี