เวลาคนแต่ละคนพูดถึงคำว่า การเมือง ต่างคนต่างก็ให้คำจำกัดความของคำคำนี้แตกต่างกันไป ดังจะพบได้ว่านักรัฐศาสตร์จากสำนักต่างๆ ล้วนให้คำจำกัดความคำว่า การเมือง ต่างกันไป จนมีคำวิจารณ์ว่า เวลาถามนักรัฐศาสตร์ว่าการเมืองคืออะไร ก็จะได้คำตอบไม่เคยตรงกันสักราย แล้วจะยิ่งหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า เมื่อไปถามนักการเมืองว่า การเมืองคืออะไร เพราะนักการเมืองจะยิ่งให้คำตอบไปคนละทิศละทางหนักยิ่งกว่านักรัฐศาสตร์เสียอีก เลยมีความเห็นต่อท้ายว่า สรุปแล้วนักการเมืองน่าจะเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องการเมืองมากกว่านักรัฐศาสตร์ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสมเพชที่บางสังคมดันปล่อยให้นักการเมืองที่ไม่รู้เรื่องการเมืองเข้าไปมีอำนาจการเมือง
สรุปว่า เมื่อถามว่าการเมืองคืออะไร ก็จะต้องดูด้วยว่า ใครตอบ แล้วคนตอบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในระดับใด เพราะแต่ละคนมองการเมืองในแง่มุมต่างๆ ตามที่แต่ละคนมีกรอบในการมอง หรือมองจากประสบการณ์ที่ตนเองได้รับจากการเมือง ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมนักรัฐศาสตร์แต่ละคน และแต่ละสำนักจึงให้คำจำกัดความเรื่องการเมืองผิดแผกแตกต่างกันไปคนละทิศละทาง ส่วนนักการเมืองนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะแต่ละรายก็ล้วนต้องการมีอำนาจการเมือง แล้วเอาอำนาจการเมืองไปแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองมากกว่าสร้างผลประโยชน์สาธารณะ
เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องประหลาดใจเมื่อมีคนวิจารณ์ว่า พูดเหมือนนักการเมือง ทำเหมือนนักการเมือง หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเคยได้ยินว่า ตอบแบบนี้มันเป็นการตอบแบบนักรัฐศาสตร์ เพราะตอบแล้วทำให้คนถามไม่สามารถเข้าใจได้ว่าตอบว่าอะไร หรือไม่ก็ตอบอะไรก็ถูกไปหมด เพราะตอบแบบรัฐศาสตร์
จะอย่างไรก็ตาม แม้จะหาคำอธิบายว่าการเมืองคืออะไรอย่างชัดเจนไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับว่า การเมืองคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและผลประโยชน์ และยังเกี่ยวข้องกับประเด็นอำนาจรัฐอีกด้วย และการเมืองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคนทุกคนในแต่ละสังคม
นอกจากการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนแล้ว การเมืองยังเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของสัตว์เดรัจฉานที่อยู่ในสังคมเดียวกันกับคนอีกด้วย ดังนั้น แม้ใครจะบอกว่าไม่สนใจการเมืองก็ตาม แต่ก็ต้องระลึกไว้เสมอว่า ต่อให้คุณสนใจหรือไม่สนใจการเมือง คุณก็ได้รับผลกระทบแง่ใดแง่หนึ่งจากการเมืองโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
เวลาพูดถึงการเมือง หลายคนก็จะนึกไปถึงวิชาด้านรัฐศาสตร์ แล้วก็จะนึกไปถึงชื่อของนักปราชญ์ ในยุคเริ่มแรกดังต่อไปนี้ เช่น โสเครติส อริสโตเติล มองเตสกิเออร์ จอห์น ล็อก และรุซโซ เป็นต้น เพราะคนเหล่านี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นปรมาจารย์ด้านการเมือง และเป็นผู้วางรากฐานของวิชาการเมืองในยุคต่อๆ มาจวบจนยุคปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงการเมืองในยุคสมัยใหม่ ซึ่งห่างไกลจากยุคดั่งเดิมหลายศตวรรษ แต่ก็ยังคงต้องอาศัยกรอบแนวคิดของนักปราชญ์ด้านรัฐศาสตร์ในยุคแรกเริ่มเป็นเค้าโครงอยู่ดี นั่นแสดงว่าต่อให้โลกเปลี่ยนไปสักกี่ร้อยปีก็ตาม แต่ความต้องการพื้นฐานบางอย่างของมนุษย์ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือมนุษย์ยังคงต้องการอำนาจ และผลประโยชน์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเมื่อ 2-3 พันปีมาแล้ว หรือแม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน แล้วก็น่าจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในอนาคต
การเมืองเรื่องของอำนาจ
นับจากสมัยกรีกโบราณมาจวบจนบัดนี้ เราก็ยังเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ เพราะมนุษย์ทุกคนในสังคมล้วนเกี่ยวพันกับอำนาจในรูปแบบต่างๆ กันไป เช่น บางคนมีสถานภาพเป็นผู้ใช้อำนาจเพื่อบังคับและควบคุมผู้อื่น ในขณะที่คนบางกลุ่มก็ตกอยู่ในสถานะของผู้ถูกควบคุมให้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือกฎเกณฑ์ของ
ผู้มีอำนาจเหนือกว่า
แล้วก็พบอีกว่า คนทุกคนพยายามดิ้นรนที่จะให้ตนเองมีอำนาจการเมืองเหนือกว่าผู้อื่น หรืออย่างน้อยๆ หากไม่มีอำนาจการเมืองที่เหนือกว่าผู้อื่น ก็ขอให้ตนเองเป็นอิสระ ไม่ต้องตกอยู่ใต้การควบคุม บังคับบัญชา หรือสั่งการโดยใครที่มีอำนาจการเมืองสูงกว่า (อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ข้อเน้นเฉพาะอำนาจการเมืองเท่านั้น โดยไม่ก้าวล่วงไปพูดถึงอำนาจอื่นๆ เช่น อำนาจความเชื่อด้านศาสนา หรือด้านการควบคุมภายในหน่วยงาน ห้างร้าน หรือบริษัทใดๆ)
เวลาพูดถึงเรื่องการมีอำนาจการเมืองกับการได้มาซึ่งผลประโยชน์ จะเน้นหนักไปที่การใช้อำนาจการเมืองเพื่อจัดสรร แบ่งปัน หรือกระจายผลประโยชน์ หรือทรัพยากรที่มีจำกัดให้กระจายไปถึงมือของผู้คนส่วนมากในสังคม โดยมองว่าการเมืองคือการใช้อำนาจโดยชอบธรรม เพื่อกระจายหรือแจกจ่ายทรัพยากร หรือสิ่งของที่มีคุณค่าในสังคมให้ไปถึงสมาชิกส่วนใหญ่ของสังคมอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงเท่าเทียม
หน่วยงานหลักในทางการเมืองที่ต้องทำหน้าที่แบ่งสรรปันส่วนทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้กระจายไปอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมก็คือรัฐบาล ยิ่งในกรณีที่สังคมมีความไม่เท่าเทียมกัน หรือเป็นสังคมที่มีความขัดแย้ง แก่งแย่งชิงดีกันอย่างหนัก ก็ยิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องทำหน้าที่กระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันให้มากที่สุด โดยรัฐบาลใช้อำนาจโดยชอบธรรมเพื่อให้เกิดการแจกจ่ายทรัพยากรที่มีจำกัดให้กับสมาชิกโดยทั่วหน้ากัน
นักการเมืองไทย เน้นผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์สาธารณะ
เมื่อพูดถึงการเมืองของแต่ละประเทศ ก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันไป เนื่องจากบริบทการเมือง และบริบทสังคมของแต่ละประเทศล้วนต่างกัน ดังนั้น จึงไม่ควรนำเอาการเมืองไทยไปเปรียบเทียบกับการเมืองของประเทศในยุโรปตะวันตกหรือประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เพราะประชาชนของแต่ละประเทศมีสำนึกทางการเมืองต่างกัน มีพฤติกรรมการเมืองต่างกัน และมีวัฒนธรรมการเมืองต่างกัน แล้วที่สำคัญก็คือ นักการเมืองของประเทศต่างๆ ก็มีพฤติกรรมการเมืองต่างกัน
สำหรับประเทศไทย มีเอกลักษณ์การเมืองที่เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ซึ่งเป็นแบบฉบับที่ไม่สามารถหาได้พบเจอในประเทศยุโรปตะวันตก และในญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่การเมืองแบบไทยๆ นั้นสามารถหาพบได้ในประเทศกลุ่มด้อยพัฒนาทั้งหลาย เหตุที่บอกเช่นนี้ ก็เพราะว่า คนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการเมือง และวัฒนธรรมการเมืองแบบที่ไม่เน้นผลประโยชน์สาธารณะมากนัก แม้ปากจะอ้างว่ารักษาผลประโยชน์สาธารณะก็ตามทีแต่พฤติกรรมต่างจากคำพูดราวฟ้ากับดิน
แล้วทำไมเราจึงได้ยินเสมอๆ ว่านักการเมืองทุกคนชอบอ้างว่า ทำงานการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แล้วก็จะได้ยินนักการเมืองอ้างตลอดเวลาว่า ประชาชนต้องการเรื่องนี้ ประชาชนต้องการให้ทำอย่างนั้น ประชาชนเรียกร้องสิ่งนั้นสิ่งนี้สรุปว่า นักการเมืองอ้างประชาชนตลอดเวลา นักการเมืองฝ่ายค้านก็อ้างประชาชน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็อ้างประชาชน
คำถามคือประชาชนที่นักการเมืองอ้างนั้น เป็นประชาชนกลุ่มเดียวกันหรือไม่ หรือเขาอ้างประชาชนเฉพาะกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนเขาเท่านั้น หมายความว่าหากประชาชนได้ประโยชน์ใดๆ จากนักการเมืองฝ่ายใด นักการเมืองฝ่ายนั้นก็จะอ้างประชาชนกลุ่มนั้นส่วนประชาชนที่ไม่ได้สนับสนุนนักการเมือง ก็จะไม่มีสถานะเป็นประชาชนในสายตาของนักการเมือง ใช่หรือไม่
การอ้างประชาชนเป็นการอ้างที่ทำให้นักการเมืองรู้สึกมั่นอกมั่นใจมากขึ้น แต่สำหรับประชาชนแล้ว พวกเขารู้ดีว่าคำว่าประชาชนเป็นเพียงวลีลอยๆ จากปากนักการเมืองเท่านั้น เพราะเวลาพูดถึงประชาชนแล้ว ทำให้นักการเมืองใช้เป็นข้ออ้างได้สารพัด แล้วที่สำคัญคือ คำว่าประชาชนในคำพูดของนักการเมืองเป็นเพียงนามธรรม จับต้องไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ แต่ทว่าสามารถช่วยให้นักการเมืองดูดีขึ้น ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากการอ้างความเป็นประชาธิปไตยเช่นกัน เพราะอ้างแล้วทำให้ผู้อ้างดูดีขึ้น ดูว่าเป็นผู้เชื่อมั่นศรัทธาในประชาธิปไตย แม้ในความเป็นจริงแล้วผู้อ้างไม่เคยนิยมชมชอบประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อยก็ตาม แต่ก็จำเป็นต้องอ้างไปเรื่อยๆ เมื่อรักจะอยู่ในอาชีพนักการเมืองที่ต้องแสวงหาอำนาจรัฐโดยผ่านการเลือกตั้งของประชาชน
อำนาจและผลประโยชน์ คือเป้าหมายสูงสุดของนักการเมือง
การเมืองที่ดีต้องทำให้ประเทศชาติ ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด แต่คำถามคือการเมืองที่ดีคืออะไร การเมืองที่ดีเกิดขึ้นได้เพราะอะไร ใครเป็นคนทำให้การเมืองดีได้ นักการเมืองหรือประชาชน
นักการเมืองมาจากประชาชน เพราะประชาชนเป็นคนเลือกนักการเมือง ข้อความนี้ใช้ได้ในประเทศที่การเลือกตั้งเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม แต่ก็ต้องเข้าใจให้ถูกด้วยว่า การเลือกตั้งไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าประเทศที่มีการเลือกตั้งต้องเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เพราะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ก็ยังอุตส่าห์จัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่ทราบจะเลือกตั้งไปเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่ไม่มีการแข่งขันกันทางการเมืองอย่างจริงๆ จังๆ
แต่จะว่าไปแล้ว สำหรับประเทศไทยที่หลายๆ คนบอกว่าบ้านเมืองมีการเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นเครื่องบ่งบอกว่าประเทศเราเป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็ต้องขอโต้แย้งว่า ไม่ใช่ว่าการเลือกตั้งทุกชนิดในบางประเทศจะเป็นเครื่องยืนยันความเป็นประชาธิปไตยได้เสมอไป โดยเฉพาะการเลือกตั้งในประเทศไทยที่เต็มไปด้วยสารพัดเล่ห์เพทุบาย แถมยังหาความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริงจากการเลือกตั้งได้ยากลำบากมาก
นักการเมืองไทยกับการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เป็นเรื่องที่ถูกมองว่าเป็นเสมือนเงาของคนที่อยู่กลางแสงแดด ไม่มีใครคนไหนจะไม่มีเงาปรากฏ เมื่อเขาอยู่กลางแสงแดด ดังนั้นจึงไม่มีใครปฏิเสธว่าการเลือกตั้งของไทยเต็มไปด้วยการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในรูปแบบต่างๆ แต่ทว่าผู้มีอำนาจจัดการเลือกตั้งของไทย ก็มักจะไร้ความสามารถจับทุจริตเลือกตั้ง ดังนั้น จึงมีการกล่าวแบบปัดสวะให้พ้นตัวไปด้วยคำพูดที่ว่า รับรองผลการเลือกตั้งไปก่อน หากไม่มีใครร้องเรียนเรื่องการทุจริต หรือไม่สามารถจับได้ว่ามีการทุจริต ก็ต้องรับรองผลไปก่อน
ดังนั้น นักการเมืองจำนวนไม่น้อยจึงกล้าเสี่ยงก่อเหตุทุจริตเลือกตั้งเพราะรู้ดีว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแล ควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ มักไม่มีปัญญาจับทุจริตได้ เพราะว่าคนที่อยู่ในหน่วยงานดูแลการเลือกตั้งก็ดูเสมือนว่าไม่น่าจะขาวสะอาดมากเท่าไรนัก เพราะฉะนั้น เมื่อคนดูแลการเลือกตั้งก็ไม่น่าจะบริสุทธิ์ ก็จึงทำให้คนที่ไม่น่าจะบริสุทธิ์หลุดรอดไปเป็น สส. กันมากมาย เพราะเขาถือหลักว่า โกงแล้วจับไม่ได้ ก็ถือว่าไม่โกง
เมื่อคนโกงมีแนวคิดแบบนี้ ก็จึงกล้าลงเล่นเกมเลือกตั้ง เพราะหากจับไม่ได้ ก็สามารถเข้าไปเป็น สส. แล้วจากนั้นก็เข้าไปเป็นรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีได้ แล้วเมื่อมีอำนาจรัฐแล้ว ก็ใช้อำนาจรัฐกอบโกย โกงกิน ฉ้อฉล ปล้นทรัพยากรของประเทศไปเรื่อยๆ ดังนั้น ต้องทำทุกหนทางให้ตนเองมีอำนาจรัฐให้ได้ เพราะการมีอำนาจรัฐ จะสามารถช่วยให้รอดพ้นจากการลงโทษทางกฎหมาย ต่อให้ทำเลว ทำชั่วสารพัดชนิดก็ตาม
เมื่อมีอำนาจรัฐแล้ว สามารถปิดฟ้าด้วยฝ่ามือก็ย่อมได้ แล้วต่อให้ทำผิดทำชั่วร้ายแรงเพียงใด ก็สามารถใช้อำนาจรัฐช่วยให้ตนเองรอดพ้นจากการถูกลงโทษได้ ดังนั้น ต้องทำทุกหนทางเพื่อให้มีอำนาจรัฐ เพราะมันคือหนทางนำไปสู่การมีผลประโยชน์มหาศาล
ด้วยข้ออ้างตามที่กล่าวมานี้ จึงทำให้นักการเมืองไทยจำนวนไม่น้อยกล้าทุจริตเลือกตั้ง เพื่อให้ตนเองเข้าไปมีอำนาจรัฐ แล้วพยายามยื้อให้อำนาจรัฐอยู่ในมือตนเองไปตราบนานแสนนาน เพื่อให้สามารถกอบโกย โกงกิน ปล้นประเทศได้ตลอดไปตราบเท่าที่ยังมีอำนาจรัฐ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี