ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยเศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคม 2568 ชะลอลงจากเดือนก่อน จากภาคบริการและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ส่วนแนวโน้มข้างหน้าต้องจับตาท่องเที่ยว นโยบายการค้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2568 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้านการค้า การขนส่ง และการท่องเที่ยว โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง เนื่องจากบางส่วนเร่งผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลังไปแล้วในเดือนก่อน ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน
ในขณะที่การท่องเที่ยวต่างชาติ พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 2.9% จากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มเดินทางระยะไกล(long-haul) ที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูง เช่น ยุโรปไม่รวมรัสเซียและออสเตรเลีย หลังเร่งไปมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวระยะใกล้เพิ่มขึ้นในหลายสัญชาติ เช่น จีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวในประเทศดังกล่าว
ด้านการลงทุนภาคเอกชนลดลงหลังเร่งไปในเดือนก่อน จากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่ลดลง สอดคล้องกับการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง สำหรับหมวดยานพาหนะทรงตัว โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดยานพาหนะอื่นๆ อาทิ รถบรรทุก และรถกระบะลดลง ด้านหมวดก่อสร้างทรงตัวเช่นกัน โดยหมวดที่มิใช่ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบ ขณะที่หมวดที่อยู่อาศัยลดลงตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนทรงตัว โดยหมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่หมวดบริการปรับลดลง
อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นมาก โดยการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ขยายตัว 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการส่งออกในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกอุปกรณ์สื่อสารไปสหรัฐฯ การส่งออกคอมพิวเตอร์ไปจีนและฮ่องกง ซึ่งเป็นไปตามความต้องการตลาดโลกและการเร่งส่งออกในช่วงระยะผ่อนผันการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลางจากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้
ด้านการส่งออกรถยนต์นั่ง ขยายตัวตามการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปยังออสเตรเลีย อาเซียน และตะวันออกกลาง ส่วนการนำเข้าสินค้า เพิ่มขึ้น 27.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากไต้หวันเป็นหลัก และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคตามการนำเข้ารถยนต์นั่งจากจีน รวมถึงยาจากสหภาพยุโรป
ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากเดือนก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุจากอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารที่ลดลงจากผลของฐานราคาผักที่สูงในปีก่อนที่เผชิญภัยแล้ง ประกอบกับราคาผลไม้ลดลงตามผลผลิจที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานติดลบใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูป ส่วนหนึ่งจากการส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบ เช่น เนื้อสุกร และน้ำมันพืช
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงตามดุลการค้าที่กลับมาเกินดุล ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล จากการส่งกลับกำไรของธุรกิจ ต่างชาติตามฤดูกาลด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการจ้างงานในภาคการผลิตเป็นสำคัญแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะถัดไป ธปท.มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมชะลอลง ตามแรงส่งจากภาคท่องเที่ยว และการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลง อย่างไรก็ดี การผลิตในภาคยานยนต์มีสัญญาณปรับดีขึ้นบ้าง โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง
ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ 1.นโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก 2.พัฒนาการของภาคการท่องเที่ยว 3.การปรับตัวของภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และ 4.ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์และปัจจัยภายในประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี