เมื่อต้นปีพ.ศ. 2563 การตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19ในประเทศไทย ในแต่ละวัน ผู้ติดเชื้อไม่ถึงหลักสิบ บริษัทประกันหลายแห่งได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ความคุ้มครองโควิด-19 หลายรูปแบบ ภาษาสั้นๆ เข้าใจง่าย เช่น “เจอ จ่าย จบ” “เจอ จ่าย รักษา” “เจอ จ่ายรักษา โคม่า” “เจอ จ่าย ไม่จบ ดูแลต่อ” “รักษา โคม่า” ค่าเบี้ยประกันภัยเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพัน
ผู้ติดเชื้อในแต่ละวันไม่มาก ทำให้เดือนกันยายน พ.ศ.2563องค์การอนามัยโลก World Health Organization (WHO)ได้ผลิตคลิปสารคดี 2 ภาษา “ไทย-อังกฤษ” แสดงความชื่นชมระบบสาธารณสุขของไทยในการควบคุมโควิด-19
บริษัทประกันภัยหลายแห่งต่างประชาสัมพันธ์รูปแบบ“เจอ จ่าย จบ” ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้เอาประกันภัยเป็นอย่างมาก โดยจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่ได้รับการยืนยันพบเชื้อโควิด-19 ในจำนวนที่ต่างกันไป แล้วแต่เบี้ยประกันที่ชำระ เช่น 99 บาท หากพบเชื้อจ่าย 20,000 บาท,199 บาท หากพบเชื้อ จ่าย 50,000 บาท, 399 บาท หากพบเชื้อ จ่าย 100,000 บาท แล้วแต่กำลังทรัพย์ของแต่ละคนบางคนซื้อทีเดียว 10 กรมธรรม์ต่างบริษัทกัน ที่ขาดไม่ได้ คือ “เจอ จ่าย จบ”
แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้น จากหลักร้อยเป็นหลักพัน บางวันตัวเลขกระโดดถึงหลักหมื่น ผู้เอาประกันภัยที่พบการติดเชื้อต่างเรียกร้องเอาประกันจากบริษัทที่ตนซื้อประกันไว้
จนเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 บริษัทประกันแห่งหนึ่งทนรับภาระไม่ไหว ต้องส่งหนังสือยกเลิกสัญญายกเลิกให้ความคุ้มครอง ไม่มีการให้ข้อเสนอแลกเปลี่ยนใดๆ แต่เพียงแค่วันเดียว ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามในคำสั่ง 38/2564 ห้ามบริษัทดังกล่าวบอกเลิกทำประกันภัยโควิด-19 ที่บริษัทได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยก่อนวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และยังคงมีผลใช้บังคับ
คำสั่งนี้ มีบริษัทประกันภัยที่ไม่เห็นด้วย สมาคมประกันวินาศภัยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนี้ และเป็นเหตุให้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย และบริษัท ไทยประกันภัย ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อฟ้องดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรื่องกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 สั่งห้ามบริษัทประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 โดยขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี โดยศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 44/2565 เมื่อ 10 มกราคม พ.ศ.2565
การเรียกร้องของผู้เอาประกันโควิด-19 ตามกรมธรรม์ต่างๆ โดยเฉพาะเจอ จ่าย จบ เพราะเงื่อนไขน้อยเพียงแค่แสดงหลักฐานการติดเชื้อ ส่งผลให้การเรียกร้องค่าสินไหมรวมจากการรับประกันโควิด-19 ถึงช่วงสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2564มีมูลค่าสูงกว่า 30,000 ล้านบาท และมียอดการเรียกร้องถึงสิ้นปี พ.ศ. 2564 เพิ่มสูงถึง 35,000-40,000 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่บริษัทประกันภัยประเมินสถานการณ์เอาไว้
โดยเมื่อ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สั่งปิดกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย จำกัด และบริษัท เดอวัน ประกันภัย จำกัด เมื่อ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2564เหตุผล คือ ฐานะการเงินไม่มั่นคง หนี้สินมีมากกว่าทรัพย์สิน
การที่บริษัทประกันภัยถูกสั่งปิด จะกลายเป็นภาระให้กองทุนประกันวินาศภัยที่ต้องหาเงินมาเพื่อรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
กองทุนประกันวินาศภัย จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551)มีผลใช้บังคับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 มีฐานะเป็นนิติบุคคล กองทุนไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
กองทุนประกันวินาศภัยจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ
บางบริษัทอาจต้องการปิดตัวเอง โดยหวังว่า จะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ ซึ่งตามกฎหมาย ในกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยไม่จ่ายเงินให้ผู้เอาประกันและยังไม่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต กองทุนฯ จะไม่สามารถจ่ายได้ เพราะกองทุนฯจะจ่ายเงินเฉพาะกรณีที่บริษัทล้มละลาย หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ประกันวินาศภัยแล้วเท่านั้น
ในกรณีบริษัทประกันภัย ที่รับประกันโรคโควิดไว้ ถูกคำสั่งของ คปภ. ให้ปิดกิจการ หรือ ขอปิดกิจการด้วยตนเอง โดยอ้างว่า ไม่สามารถประกอบกิจการประกันภัยต่อไปได้
โดยทั่วไปผู้คนมักจะเข้าใจว่า ความรับผิดของบริษัทจะมีอยู่เพียงแค่ทรัพย์สินของบริษัทที่มี ส่วนกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัท ไม่ต้องรับผิดชอบ เว้นแต่ ผู้ถือหุ้นจะยังต้องรับผิดชอบเฉพาะมูลค่าหุ้นที่ยังชำระไม่เต็ม เช่น หุ้นจดทะเบียน 1 หุ้น มูลค่า 100 บาท จดทะเบียนชำระเงินค่าหุ้นไว้ 75 บาท กรณีที่เลิกบริษัท ผู้ถือหุ้นยังต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้บริษัทเป็นเงินจำนวน 25 บาทต่อ 1 หุ้น ตามมูลค่าที่ยังไม่ชำระค่าหุ้น
นอกจากนี้ ลูกค้าของบริษัทซึ่งเป็นผู้บริโภค ยังมีสิทธิเรียกเงินค่าเสียหายจาก กรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทให้รับผิดเป็นการส่วนตัว ตามพระราชบัญญัติ วิธีพิจารณาคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ. 2551 อีกด้วย (เพียงแต่จะมี ความสามารถ และทรัพย์สินส่วนตัวมากพอจะชำระได้แค่ไหน)โดยถือว่าการบริหารกิจการของบริษัทประกันภัยเป็นไปโดยมิชอบ
เวลาที่บริษัทประกันภัย มีผลประกอบกิจการดี มีกำไรสูง เพราะมีลูกค้ามาทำประกันโควิดเป็นจำนวนมาก บริษัทประกันภัยซึ่งรวมกันทั้ง กรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทต่างได้รับประโยชน์ เพราะได้รับเงินปันผลเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก
แต่เมื่อมีลูกค้าที่ทำประกันโควิดไว้เป็นจำนวนมากแล้วติดโควิด เป็นเหตุให้ต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก บางบริษัทกลับไม่ยอมจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนซึ่งได้แก่ค่ารักษาพยาบาลตามที่ตกลง พยายามหลบเลี่ยงโดยหาเหตุและอ้างปิดกิจการ นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
โดยหลักการของกิจการประกันภัย การที่บริษัทประกันภัยจะรับประกันภัยใดๆ ต้องคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยคำนึงถึงจำนวนผู้เอาประกันที่เป็นลูกค้า วงเงินที่รับประกันภัย ตลอดจนสินทรัพย์และความสามารถของบริษัทประกันภัยที่จะรับผิดชอบ ต้องสัมพันธ์กัน ไม่ใช่เมื่อบริษัทประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเงินเป็นจำนวนมาก กลับทอดทิ้งลูกค้า
คปภ. ต้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเป็นลูกค้าที่ทำประกันไว้กับบริษัทประกันภัยอย่างเต็มที่ ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี