“2597” หรืออีก “30 ปีข้างหน้า” คือปีที่หลายคน “กังวล” เนื่องจากมีเสียงร่ำลือว่า “กองทุนประกันสังคม” ที่พึ่งของแรงงานภาคเอกชนนับสิบล้านคน อาจถึงคราว “ล้มละลาย” โดยเรื่องนี้มีการนำไปถามเป็น “กระทู้สด” ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2567 โดย วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เรียกสถานการณ์นี้ว่า “ระเบิดเวลา” โดยอ้างถึงข้อมูลที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ส่งมาให้ในยุครัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งเวลานั้นตนเป็นกรรมาธิการงบประมาณ
ซึ่งข้อมูลนี้ ระบุการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่าในปี 2597 มีความเสี่ยงที่เงินสำรองในกองทุนประกันสังคมจะติดลบ นั่นหมายถึงคนที่เกิดในปี 2542 ซึ่งในปีนี้ (2567) จะมีอายุ 25 ปี เริ่มจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถึงปี 2597 อันเป็นปีที่เริ่มเกษียณ จะไม่ได้เงินคืนแม้แต่บาทเดียว ดังนั้นคำถามคือจะแก้ไขอย่างไร แน่นอนหมายถึงการปฏิรูปประกันสังคม แต่ก็ต้องยอมรับว่าคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกใจทุกฝ่าย
โดยคำถามคือ 1.จะเปิดเผยข้อมูลสถานะกองทุนประกันสังคมได้หรือไม่? และเมื่อใด? เพื่อให้สังคมเข้าใจตรงกันก่อนว่าเหตุใดจำเป็นต้องปฏิรูป เพื่อไม่ให้เกิดคำถามว่าเหตุใดต้องบังคับให้จ่ายเพิ่ม 2.เป็นไปได้หรือไม่ที่ประกันสังคมจะใช้หลักคิดแบบเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หมายถึงลงทุนเท่าไร ผลตอบแทนที่ได้ก็เป็นเงินบำนาญเท่านั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่เป็นภาระกับรัฐและคนรุ่นถัดไป
“เอาแค่เบื้องต้น ท่านต้องไปกำหนดให้ประกันสังคมเปิดเผยการเปรียบเทียบ Benchmark (เกณฑ์มาตรฐาน) ว่าปัจจุบันนี้ที่กองทุนประกันสังคมลงทุนไปได้ดีกว่าสิ่งที่ควรจะเป็นหรือไม่? คำถามคือท่านจะเปิดเผยข้อมูลเปรียบเทียบตรงนี้เมื่อไร? เพราะถ้าเอาแค่สถิติย้อนหลังมาดูประกันสังคมผลตอบแทนน้อยกว่า กบข. เกือบทุกปีอันนี้เป็นข้อเท็จจริง” วรภพ กล่าว
ขณะที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งมาตอบกระทู้ในวันดังกล่าว ยอมรับว่าการคำนวณที่ถูกอ้างถึงนั้นมีความเป็นไปได้หากไม่มีการแก้ไข โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2597 หากใช้ศัพท์ทางบัญชีก็คือขาดดุล โดย ณ ปัจจุบัน มั่นใจว่ากองทุนประกันสังคมยังไม่มีความเสี่ยง แต่หากยังเก็บในอัตราเดิม นายจ้าง-ลูกจ้างจ่ายสมทบฝ่ายละร้อยละ 5 และรัฐสมทบอีกร้อยละ 2.75 โดยกำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกิน 15,000 บาท ก็จะมีความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนของประกันสังคมในปัจจุบันอยู่ที่เกือบร้อยละ 3 โดยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมมีดอกผลเกือบ 6 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อตนได้เข้ามารับตำแหน่ง รมว.แรงงาน ซึ่งต้องกำกับดูแล สปส. ก็ได้ให้นโยบายว่า หลังจากปี 2568 ไปแล้ว จะต้องนำเงินกองทุนไปทำให้เกิดดอกผลให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะทำได้ที่ร้อยละ 3-4 ซึ่งนี่จะเป็นเงื่อนไขข้อแรกในการยืดชีวิตกองทุนประกันสังคม
ประการต่อมา การยืดเพดานเก็บเงินเข้ากองทุน ตามที่ตั้งใจไว้คือจะขยายไปที่ 17,500 บาท นอกจากนั้นยังฝากถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทุกคน ให้ช่วยกันอภิปรายว่า อัตราการส่งเงินสมทบของฝ่ายรัฐ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.75 นั้น ควรขยับเป็นร้อยละ 5 ได้หรือไม่?เพื่อช่วยยืดชีวิตกองทุนประกันสังคมอีกทางหนึ่ง พร้อมกับขอเชิญทุกพรรคการเมือง ร่วมหารือหาทางออกกองทุนประกันสังคม ในเดือน พ.ค. 2567
“อย่าลืมว่ากองทุนประกันสังคมไม่ใช่เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่จะไปทำหน้าที่คิดเพียงกระทรวงเดียวหรือสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้คิดเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าพวกเราทุกคนต้องช่วยกันคิด อย่างที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้แถลงไว้ว่า เราไม่ใช่เอาเงินอนาคตมาจ่ายให้กับปัจจุบัน ก็คือเอาของคนที่สมทบรุ่นใหม่มาจ่ายให้กับคนรุ่นเก่าที่เกษียณอายุไปแล้ว และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง เราก็คงต้องหาวิธีคิดว่าที่ 60 ปีนี้พอไหม? หลังจากนี้ไปอีกสัก 5 ปี เป็นไปได้ไหมที่เราจะค่อยๆ ขยับการเกษียณ จาก 60 เป็น 61, 62, 63, 64 และ 65 ปี” พิพัฒน์ กล่าว
กระทั่งในวันที่ 31 พ.ค. 2567 มีการจัดการประชุม “SSO Sustainable for All เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นของพวกเราทุกคน” ที่กระทรวงแรงงาน โดยภายหลังการประชุม บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยในการแถลงข่าว ว่าผู้เข้าร่วมประชุมหลายท่านแนะนำให้กระจายความเสี่ยงไปยังภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น และควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น แต่ทุกคนที่เข้าร่วมประชุมก็เข้าใจดีเรื่องการลงทุนมีความเสี่ยง และสำนักงานประกันสังคมก็เลือกลงทุนในส่วนมั่นคงราวร้อยละ 60-70 ส่วนการลงทุนที่เสี่ยงก็ดูที่ดัชนี SET50 หรือ SET100 อนึ่ง ประเด็นต่างๆ ที่มีการหารือในที่ประชุม พรรคการเมืองล้วนเห็นตรงกันเกือบทั้งหมด
“99% เห็นตรงกันหมด เพื่อเราจะดูว่าเราจะทำอย่างไรให้กองทุนมีความมั่นคงมากขึ้น จะมีเพิ่มอายุไหม? จะเพิ่มเงินสมทบไหม? จะคำนวณอย่างไรให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิ์ให้มากที่สุด ซึ่งเป็นแนวคิดเบื้องต้น ทางสำนักงานประกันสังคมมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะประมวลอีกครั้งหนึ่งว่าเราจะขับเคลื่อนอย่างไรให้กองทุนเรามีเสถียรภาพมากขึ้น” เลขาธิการ สปส. กล่าว
ด้าน รมว.แรงงาน พิพัฒน์ รัชกิจประการ กล่าวว่าการประชุมในครั้งนี้มีข้อจำกัดเพราะจัดได้เพียงครึ่งวัน เนื่องจากติดเงื่อนไขด้านงบประมาณที่ไม่ได้ตั้งไว้ จึงมีกำหนดการจัดประชุมอีกครั้งในเดือน ต.ค. 2567 โดยทางประกันสังคมได้เตรียมตั้งงบประมาณไว้แล้วในส่วนของปีงบประมาณ 2568 และการประชุมดังกล่าวจะใช้เวลา 2 วัน โดยจะเชิญภาคธุรกิจ บริษัทห้างร้านต่างๆ โดยเฉพาะที่สำคัญมากคือภาคสถาบันการเงิน อีกทั้งจะมีการเชิญผู้แทนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาร่วมประชุมด้วย
นอกจากนั้น ยังขอฝากไปถึงพรรคการเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เช่น พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และรวมไปถึง คณะก้าวหน้าที่ตนต้องขอฝากผ่าน รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ตัวแทนคณะก้าวหน้า ที่เป็นกรรมการประกันสังคม ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2566 ไปถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ซึ่งมีนักวิชาการในเครือข่ายมากมาย ให้มาช่วยกันระดมสมองในการแก้ไขปัญหากองทุนประกันสังคม
“ไม่อยากให้คิดว่าเรื่องนี้เป็นภาระเฉพาะของกระทรวงแรงงานหรือสำนักงานประกันสังคม แต่อยากให้คิดว่าเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้ประกันตนไม่ว่าจะเป็นมาตรา 33 39 และ 40 ต้องช่วยกันประคับประคองเพื่อให้กองทุนนี้อยู่รอดปลอดภัยไม่มีคำว่าสิ้นสุด” พิพัฒน์ กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี