ในเดือนพฤษภาคมของปี พ.ศ. 2567 คาดว่า เงินดิจิทัล มูลค่า 10,000 บาท โครงการเติมเงินเข้าสู่ระบบกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ของรัฐบาลปัจจุบัน จะเริ่มมีการแจกจ่ายให้ประชาชนไทยซึ่งมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขได้รับสิทธิ ได้ทดลองใช้จับจ่ายซื้อสินค้ากันจริงๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และซบเซาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งเพิ่งจะจางไป
นายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน (เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566) ถึงแนวทางการดำเนินการตระเตรียมการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้มีหลายคนตั้งตาคอย หลายคนตั้งประเด็นคัดค้าน และหลายคนร่วมระดมความคิดวิเคราะห์ความเป็นไปได้จากประเด็นข้อสงสัย การแจกเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจ ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่แตกต่างไปจากการแจกเงิน เยียวยาเศรษฐกิจจากพิบัติภัยโรคระบาดคราวที่ผ่านมา เพราะแจกผ่านแอปเป๋าตังเช่นเดียวกัน
ความรู้สึกของประชาชนทั่วไป เมื่อได้รับฟังการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีไม่ต่างอะไรกับการซื้อความรู้สึกที่ซื้อของ แล้วได้รับของไม่ตรงปก หรือได้รับของไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเงินดิจิทัลที่จะมาแจกในโครงการ จากเดิมที่ไม่ต้องกู้ ก็ต้องกู้ ผู้ที่จะได้รับเงิน จากเดิมทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปี เป็นผู้ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินฝากธนาคารน้อยกว่า 500,000 บาท เป็นต้น สร้างความผิดหวังไม่สมกับที่ออกแรงสนับสนุนเมื่อตอนเลือกตั้งที่ผ่านมา
ประหนึ่งว่ารัฐบาลพยายามผลักดันโครงการนี้ เพราะได้หาเสียงไว้จึงต้องทำ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ราวกับว่าไปตายดาบหน้า
งบประมาณราว 500,000 ล้านบาท สำหรับโครงการนี้จะมาจาก เงินกู้ โดยจะต้องมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ผ่านขั้นตอนกระบวนพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งถือเป็นการตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่มิใช่จะทำได้ทุกกรณี เพราะมีเงื่อนไขจำกัดไว้ ให้ทำได้เพียงเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ
พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53 บัญญัติว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้เป็นกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า การแจกเงินดิจิทัลจะถือว่า เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าไม่ใช่ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการที่รัฐบาลชุดที่แล้วกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 จะเป็นกรณีที่สมเหตุสมผลอย่างชัดเจน
แม้กรณีนี้จะไม่เข้าเงื่อนไขในบริบทของกฎหมายอันเป็นข้อยกเว้นให้กระทำได้ดังกล่าวข้างต้นเลย แต่ก็ยังมีเงื่อนไข “เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” ตามความในมาตรา 20 (2) แห่งพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 อันอาจเป็นช่องทางเดียวที่โครงการเงินดิจิทัลจะใช้เป็นเหตุผลให้กระทำได้ ภายใต้การตีความตามกรอบบริบทของมาตรา 22อันเป็นบริบทขยายความในกฎหมายฉบับเดียวกันนี้
พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 20 ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (2) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (3) ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ (4) ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ
มาตรา 22 การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กระทำได้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศหรือจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ผู้มีสิทธิได้รับแจกเงินตามโครงการนี้ ในเบื้องต้นจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติสามประการหลักคือ1.เป็นประชาชนไทย อายุ 16 ปีขึ้นไป (พร้อมสมาร์ทโฟน ที่โหลดแอปเป๋าตังลงทะเบียน ยืนยันตัวตนพร้อมใช้งาน) 2.ไม่มีรายได้เกินเดือนละ 70,000 บาท และ 3.ไม่มีเงินฝากในบัญชีธนาคารรวมกันเกิน 500,000 บาท
ผู้ได้รับสิทธิสามารถนำเงินดิจิทัลที่ได้รับแจกมานี้ไปใช้เฉพาะการจับจ่ายซื้อสินค้าตามร้านค้า (เช่นเดียวกับเงินแจกเพื่อเยียวยาวิกฤตโรคระบาดของรัฐบาลที่ผ่านมา) ไม่ว่าจะเป็นบรรดาร้านค้ารถเข็น ร้านโชห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปเป๋าตัง แม้กระทั่งร้านค้าที่อยู่นอกระบบภาษี (แต่สำหรับร้านค้าที่รับต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ์ เพราะร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ จากกระทรวงการคลังได้ จะต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น) แต่ปัญหามีว่า ร้านขนาดเล็กที่ขายของโดยรับเงินดิจิทัล ไม่สามารถจะขึ้นเงินได้ทันที ต้องรออีกเป็นเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี ยังไม่แน่นอน และจะมีสายป่านที่ยาวพอจะให้รอนานขนาดนั้นได้หรือไม่ เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ยังไม่ได้พูดถึงอย่างจริงจัง
ในต่างประเทศ ได้มีโครงการแจกเงินประชาชนของประเทศ เพื่อเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนี รัฐบาลมีโครงการ Kulturpass โดยรัฐบาลจะให้เวาเชอร์ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นเงินคนละ 200 ยูโร (หรือราว 7 พันกว่าบาท) แก่ผู้ที่กำลังจะมีอายุครบ 18 ปี ในปี 2023 เพื่อให้นำไปซื้อเพลง ซื้อหนังสือ หรือซื้อตั๋วเกี่ยวกับด้านศิลปวัฒนธรรม ในแบบที่ตัวเองชอบ โดยมีเวลาให้ใช้นานถึง 2 ปี เวาเชอร์นี้จะให้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นเพื่อให้สะดวกและเก็บข้อมูลได้ เป้าหมายหลักของโครงการนี้มี 2 ประการ คือ ประการแรก ต้องการให้เด็กวัยรุ่นได้ออกไปเปิดประสบการณ์ ดูศิลปวัฒนธรรมที่มีชีวิต เพื่อลดพฤติกรรมการติดอยู่กับบ้านที่เป็นมาจากยุคโควิด-19 ระบาด และประการที่สอง ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมศิลปะและงานสร้างสรรค์ ซึ่งยังฟื้นตัวจากยุคโควิด-19 ระบาดได้ไม่ตามเป้าประสงค์ โครงการนี้จะใช้เงินประมาณ 150 ล้านยูโร(ราว 5,500 ล้านบาท)
ในขณะเดียวกันเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ประเทศสเปน รัฐบาลมีโครงการออกเวาเชอร์มูลค่า 400 ยูโร (เกือบ 1.5 หมื่นบาท) แจกเด็กที่กำลังจะมีอายุครบ 18 ปี เช่นกัน แต่ทว่า มีประชาชนสเปนผู้ใช้สิทธิ์ไม่ถึง 60% เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง และในปีเดียวกันนี้ ประเทศฝรั่งเศส ก็มีโครงการแจกเวาเชอร์มูลค่า 300 ยูโร (ราว 1.1 หมื่นบาท) ในลักษณะเดียวกัน โดยครอบคลุมไปถึงการใช้จ่ายเป็นค่าคอร์สเรียน อุปกรณ์งานศิลปะ และแพลตฟอร์มสื่อฝรั่งเศส และประเทศอิตาลี ได้จัดโครงการแจกเวาเชอร์แบบเดียวกันแต่มีมูลค่าสูงถึง 500 ยูโร (ราว 1.8 หมื่นบาท)
การแจกเงินในต่างประเทศ กับเงินดิจิทัลในประเทศไทย มีบริบทและรายละเอียดที่แตกต่างกัน คงจะเปรียบเทียบกันได้ยาก ไปๆ มาๆ การดำเนินการโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ในประเทศไทย แทบไม่ต่างอะไรกับการขายผ้าเอาหน้ารอด
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี