nn หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (คณะกรรมการตามมาตรา 36) ได้เดินหน้าประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว โดยรฟม.ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการจากผู้เกี่ยวข้องในช่วงวันที่ 1-15 มี.ค.ที่ผ่านมา ผ่านช่องทางออนไลน์
มีบริษัทรับเหมาเอกชน และองค์กรในภาคประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นต่อเงื่อนไขการประมูลและเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกดังกล่าวค่อนข้างมาก แต่กระนั้นหลายฝ่ายก็เชื่อว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องของ รฟม.ครั้งนี้ เป็นเพียงมหกรรมปาหี่ เท่านั้น เพราะ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกได้ตั้งธงที่จะนำเอาเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกดังกล่าวมาใช้อยู่แล้ว โดยจะนำเอาข้อเสนอด้านเทคนิคมาพิจารณาร่วมกับซองข้อเสนอด้านการเงินในสัดส่วน 30 : 70 อยู่ดี
คนในวงการรับเหมา วิจารณ์กันแซดว่าหลังได้วิเคราะห์เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกดังกล่าวแล้วเห็นว่าเป็นเกณฑ์ประเมินที่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการคัดเลือกใช้ดุลพินิจ “เป่าลม” เพื่อช่วยเหลือผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งได้อย่างกว้างขวาง เอื้อประโยชน์ต่อผู้เสนอรายหนึ่งรายใด เช่น 1.เกณฑ์ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ข้อ 1.1. ประสบการณ์ ความพร้อมขององค์กร และความสามารถของบุคลากร (10%)…เป็นการนำข้อเสนอทางเทคนิคมาคิดเป็นคะแนนในการประเมินผู้ชนะคัดเลือก ที่แม้จะคงสัดส่วนไว้ที่ 10% แต่มีการปรับเกณฑ์การพิจารณาโดยนำจำนวนและมูลค่าโครงการที่เคยดำเนินการมาเป็นหัวข้อให้คะแนน(ซึ่งด้วยเกณฑ์ดังกล่าว วงการรับเหมาวิเคราะห์ว่าทำให้กลุ่ม STEC เสียเปรียบ CK และ ITD อย่างมากในเรื่องประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินเพราะ STEC มีประสบการณ์ทำอุโมงค์น้อยกว่ารายอื่น จึงเป็นการเพิ่มหลักเกณฑ์ประเมินที่ทำให้กลุ่ม BSR เสียเปรียบทันที)
1.2.เทคนิค วิธีการ แผนงาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง (50%)…จากเกณฑ์เดิมกำหนดสัดส่วนไว้ 40% แต่เกณฑ์ใหม่ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักขึ้นเป็น 50% โดยมีเกณฑ์พิจารณาทั้งความครบถ้วน ถูกต้องของวิธีการก่อสร้างที่สอดคล้องตามข้อกำหนด แผนงานที่เหมาะสมสอดคล้องตามหลักวิศวกรรม และแผนงานควบคุมความปลอดภัย ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวเปิดทางให้กรรมการใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนได้อย่างกว้างขวางและสามารถจะเทคะแนนไปให้กลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอกลุ่มใดก็ได้
1.3.เทคนิค วิธีการ แผนงานและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับงานรถไฟฟ้า (M&E) รวมทั้งในเรื่องคุณสมบัติและประสบการณ์ของผู้ผลิตระบบ
รถไฟฟ้า (10%)...จากแต่เดิมเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดไว้สัดส่วน 15% แต่เกณฑ์ประเมินใหม่ได้ลดน้ำหนักลงจากเหลือ 10%...เท่ากับว่าเปิดโอกาสให้ กรรมการ ใช้ดุลพินิจในการให้คะแนน ทั้งนี้หากเทียบประสบการณ์ในการจัดหารถไฟฟ้านั้น แม้กลุ่ม BSR จะได้เปรียบในแง่ต้นทุนจัดหารถไฟฟ้า แต่ก็จะถูกลดทอนในเรื่องคุณภาพและสเปกรถไฟฟ้าที่จัดหา
นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์ปลีกย่อยเรื่องของแผนงานที่เหมาะสม สามารถเปิดให้บริการตามกำหนด ที่เปิดโอกาสให้กรรมการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาให้คะแนนว่าข้อเสนอกลุ่มใดจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่เสนอได้(และตัดคะแนนกลุ่มที่เห็นว่าแผนงานไม่น่าเชื่อถือได้อีก)เช่น ข้อ 1.4. เทคนิค วิธีการ แผนงานและรายละเอียดของการบริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง(O&M)…แม้จะคงคะแนนเท่าเดิม 30% แต่เมื่อเปิดให้กรรมการสามารถใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนได้ จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้สามารถเป่าลมให้คะแนน หรือตัดคะแนนกลุ่มใดก็ได้อีก1.5. การถ่ายทอดเทคโนโลยี เดิมในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของ รฟม.จะมีเกณฑ์พิจารณาประเด็นนี้ 5% แต่หลักเกณฑ์ใหม่ได้ตัดออกไป...สรุปว่าการปรับเกณฑ์ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคใหม่นี้ จะนำคะแนนที่แต่ละกลุ่มได้มาคิดเป็นสัดส่วนคะแนนเต็ม โดยหากได้ 100% จะได้ 30 คะแนน หากผ่าน 70% จะได้ 21 คะแนนแล้วไปพิจารณาร่วมกับข้อเสนอทางการเงินประกอบ 70%
ส่วนเงื่อนไขในเรื่อง ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทน...ในข้อ 2.1 ในเงื่อนไขประมูลเดิม และเกณฑ์การพิจารณาเดิมนั้นจะพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอที่มี NPV ของผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดเป็นเกณฑ์ แต่เกณฑ์ใหม่นี้ให้น้ำหนักข้อเสนอทางการเงิน 70 คะแนน โดยแบ่งเป็นความน่าเชื่อถือของข้อเสนอการเงิน 10 คะแนน ซึ่งจะพิจารณาความสอดคล้องครบถ้วนของ BOQ งานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า ความสอดคล้องครบถ้วนของประมาณการรายได้ และค่าใช้จ่ายในการบริการเดินรถไฟฟ้าและการบำรุงรักษามาให้คะแนน ทำให้เปิดโอกาสให้กรรมการสามารถใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนได้อย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ ยังปรับเกณฑ์การพิจารณาเรื่องตอบแทนทางการเงิน ที่เป็นการคำนวณจากค่างานโยธารวมกับส่วนแบ่งรายได้จากการเดินรถโดยคิดตามมูลค่าปัจจุบัน (NPV) โดยเอกชนที่เสนอของบสนับสนุนงานโยธาต่ำสุดจะได้คะแนนสูงสุด แต่เกณฑ์ใหม่นั้นให้น้ำหนักคะแนนส่วนนี้เพียง 60% เป็นการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประเมินผู้ชนะที่แตกต่างไปจากการประมูลโครงการ PPP net cost ที่ รฟม.เคยดำเนินการในอดีตโดยสิ้นเชิง
เรื่องของที่เป็นประเด็นให้กังขา...เพราะการปรับเกณฑ์ใหม่ที่เปิดโอกาสให้กรรมการใช้ดุลพินิจในการประเมินให้คะแนนได้อย่างกว้างขวางนี้ ย่อมทำให้สามารถเพิ่มคะแนนและกดคะแนนเพื่อช่วยเหลือเอกชนกลุ่มใดเป็นการเฉพาะได้....!! ฉบับหน้ามาว่ากันตอนจบ...nn
กระบองเพชร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี