ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิตอย่างรุนแรง
เป็นปัญหาใกล้ตัวกว่าที่หลายคนเคยคิด
คาดการณ์ว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 1,357,562 คน
พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 5,217 คน หรือเท่ากับ 8.02 ต่อแสนประชากร
หรือฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละ 15 คน
หรือฆ่าตัวตาย 1 คน ในทุก 2 ชั่วโมง
นอกจากนี้ พบว่า คนไทยพยายามฆ่าตัวตาย 33,926 คน หรือเท่ากับ 52.07 ต่อแสนประชากร
หรือพยายามฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละ 93 คน
หรือพยายามฆ่าตัวตาย 7 คน ในทุก 2 ชั่วโมง
1.ข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า การประเมินผ่านแอปพลิเคชั่น Mental Health Check In (1 ม.ค. 2563 - 20 ก.พ. 2568) จากจำนวน 6,154,474 ราย
พบว่า มีความเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 9.14 (562,289 คน)
เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 5.18 (318,917 คน)
และความเครียดสูงร้อยละ 7.87 (484,313 คน)
โดยกลุ่มอายุ 20 - 29 ปี มีความเสี่ยงสูงสุด
เท่ากับว่า ในบรรดาคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาจเป็นคนใกล้ชิด เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน หรือเป็นญาติพี่น้องของหลายคนที่ไม่คาดคิดว่าคนที่ตนเองรู้จักจะเผชิญปัญหานี้อยู่ก็เป็นได้
ปัจจุบัน มีประชากรมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก ที่ประสบปัญหาความผิดปกติทางจิต หรือการติดสารเสพติดแล้วก็มีปัญหาทางจิตด้วย
2.ปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพจิตเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความพิการ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
สุขภาพจิตไม่เพียงมีผลต่อตนเอง แต่ยังมีผลต่อคนรอบข้าง และส่งผลต่อสังคมอีกด้วย
ปัญหาสุขภาพจิต ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ทั้งผลกระทบทางตรง และทางอ้อม
ผลกระทบทางตรง เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษา ค่าเดินทางพบแพทย์
ผลกระทบทางอ้อม เช่น การสูญเสียรายได้และผลิตภาพแรงงานจากการขาดงานหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะการลดกำลังแรงงานย่อมส่งผลให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลง
ทั่วโลก ประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากภาระโรคจิตเวชอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 169 ล้านล้านบาท
โดยประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) มีการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคจิตเวชคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
ตามข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไทยในปี 2568 จะมีมูลค่าประมาณ 19,284.9 พันล้านบาท เท่ากับว่า เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคจิตเวชคิดเป็นประมาณ 9.64 แสนล้านบาท
เพราะฉะนั้น การป้องกัน รักษา ดูแลปัญหาสุขภาพจิต ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่เป็นการลงทุนในทางเศรษฐกิจ ที่มีความจำเป็นและคุ้มค่าสำหรับประเทศส่วนรวมด้วย
3.อุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหา คือ อคติต่อการป่วยจิต
ในสังคมไทย มีอคติต่อการเจ็บป่วยทางจิต โดยมีทั้งค่านิยมเชิงลบ ในลักษณะรังเกียจ ดูถูก อับอาย ทำให้มีการปกปิด ไม่ยอมรับ และนำไปสู่การไม่รักษา ไม่ดูแล
ทั้งๆ ที่ การป่วยจิต สามารถป้องกันได้ และรักษาได้
เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะจิตของคนก็เหมือนอวัยวะที่อาจเกิดการเสื่อมชำรุด เจ็บป่วยก็สามารถบำรุงรักษาได้
4.ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2568 มีมติเห็นชอบให้กำหนดให้เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month)
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในวงกว้างการจัดการปัญหานี้ไม่สามารถดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวได้ เนื่องจากลักษณะของปัญหาที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษาและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ดังนั้น การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิตอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
กรมสุขภาพจิตได้เสนอแนวคิดเดือนแห่งสุขภาพใจ หรือ Mind Month ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2568
ภายใต้แนวคิด “สุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล เช่น “Mental Health Awareness Month” ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และบางประเทศในยุโรป
การประกาศให้เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month) เป็นมติคณะรัฐมนตรี จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความชัดเจน ด้านนโยบายและกำหนดกรอบการดำเนินงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนในประเทศ และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
มุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ และลดการตีตราที่เกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวช
สร้างระบบนิเวศที่ช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดี พร้อมทั้งเข้าใจและสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต
เพื่อเปิดพื้นที่ความร่วมมืออย่างเป็นระบบระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ในการรณรงค์ลดการตีตรา (Stigma) สร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต (How to seek help) และสนับสนุนการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Space) ให้สามารถวางแผนดำเนินกิจกรรมร่วมกับกรมสุขภาพจิตได้อย่างมีทิศทางเดียวกัน และยังเอื้อต่อการขอความร่วมมือจากหน่วยงานในระดับพื้น
“สุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” ยกระดับการรับรู้ของประชาชนไทยต่อประเด็นสุขภาพจิตให้เป็นวาระแห่งชาติที่ได้รับความสำคัญเทียบเท่ากับสุขภาพกาย สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ประชาชนทุกคนสามารถดูแลใจของตนเองและผู้อื่นได้ในชีวิตประจำวัน
5.แนวทางข้างต้น น่าสนใจมาก และควรสนับสนุนส่งเสริมอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง
ประเด็นใกล้ตัว เช่น การลดการตีตรา (Stigma)
การลดการตีตราทางสุขภาพจิต จะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ และการเปิดเผยปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน
เอาง่ายๆ สังคมไทยบางส่วนมักตีตราคนที่เข้าบำบัดรักษาว่า “ไอ้บ้า” – “อีบ้า” ฯลฯ
และทำเหมือนกับว่า คนคนนั้นจะไร้ความเป็นมนุษย์ ไร้ประโยชน์ มีแต่ภาระและเป็นอันตราย
นี่คือปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยคนในสังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติ
จิตป่วยต้องบำบัดรักษา ไม่ต้องอายที่จะยอมรับว่ามีอาการป่วยจิต และสังคมก็ต้องไม่ปฏิบัติแบบรังเกียจ บูลลี่ ตีตรา
กรมสุขภาพจิต ยืนยันว่า
(1) การลดการตีตรา (Stigma) จะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการและการเปิดเผยปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน
(2) การเพิ่มความตระหนักรู้ (Awareness) จะทำให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้างมากขึ้น ช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิตตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้ดีขึ้น
(3) การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต (How to seek help) จะช่วยให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
(4) การสร้างสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคมที่เอื้อต่อการพูดคุย ปรึกษา (Safe space) รับฟังปัญหาสุขภาพจิตอย่างไม่ถูกตัดสินหรือวิพากษ์วิจารณ์ ช่วยให้ผู้คนรู้สึกมั่นใจ ปลอดภัยและกล้าเปิดเผยปัญหาทางใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการฟื้นฟูและการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน
6.ช่องทางการตรวจสุขภาพจิต หรือการบำบัดรักษา หรือลดความเสี่ยงทางจิต ควรจะต้องมีหลากหลาย และได้รับการยอมรับ
ในสังคมตะวันตก เราเห็นคนไปพบจิตแพทย์ เหมือนไปหาหมอฟันโดยทำงานทั่วไปในสังคมได้ปกติ
ในบ้านเรา ควรสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปสามารถพูดคุย ปรึกษา และได้รับความช่วยเหลือในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร เปิดกว้าง และปลอดภัยมากขึ้น
ปัจุจบัน มีช่องทาง เช่น
สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เป็นบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตฟรีตลอด 24 ชั่วโมงผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่ โทรศัพท์ เว็บไซต์ ระบบนัดออนไลน์ เพจ Facebook และ DMIND Application
ศูนย์ให้การปรึกษาสุขภาพจิต ดำเนินการในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา ทั้งแบบ Onsite และ Online
รัฐบาลควรสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ สนับสนุนการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตแก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้บริการสุขภาพจิตระดับปฐมภูมิ สนับสนุนเครื่องมือและแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ตลอดจนให้ทุนสนับสนุนและการเชื่อมโยงระบบการดูแลผู้ป่วย โดยพยายามเข้าถึงกลุ่มเยาวชนมากขึ้น
สรุป
“จิตป่วย” ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เราควรเร่งป้องกันดูแลสุขภาพจิตใจ และรีบรักษาเมื่อมีอาการป่วยทางจิตใจ
สังคมต้องไม่ตีตรา รังเกียจ
จะลดโอกาสเกิดโศกนาฏกรรม
และปลดชนวนระเบิดเวลาบั่นทอนทำลายสังคมประเทศชาติ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี