เรื่อง "ปีนักษัตร" นี้ ผมกะว่าจะเขียนนานแล้ว แต่เนื่องจากคิวของผู้ต้องการให้ผมพยากรณ์ดวงชะตาเข้ามาไม่ขาดสาย ก็เลยยังไม่มีโอกาส
จนกระทั่งคิวของผู้รอการพยากรณ์ดวงชะตาหมดพอดี จึงของนำเรื่องนี้มานำเสนอให้อ่านกัน
สืบเนื่องมาแต่ที่คุณพี่สุจิตต์ วงศ์เทศ ที่เคารพของผม ซึ่งเป็นนักวิชาการอิสระ ได้เขียนบทความไว้ในหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559 เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดนับปีนักษัตรของไทย ดังนี้
(คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ)
"ปีวอก(ปีลิง) เริ่มแล้วตั้งแต่เดือนอ้าย (เดือน 1) เมื่อหลังลอยกระทงปีที่แล้ว พ.ศ.2558 ถือเป็นสิ้นปีมะแม(แพะ) เพราะปีนักษัตรเปลี่ยนตอนเดือนอ้าย (ราวพฤศจิกายน – ธันวาคม)ของทุกปี เนื่องจากเป็นปีใหม่สุวรรณภูมิ ในอุษาคเนย์ ซึ่งมีไทยอยู่ด้วย
ส่วนสงกรานต์(เมษายน)เป็นปีใหม่แขก(อินเดีย) ไม่ไทย แต่ถูกตีขลุมเป็นปีใหม่ไทย
ที่ต้องเขียนเรื่องนี้ซ้ำอีก เพราะนั่งหนาวเช้าตรู่หลัง 06.00 น.วันพุธที่ 27 มกราคม 2559 ได้ยินพิธีกรโทรทัศน์รายงานข่าวมาไกลๆฟังไม่ค่อยถนัด ว่ายังเป็นปีมะแม (แพะ) จะเป็นปีวอก (ลิง)ตอนเมษายน หมายถึงช่วงสงกรานต์
นี่เป็นปัญหาระบบการศึกษาไทย ที่ชอบอ้างวัฒนธรรมไทย และ ความเป็นไทย เหนือกว่าวัฒนธรรมอื่น และความเป็นอื่น แต่ไม่รู้จักตัวเอง
(บทความของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ในหนังสือพิมพ์มติชน)
เดือนอ้าย แปลว่า เดือนที่หนึ่ง หรือเดือนแรกของ 12 เดือน(ใน 1 ปี) ตามปฎิทินจันทรคติที่ใช้กันอยู่ในสุวรรณภูมิ และไทยมาแต่ดั้งเดิม (เมื่อเทียบปฎิทินสากลทางสุริยคติ จะอยู่ราวหลังกลางเดือนพฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงเดือนธันวาคม)
หมายถึงเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ เริ่มปีนักษัตรใหม่ ตั้งแต่หลังลอยกระทงเดือน 12
ปีนักษัตร ได้แก่ ชวด, ฉลู, ขาล, เถาะ ฯลฯ มีรูปประจำปีเป็นสัตว์ต่างๆ เช่น ชวด หนู , ฉลู วัว , ขาล เสือ ,เถาะ กระต่าย ฯลฯ
เป็นวัฒนธรรมจากตะวันออกกลาง เช่นอิหร่าน (เปอร์เซีย) ผ่านไปทางจีน เข้าสู่อุษาคเนย์ ถึงไทย (ปีนักษัตรไม่มีในอินเดีย)
(สงกรานต์อยู่ในเดือนห้าทางจันทรคติ เป็นช่วงเปลี่ยนราศีตามปฎิทินสุริยคติ จากราศีมีนสู่ราศีเมษ (ถือเป็นมหาสงกรานต์) ไม่เกี่ยวกับปีนักษัตร เพราะไม่เคยมีเทียบสากลเป็นขึ้นปีใหม่ของอินเดีย และไทยและเพื่อนบ้านรับสงกรานต์จากอินเดีย แล้วต่างเหมาเป็นปีใหม่ของตน)”
ทั้งหมดนั้นก็คือบทความที่ คุณพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เขียนเอาไว้
ผมเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ในแง่ของปฎิทินทั้งสองระบบ และ ความเชื่อในเรื่องปีนักษัตร ที่ใกล้ชิดกับคนไทยมาก จึงขอยืมบทความของคุณพี่สุจิตต์ มาอ้างอิง ณ ที่นี้ หวังว่า คุณพี่สุจิตต์ คงจะไม่ว่ากระไรนะครับ
ปฎิทินในปัจจุบันนี้ แบ่งออกเป็นสองระบบก็คือ ปฎิทินทางสุริยคติ ที่มีพื้นฐานมาจากโลกตะวันตก และ ปฎิทินทางจันทรคติ ที่ใช้กันในโลกตะวันออกส่วนใหญ่ เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย จีน พม่า ไทย เป็นต้น
ปฎิทินแบบสุริยคติ จะยึดตามการเปลี่ยนแปลงของ ดวงอาทิตย์เป็นหลัก โดยกำหนดว่า โลกหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ใช้เวลา 23 ชั่วโมง 56 นาที 4.091 วินาที จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวเลข 24 ชั่วโมงเป๊ะ
นอกจากนี้ โลกโคจรหมุนรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบจะใช้เวลา 365.25636042 วัน ซึ่งจะกำหนดให้เท่ากับ 1 ปี
ดังนั้น 1 ปีจึงไม่เท่ากับ 365 วันเป๊ะๆ แต่จะเท่ากับ 365 วัน กับเศษหนึ่งส่วนสี่ของวัน ซึ่งเมื่อทบรวมกันไปครบ 4 ปี ก็จะได้วันใหม่แถมเข้ามาอีก 1 วัน ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ทุกๆ 4 ปีมี 29 วัน เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน (LEAP YEAR) เพื่อให้สอดคล้องกับทางดาราศาสตร์ และ ฤดูกาล
ในขณะที่การกำหนดวันต่างๆตามปฎิทินทางจันทรคติ จะคิดจากการที่ดวงจันทร์หมุนรอบโลก 1 รอบในเวลา 29.5 วัน แบบที่เรียกว่า ไซโนดิก เดย์ (SYNODIC DAY) ซึ่งจะทำให้เกิดข้างขึ้น(ปูรณมี) และ ข้างแรม(อมาวสี) อันจะนำไปสู่การกำหนดวันพระ ทั้งวันพระเล็ก(ประมาณขึ้น ๘ ค่ำ และ แรม 8 ค่ำ) และ วันพระใหญ่(ประมาณ ขึ้น 15 ค่ำ และ แรม 15 ค่ำ)
ประเด็นที่ผมเขียนในวันนี้ก็คือ เราจะถือเอาวันใดเป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร ระหว่าง แบบแรกตามที่คุณพี่สุจิตต์ ได้เขียนไว้ข้างต้น อีกแบบก็คือ การกำหนดให้เริ่มต้นปีนักษัตรในวันสงกรานต์ เพื่อว่าเวลาแจ้งเกิดที่อำเภอจะได้อ้างอิงปีนักษัตรได้อย่างถูกต้อง
และเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ผมจึงลองสืบค้นดู ก็ได้พบหนังสือทางราชการจากกรมการปกครอง ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ที่ลงนามโดย นายสุวัฒน์ ตันประวัติ รองอธิบดีรักษาการแทนอธิบดี ที่ชี้แจงเรื่องการกำหนดวันเปลี่ยนปีนักษัตร เอาไว้ดังนี้
(หนังสือราชการจากกรมการปกครอง)
"กรมการปกครองขอเรียนว่า สำนักทะเบียนกลางได้กำหนดแนวทางปฎิบัติเรื่องการลงรายการวันเดือนปีทางจันทรคติในเอกสารการทะเบียนราษฎรตามหนังสือที่ มท ๐๓๑๐.๑/ว ๔ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ โดยยึดถือตามปฎิทินหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานแก่ผู้ที่ไปลงนามถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี .......................
...................ปฎิทินหลวงกำหนดให้วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรจากปีมะเมีย เป็นปีมะแม"
นั่นคือหนังสือจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ก็ขอให้เข้าใจตรงกันตามนี้ด้วยว่า ตามปฎิทินหลวง ให้นับเอา วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนหนึ่ง ตามปฎิทินจันทรคติ ว่าเป็นวันแรกของการเปลี่ยนปีนักษัตร
ไม่ใช่วันสงกรานต์
พิธีกรทางโทรทัศน์จะได้เอาข้อมูลนี้ไปประกาศให้ถูกต้องด้วยในปีต่อๆไป
ขอขอบคุณพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ เอาไว้ ณ ที่นี้ด้วย ที่ได้หยิบประเด็นเรื่องนี้มาถกกัน เพื่อจะได้มีบรรทัดฐานเดียวกันทั่วประเทศในการนับวันเปลี่ยนปีนักษัตรในปีถัดไป
สัปดาห์หน้า ผมจะพยากรณ์ดวงชะตาตามที่ผ่านผู้อ่านได้เขียนมาถามต่อไป จะเป็นคิวของ คุณป้อมครับ
สวัสดีครับ
(อย่าลืมติดตามอ่าน คอลัมน์ “ซอกซอนตะลอนไป” ที่ผมเขียนอีกคอลัมน์หนึ่งด้วยนะครับ )
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี