ปัญหาสังคมไทยคือมีนักกฎหมายมากเกินไปนักกฎหมายบางรายใช้ช่องว่างกฎหมายสร้างปัญหาให้ประเทศชาติ นักกฎหมายจำนวนมาก มีวาระซ่อนเร้นตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้อง บางรายใช้สำนวนโวหารทางกฎหมายด้อยค่าตุลาการทำลายกระบวนการยุติธรรมเสียเอง
นานาอารยประเทศอะไรที่กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน เขาให้ทำตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ตัวอย่างเช่น จอร์จ วอชิงตัน นักการทหาร ผู้มีบทบาทสำคัญ ทำให้อเมริกาเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักร ประชาชนจึงเรียกร้องให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เมื่อวาระ 4 ปีแรก ผ่านไปประชาชนยังเรียกร้องให้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย จอร์จ วอชิงตัน ก็ทำตามความต้องการประชาชนส่วนใหญ่ แต่หลังจากอยู่ในตำแหน่งสองสมัย นาน 8 ปี ชาวอเมริกันขอร้องอย่างไร ท่านก็ไม่ยอมเป็นประธานาธิบดีต่อไปโดยให้เหตุผลว่าถึงเวลาที่ต้องใช้ชีวิตส่วนตัวกับครอบครัว ตั้งแต่นั้น คนอเมริกัน ก็ถือปฏิบัติตามกันมา และบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อยู่ในตำแหน่งวาระ 4 ปี ไม่เกิน 2 สมัย สังคมการเมืองอเมริกันก็ปฏิบัติตามกันจนบัดนี้ไม่มีนักกฎหมายออกมาโวยวาย
แต่ในประเทศไทยอะไรที่ไม่ชัดเจน นักกฎหมายมักตีความกฎหมายให้สังคมไทยวุ่นวาย ตลอดเวลาที่ผ่านมา เพราะเหตุว่า นักกฎหมายไทยจำนวนมากตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการเมือง นักกฎหมายประเภทนี้ส่วนใหญ่ยึดฝ่ายตนเป็นที่ตั้งแล้วอ้างทำเพื่อสร้างความเข้าใจในสังคม ที่เลวร้ายกว่านั้นคือนักกฎหมายในนานาอารยประเทศแสดงความรู้ทางกฎหมายกันในศาล แต่นักกฎหมายไทยมักแสดงโวหารทางกฎหมายชี้นำสังคมและกดดันตุลาการผ่านสื่อ ซึ่งทำให้สังคมสับสนวุ่นวาย เมื่อหลายฝ่ายนำไปขยายความและแพร่หลายในโซเชียลและมีหลายคราที่กูรูตีความกฎหมายให้เกิดความวุ่นวายในชาติ
เช่นระหว่างศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล ผู้สอนกฎหมายหลายคนแสดงความคิดเห็นแง่มุมกฎหมายเป็นบวกแก่พรรคก้าวไกล
และหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 ให้ยุบพรรคก้าวไกล ผู้สอนกฎหมายหลายคน ออกมาแสดงความคิดเห็นทางกฎหมายในทำนอง#ด้อยค่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ศาลฯชี้แจงอย่างละเอียดถี่ถ้วน ชนิดที่สามัญชนทั่วไปก็เข้าใจได้เมื่อศาลฯอ่านคำวินิจฉัยว่า
..“คดีนี้กับคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 เป็นคดีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันและมูลคดีเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไต่สวนพยาน
หลักฐานในมาตรฐานเดียวกัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้ว ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่า พฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกร้อง (พรรคก้าวไกล) เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาลองค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ” ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ด้วย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันมีเนื้อหาเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งโดยการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์..
..เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง เป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเข้าลักษณะการกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย..”
ในตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยที่ว่า #เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง เป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ คำวินิจฉัยส่วนนี้นำไปเทียบเคียงได้กับการตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในปี 2562 ได้ ตอนนั้นไม่เห็นผู้สอนกฎหมายคนไหนออกมาวิจารณ์ด้อยค่าศาลฯ แต่ที่น่าอนาถใจ ยังมีผู้สอนกฎหมายหลายคนออกมาด้อยค่าตุลาการผ่านสื่อ ที่วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ราวกับว่าผู้สอนกฎหมายพวกนั้น มีอุดมการณ์ต่อต้านสถาบันฯเหมือนคณะราษฎรยุคใหม่ซึ่งเป็นสาวกพรรคก้าวไกล
สังคมไทยน่าจะรู้มานานแล้วว่าผู้สอนกฎหมายในบางมหาวิทยาลัยคลั่งไคล้คณะราษฎร2475 ผู้สอนกฎหมายพวกนั้น ถึงได้ปลุกปั่นล้างสมองคนรุ่นใหม่ และลูกศิษย์ในมหาวิทยาลัยให้ออกหน้า เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯโดยที่ผู้สอนกฎหมายเหล่านั้น แอบอยู่หลัง นักศึกษา และเมื่อถึงเวลาค่อยๆ โผล่ออกมาเห็นหัวหมาที่คลุมไว้ใต้หนังราชสีห์
ผู้สอนกฎหมายหลายรายออกมาด้อยค่าตุลาการศาลฯ เป็นการนำร่องให้คนรุ่นใหม่สาวกก้าวไกลนำไปขยายความในสื่อออนไลน์
สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมเลยเถิดลามปามถึงสถาบันฯ ที่เคารพรักเทิดทูนของคนไทยอย่างหยาบคายชั่วช้าร้ายกว่าก่อนหน้ายุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากว่าผู้สอนกฎหมายใช้วาทกรรมกำกวมป้องกันตนไม่ให้ถูกดำเนินคดี ส่วนติ่งก้าวไกลชั่วช้าหยาบคายไม่กลัวถูกดำเนินคดี เพราะมั่นใจว่าก้าวไกล ผู้สอนกฎหมาย และต่างชาติสามารถช่วยได้ ด้านก้าวไกลร่างใหม่ในคราบ “พรรคประชาชนจึงปากกล้าท้าทายจะเดินหน้าแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112”
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวถึงกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า
ที่ผ่านมา เราไม่เคยสื่อสารว่าเรามีการลดเพดานเรื่องอะไร แต่เรายืนยันว่าเราเสนอแก้ไข มาตรา 112 เพื่อปรับปรุงกฎหมายนี้ ไม่ให้มีปัญหา
ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกลั่นแกล้งพรรคฝ่ายตรงข้าม
นายณัฐพงษ์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่มองเพียงว่า ต้องแก้ไขมาตรา 112 เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามนำมาใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองแสดงว่า นายณัฐพงษ์ ไม่สำเหนียกที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้กฎหมายปกป้องสถาบันเข้าข่ายเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกร้อง (พรรคก้าวไกล) เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
คำประกาศเดินหน้าแก้มาตรา 112 ของหัวหน้าพรรคประชาชน ที่ลอกคราบมาจากอนาคตใหม่และก้าวไกล จึงสอดคล้องกับการแสดงความคิดเห็นด้อยค่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของผู้สอนกฎหมายบางคน ที่พยายามปลุกปั่นคนรุ่นใหม่ ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันสูงสุดของไทยต่อไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคมไทย ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ประสบการณ์ติดตามข่าวการเมืองมากว่า 50 ปี พบว่า ปัญหาหลักของสังคมไทย คือ ผู้สอนกฎหมายในเมืองไทยมักตีความกฎหมายเข้าข้างคนโกง คนทรยศขบถต่อแผ่นดิน ผู้สอนกฎหมายในเมืองไทยนอกจากตีความกฎหมายเข้าข้างคนโกงชาติ อาฆาตพยาบาทสถาบันฯแล้ว ผู้สอนกฎหมายยังล้างสมองปลุกปั่นให้ลูกศิษย์เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันสูงสุดของชาติ อาจถึงขั้นเป็นขบถล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเมื่อลูกศิษย์ถูกดำเนินคดี ผู้สอนกฎหมายเหล่านั้น ก็ช่วยแก้ต่างให้ และหากลูกศิษย์ถูกศาลตัดสินลงโทษ ผู้สอนกฎหมายเหล่านั้น ก็ออกมาโวยวาย อ้างแง่มุมกฎหมายต่างๆ นานาเพื่อด้อยค่าตุลาการศาลฯ
จาก พ.ศ.2475 ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า92 ปี ประเทศไทยยังคงมีนักกฎหมายที่คิดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องลดปริมาณผู้สอนกฎหมาย และเพิ่มปริมาณการสอนศีลธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณตลอดถึงอุดมการณ์รักชาติแก่คนรุ่นใหม่ ประเทศไทยจะลดความวุ่นวายลงได้มากกว่านี้
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี