nn ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิด รับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เรื่องร่างฯ แผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2567-2571) และทิศทางความต้องการ การใช้งานคลื่นความถี่สำหรับการใช้งาน 5G Private Network โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ผู้ผลิตอุปกรณ์ (เวนเดอร์) และผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นราว 200 คน
โดย นายสืบศักดิ์ สืบภักดี เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า การทำแผนความถี่เป็นเรื่องสำคัญ ในบางประเทศมีการใช้ระยะเวลาเป็น 10-15 ปี โดยความเป็นจริง เป็นองค์กรหลักที่ดูแลเรื่องนี้ความถี่เป็นเรื่องที่ต้องมีการปรับปรุง (อัปเกรด) อยู่ตลอดเวลาในแต่ละยุคแต่ละสมัย พอความต้องการเปลี่ยน (ดีมานด์) กสทช.จะต้องพร้อมที่จะปรับปรุงให้ทันต่อเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน อาทิ เปลี่ยนจากระบบ 4Gไปสู่ระบบ 5G มีความต้องการความจุ (แบนด์วิธ)เพิ่มขึ้น ตอนนี้ 5G ซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีไม่หยุด ต้องการแบนด์วิธ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กสทช. ควรทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เห็นทุกคลื่นความถี่และเปิดเผยต่อสาธารณะ
“กสทช. เป็นผู้อนุญาต ความถี่ ส่วนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นผู้ลงทุน ดังนั้นสิ่งสำคัญควรมีโรดแมป คลื่นความถี่ให้เห็นทั้งสล็อต เอกชนจำเป็นต้องเห็นแผนจัดสรรคลื่นที่ชัดเจน เนื่องจากเขาต้องมีการวางแผนธุรกิจ มีโอกาสที่จะใช้ความถี่ย่านนี้ ที่ กสทช.จะเปิดให้เห็นในอนาคต ก็จะมีการแข่งขัน เช่น จะลงทุน
ระบบ 6G แต่อยากใช้คลื่นความถี่ลอตนี้ สัก 300 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ในแง่ของเขาจะประมูลปลายปีนี้ และคุณไปคาดหวังว่าปีหน้าจะมีคนมาประมูล เอาเงินมาลงทุนเลยนะ มันก็ไม่ได้ ดังนั้นก็ควรที่จะทำงานทั้งสองด้าน ให้วินวินกัน คือการเปิดเผยแผนให้เอกชนเห็นยาวๆ เอกชนจะได้ไปเตรียมแผนการลงทุนเตรียมเทคโนโลยีที่จะมาให้บริการ พอวันที่เราประกาศ หลักเกณฑ์ โอเปอเรเตอร์จะมาลงทุน” เลขาธิการสมาคม
โทรคมนาคม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีการประมูลในหลายๆ ประเทศจะรู้ว่าคลื่นความถี่แต่ละความถี่ จะหมดอายุเมื่อไหร่ 15 ปี หมดอายุ 20 ปี หมดอายุ ซึ่งจะดีกว่ามากถ้า กสทช.ทำแผนคลื่นความถี่ทั้งหมด ส่วนหากหลักเกณฑ์มาตรฐานยังไม่ชัด ซึ่งอาจจะมีตัวแทนจากต่างประเทศ ญี่ปุ่น อเมริกา จีน คือเรื่องเหล่านี้ยังไม่ต้องตกลงกับใคร เพราะไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดเรื่องเทคโนโลยี อันนี้เป็นจุดเด่นของประเทศไทยโดยเฉพาะตอนนี้มีการแข่งขันสูงด้านเทคโนโลยีมีสงครามเรื่องของการแบ่งค่าย ประเทศใดก็แล้วแต่ที่เขาไปผูกกับค่ายใดค่ายหนึ่ง จะมีเหตุผลหลายอย่าง ทางด้านผู้นำ ด้านการเมือง ด้านเทคโนโลยี แต่ไทยมีจุดยืนของตัวเองเปิดรับทุกเทคโนโลยี มันก็แย่ตรงที่เราเป็นประเทศที่ไม่ค่อยพัฒนาด้านเทคโนโลยี แต่การที่เราเปิดตัวเอง เพื่อเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะกับประเทศเรา กสทช.ออกหลักเกณฑ์เวลาประมูลแต่ละคลื่นความถี่ ดีตรงที่ไม่ระบุเทคโนโลยีไม่ระบุเวนเดอร์ มีความเป็นกลางด้านเทคโนโลยี เป็นจุดยืนที่ดี
ทั้งนี้ร่างแผนคลื่นโทรคมนาคม ดังกล่าวมีสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.ความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่จะต้องนำกลับมาประมูล แต่ความยาก เทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยน กสทช.จะนำกลับมา แล้วทำอย่างไรให้ขยายอายุใบอนุญาต จาก 15 ปี เป็น 30 ปี หรือ บางย่านความถี่ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน อาทิ 1900 MHz จะให้เป็น 15x2 ผู้ประกอบการก่อนนี้บางราย เพิ่มแบนด์วิธ ในอนาคตเอกชนจะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น 2.เวลาจะหมดสัญญาสัมปทาน ไม่ได้หมายความว่าต้องรอให้สิ้นอายุในปีนั้นๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องรอให้ถึงปี 2568 ถึงจะค่อยนำมาเปิดประมูล ซึ่ง กสทช.ควรจะทำ เออรี่อ็อคชั่น ออกประกาศหลักเกณฑ์และสามารถประมูลก่อนหมดอายุสัญญา ก็จะสามารถใช้คลื่นความถี่ได้ เฉพาะนั้น ถ้า กสทช.ไม่มีปัญหาเรื่องบอร์ด ไม่มีปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์ สิ่งที่เราทำ การทำ การประมูลล่วงหน้า (เออรี่ อ๊อกชั่น) ไม่ใช่เรื่องแปลก ดีต่อกสทช. และโอเปอเรเตอร์
ด้าน นายพิรพร ลิมปพยอม ผู้ชำนาญการทางวิศวกรรม บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส (AIS) เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นฯ ในครั้งนี้ AWN เห็นด้วยกับสำนักงาน กสทช. ในการนำคลื่นความถี่ที่จะหมดอายุในอนาคต ทั้งในส่วนของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ที่หมดอายุ ในปี 2568(850,2100,2300) และรวมไปถึงการนำความถี่ของผู้ประกอบการ awn, true, dtac ในย่านความถี่ 2100 MHz ที่จะหมดอายุในปี’70ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนได้ล่วงหน้า เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพตลาดในปัจจุบันและอีก 3-5 ปีข้างหน้า ทาง AWN ก็ไม่ติดในหลักการ และในอนาคตอยากให้สำนักงาน กสทช. มีการนำเสนอแผนโรดแมปล่วงหน้าเพื่อมาศึกษาก่อน
ด้าน นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า มีข้อเสนอแนะต่างๆ หลากหลายซึ่ง กสทช. ยอมรับ และพยายามผลักดันเรื่องโรดแมปดังกล่าว ซึ่งสิ่งที่สะท้อน อยากเห็นให้ดีกว่านี้ ในฐานะ กสทช. ได้เสนอแนะแก้ไขร่างระหว่างทาง 2-3 ปี อย่างไรก็ดีควรจะต้องมีการปรับปรุงแผน ซึ่งถ้าเป็นไปได้ถึงแม้จะมีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ2567-2571) กสทช.จะขยับไปอีก 2 ปี เพราะอย่างน้อยอุตสาหกรรมจะเห็นภาพความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการรีวิวไปแล้ว
สำหรับแผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2567- 2571) เบื้องต้น ได้พิจารณาแบ่งคลื่นความถี่เป็น 4 กลุ่มคือ 1) คลื่นความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดการอนุญาต2) คลื่นความถี่ที่ว่างและรอการจัดสรร3) คลื่นความถี่ที่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการจัดสรร 4) คลื่นความถี่ที่กำลังศึกษา และได้จัดทำกรอบระยะเวลาเบื้องต้น ในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทยโดยเตรียมจัดสรรคลื่นในกลุ่มที่ 1) และ 2) ในปี พ.ศ. 2568 ประกอบด้วย 6 ย่านความถี่ ดังนี้ 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz
สำหรับคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ และทิศทางความต้องการการใช้งานคลื่นความถี่สำหรับ 5G Private Network นั้น นอกจากจะต้องมีการศึกษาถึงความพร้อมของระบบนิเวศทั้งในและต่างประเทศ (ในย่านความถี่ 3500 MHz และ 4800 MHz) ยังมีความจำเป็นต้องศึกษาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการปรับปรุงคลื่นความถี่มาใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลด้วย ในส่วนของคลื่นความถี่ย่าน 28 GHz นั้น จำเป็นต้องศึกษาการใช้ร่วมกัน ระหว่างกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลและกิจการดาวเทียมเฉพาะส่วน GSO Gateway และ NGSO Gateway ก่อนได้รับการจัดสรร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี