เป็นเวลาปีกว่าๆ นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ประเทศไทยปลด “กัญชา” พ้นจากสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อให้เอื้อต่อการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ปัจจุบันกัญชาได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายไปจนถึงการเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลายเป็นโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่งหลายฝ่ายก็กังวลกับการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสม เพราะอย่างไรเสียกัญชาก็ยังสามารถเสพติดได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาวิชาการนำเสนอ 3 ผลงานการวิจัยศึกษาเกี่ยวกับการสํารวจทัศนคติพฤติกรรมการใช้กัญชาและสารเสพติด ประชาชนอายุ 18-65 ปีใน 20 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ปี 2566
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า งานวิจัยทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ชุดโครงการสำรวจพฤติกรรมการใช้กัญชาและสารเสพติดในประชากรไทย ผลกระทบจากกัญชาต่อความเป็นธรรมทางสุขภาพและต้นทุนการเจ็บป่วยจากการใช้กัญชา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่สนับสนุนทุนวิจัยโดย สวรส. ซึ่งครั้งนี้เป็นวงหนึ่งที่มีการหยิบยกประเด็นที่มีข้อห่วงกังวล โดยการใช้กัญชายังมีอีกหลายแง่มุมที่มีความหลากหลาย
“เปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คงไม่ต่างจากการสูบบุหรี่แล้วคนรอบข้างได้รับผลกระทบ คนสูบกัญชาโดยตรงก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และคนรอบตัวก็อาจได้ผลกระทบไปด้วย โจทย์ต่อไปต้องทบทวนและวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายและนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันตระหนักและออกนโยบายควบคุมการใช้กัญชาอย่างจริงจังเพื่อปิดช่องโหว่ต่อไป”ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด เปิดเผยว่า ปี 2565 มีการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กและเยาวชน สูงขึ้นถึง 10 เท่า ขณะที่ปี 2566 กลุ่มเยาวชนมีการใช้กัญชาแบบสูบ ประมาณ 125,629 ราย ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง ขณะที่พฤติกรรมการใช้สารเสพติดของประชาชนในปี 2565 มีการใช้กัญชา(สูบ/กิน/ดื่ม) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 24 ส่วนปี 2566 แม้พบว่าลดลงเหลือร้อยละ 21 แต่ก็ยังถือว่าสูง หากเทียบกับแต่ก่อนที่ประมาณร้อยละ 1-2
“การสำรวจจังหวัดทั่วประเทศทุกภูมิภาคก็ทำให้เห็นว่าเทรนการใช้กัญชายังมีค่อนข้างสูง ส่วนการสำรวจปริมาณสารมึนเมา (Delta-9 THC) ซึ่งอยู่ในพวกเครื่องดื่มผสมกัญชา ปัจจุบันพบว่าเครื่องดื่มประเภทนี้ที่ขายตามร้านที่ไม่ได้มาตรฐานยังต้องเฝ้าระวัง รวมถึงกัญชาที่มาในรูปแบบขนมก็จะมีปริมาณ Delta-9 THC ค่อนข้างสูง” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
ดร.สุริยัน บุญแท้ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ กล่าวว่า การสํารวจทัศนคติและพฤติกรรมการใช้กัญชาและสารเสพติด กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18-65 ปี ใน 20 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศปี 2566 ซึ่งเก็บข้อมูลระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม พบว่าในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีการใช้กัญชาแบบสูบรวมถึงกิน ดื่ม ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ผสมในอาหารเครื่องดื่ม ขนม ไอศกรีม รวมเกือบ 10 ล้านคน เป็นการใช้กินกับดื่ม 8.6 ล้านคน และใช้แบบสูบ 2.4 ล้านคน และมีผู้ใช้ทั้งกินและสูบอยู่ที่ 1 ล้านกว่าคน
โดยปี 2566 พบตัวเลข 10 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่ลดลงมาเล็กน้อย จากปี 2565 ที่ผ่านมาพบ 11 ล้านคนที่ใช้แบบกิน ดื่ม สูบ เหตุผลเพราะกัญชาได้รับความนิยมมากจากนโยบายเสรีกัญชาตั้งแต่ช่วงมิถุนายนกลางปี 2565 ช่วงนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุมการขาย การโฆษณา และจำกัดโซน เพิ่งจะมามีประกาศกระทรวงฯให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมตอนพฤศจิกายน ปลายปี ทำให้ช่วงนั้นคนทดลองไปเยอะ กระทั่งเมื่อมีกฎหมายควบคุมเด็กก็เข้าถึงยาก
แต่แม้จะมีการเข้ามาควบคุมแต่มาตรการหรือการบังคับใช้กฎหมายยังไม่ชัดเจน เห็นได้จากการสำรวจพบเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี กว่า 300,000 คน ที่ใช้กัญชาอยู่ จึงถือว่าการควบคุมยังไม่มีประสิทธิผลเพียงพอซึ่งการสำรวจครั้งนี้ ยังพบผลกระทบจากการใช้สารเสพติดทั้งเรื่องปัญหาครอบครัว อาการป่วยหรือโรคทางกาย อาการทางจิต มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง รวมถึงปัญหาทางด้านการเงินและเศรษฐกิจ
“ขณะเดียวกันจากการสำรวจยังพบว่า ประชาชนยังมองสารเสพติดในเชิงลบอยู่ และไม่เห็นด้วยที่จะใช้เพื่อทำให้คลายเครียดได้ หรือทำให้เข้ากับกลุ่มเพื่อนได้ หรือช่วยสร้างความมั่นใจสร้างบุคลิกให้ดูดี และเห็นด้วยที่อยากให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม” ดร.สุริยัน กล่าว
รศ.ดร.เกื้อการุณย์ ครูส่ง ภาควิชาชีวเคมีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมกัญชา หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าจะไม่กังวลเพราะผ่าน อย. แล้ว มีฉลากเตือน ส่วนที่น่ากังวลคือร้านค้าทั่วไป พวกนี้ไม่มีบรรจุภัณฑ์จึงไม่ถูกตรวจสอบและไม่มีการแสดงปริมาณสารที่ออกฤทธิ์ชัดเจน เคยทำการศึกษาพบเครื่องดื่มบางแก้วมีปริมาณ THC มากกว่า 1.6 มิลลิกรัมต่อแก้ว ขนมบางส่วนไม่มีฉลากบ่งบอกว่ามีส่วนผสมกัญชา บางส่วนไม่ระบุปริมาณ THC และ CBD และไม่มีคำเตือนหรือคำแนะนำการบริโภคที่เหมาะสม
“ที่ต่างประเทศจะเน้นไปที่การใช้ CBD คือฤทธิ์ผ่อนคลาย และผลิตภัณฑ์บ้านเขาต้องระบุว่ามี CBD เท่าไหร่และมองว่า THC คือสารปนเปื้อน เนื่องจาก THC เป็นสารที่ชอบละลายในไขมัน เพราะฉะนั้นมักจะได้รับความนิยมในการนำไปผสมในคุกกี้ บราวนี่ เยลลี่ ที่มีไขมันเป็นส่วนผสม ผู้เริ่มต้นใช้กัญชาอยากลองก็จะเริ่มจากกินขนมก่อน โดยข้อแนะนำ delta-9 THC ใช้ฝั่งประเทศยุโรปที่ปลอดภัยต้องขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว ยิ่งน้ำหนักน้อยอาจจะทนต่ออาการแพ้ได้น้อยกว่าคนที่น้ำหนักมาก ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ประชาชน” รศ.ดร.เกื้อการุณย์ กล่าว
ดร.ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการสำรวจร้านขายผลิตภัณฑ์กัญชาในย่านท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ อย่างถนนข้าวสารและสีลม พบร้านค้า 3 ประเภท คือ 1.ร้านขนาดใหญ่ราคาแพง มีใบอนุญาตติดให้เห็นชัด หน้าร้านมิดชิด มีกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ ภายในร้าน 2.ร้านค้าทั่วไป มีการโชว์สินค้า ราคาถูกกว่าร้านประเภทแรก มีข้อความแสดงชัดเจนว่าที่นี่ขายกัญชาและข้อห้ามตามเงื่อนไขที่กำหนด และ3.ร้านแผงลอย ราคาสูง-ต่ำแล้วแต่คุณภาพ มักไม่มีใบอนุญาต บางร้านมีการสอนวิธีสูบ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
“มีหลายร้าน ลูกค้าเดินเข้าไปซื้ออายุไม่น่าจะเกิน 18 หรือ 20 ปี ร้านไม่มีการถามหรือตรวจบัตรประชาชน รวมถึงการตั้งร้านค้าแบบไม่จำกัดโซนและมีการขายสินค้าที่ผสมในอาหาร เครื่องดื่ม เพิ่มมากขึ้น การจำหน่ายกัญชาแบบค้าปลีกกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่ต้องจับตามองถึงผลกระทบที่จะตามมา ในด้านความเป็นธรรมทางด้านสุขภาพที่ต้องตั้งคำถามว่า กรณีนี้ใครได้ประโยชน์กันแน่จากธุรกิจเหล่านี้” ดร.ศยามล กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี