สวัสดีครับท่านผู้อ่าน สำหรับคอลัมน์ พบหมอ มศว ในครั้งนี้ จะมาเล่าถึงชีวิตการเป็นนิสิตแพทย์ นะครับว่ากว่า จะจบเป็นหมอกันมาได้ ต้องเจอกับการเรียนสุดสาหัสอย่างไร ได้ให้ทุกท่านได้พอเห็นภาพการเรียนการสอนในรั้วโรงเรียนแพทย์กันนะครับ
ขึ้นชื่อว่า "แพทย์" สำหรับสังคมไทยแล้ว แพทย์เป็นสาขาอาชีพอันดับต้นๆ ที่เด็กๆ หลายๆ คนใฝ่ฝัน แม้กระทั่งผู้ปกครองของเด็กๆ เหล่านั้น ก็ใฝ่ฝันที่จะให้เด็กของตนได้เป็น
หลายคนอยากเป็นเพราะชอบในสาขาอาชีพนี้ ชอบช่วยเหลือผู้คน หรือบางคนอยากเป็นเพราะตามสังคมเค้านิยม หรือเพราะชื่อเสียง รายได้ ความมั่นคง ที่ได้ยินกันต่อๆ มาก็ตาม
บทความนี้จะเล่าถึงความเป็นมาของการเรียนการสอน กว่าจะมีหมอ 1 คนต้องมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง
สำหรับการเรียนการสอนโรงเรียนแพทย์ทุกสถาบันส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 2 ช่วงชั้น คือ
1.ชั้น Pre-Clinic 2. ชั้น Clinic
ชั้น Pre-clinic หรือชั้นเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นสู่การเรียนการสอนชั้น Clinic ในโรงพยาบาล จะประกอบด้วยชั้น ปีที่ 1 -3 โดย
ชั้นปีที่ 1 จะเป็นการเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เนื้อหามีความคล้ายคลึง สมัยมัธยมฯ ปูความพร้อมก่อนการเรียนวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่จะลึกขึ้น นอกจากเนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว จะมีการเรียนการสอนของวิชามหาลัยเพื่อเสริมสร้างทักษะและความสามารถให้ครบทุกด้าน อีกทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมของคณะ และกิจกรรมของมหาลัย เพื่อให้นิสิตแพทย์ทุกคนรู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น การจัดการเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะเมื่อเราจบไปแล้ว ในความเป็นจริง แพทย์เองไม่สามารถทำงานโดยลำพังได้ แพทย์จะต้องอาศัยเพื่อนร่วมสาขาวิทย์สุขภาพ และเพื่อนร่วมงานสาขาอื่นๆ เพื่อให้งานทุกอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดี
ชั้นปีที่ 2 สำหรับชั้นปีนี้ เวลาส่วนใหญ่จะใช้อยู่กับห้องเรียน Lecture และการเรียนกับอาจารย์ใหญ่ เนื้อหาการเรียนเรียกว่าแทบจะไม่มีอะไรคล้ายคลึงกับช่วงชั้นก่อนๆ ที่ผ่านมา การเรียนการสอนจะเรียนเป็นระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ กลไกปกติมนุษย์ กลไกการเกิดโรค เรียนเรื่องยา การออกฤทธิ์ของยา ผลข้างเคียงต่าง ๆ แต่ก็ยังมีส่วนน้อยที่จะเป็นวิชาของมหาลัย ปีนี้เป็นปีที่นิสิตแพทย์ทุกคนเริ่มสัมผัสได้ถึงความเครียด ความเข้มข้นของการเรียน การต้องอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนมากขึ้น เพราะการสอบของชั้นปีนี้ จะมีการสอบบ่อยมากขึ้น เรียกว่าได้ เกือบทุกเดือนถึงสองเดือน เมื่อจบระบบใดระบบหนึ่งก็จะสอบเลย ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปีแรกพอสมควร
ชั้นปีที่ 3 ชั้นปีนี้บรรยากาศการเรียนจะไม่แตกต่างไปจากชั้นปีที่ 2 มากนัก แต่บรรยากาศการเรียนก็จะผ่อนคลายขึ้น นิสิตแพทย์ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มปรับตัวได้ แต่ก็อาจจะมีเพื่อนบางคนที่ไม่ชอบบรรยากาศการเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน บางคนยอมแพ้ บางคนมีเพื่อนคอยให้คำแนะนำก็สามารถประคับประคองให้ตัวเองผ่านพ้นไปได้ ปีนี้จะเป็นปีที่นิสิตแพทย์ทุกคนจะต้องเตรียมตัวเผื่อสอบใบประกอบโรคศิลป์ ( National license ) ซึ่งจัดโดยแพทยสภา โดยจะต้องสอบให้ผ่านถึง 3 ขั้นด้วยกันคือตอนชั้นปีที่ 3, 5 และ 6
ชั้นปีที่ 4 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งคือเราจะการเป็นนิสิตแพทย์ใส่ชุดกาวน์ปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยจริง ดูแลผู้ป่วยจริงๆ ทุกคนจะมีผู้ป่วยที่ตนเองต้องรับผิดชอบ ทุกเช้าต้องมาเดินราวน์วอร์ด (การเดินเยี่ยมผู้ป่วย ติดตามอาการรักษาผู้ป่วยที่พักอยู่ในหอผู้ป่วยใน) บางเคสอาจจะมีแผลหรือหัตถการให้ทำ เช่น ล้างแผล เจาะเลือด เป็นต้น หลังจากนั้นก็จะต้องไปเข้าห้องเรียน บางวันก็จะมี Lecture บางวันก็จะเป็น กิจกรรมของพี่ ๆแพทย์ใช้ทุน ที่จะมานำเสนอข้อมูลทางงานวิจัย การอ่านวารสาร การรายงานเคสที่น่าสนใจ
ชั้นปีที่ 5 ลักษณะการเรียนการสอนจะคล้ายกับชั้นปีที่ 4 แต่จะเป็นวอร์ดที่ไม่ใช่วอร์ด Major (สูติกรรม, ศัลยกรรม, อายุรกรรม, กุมารเวชกรรม) เข้ามาเรียนในช่วงชั้นนี้ด้วย เช่น วอร์ด โสติ สอ นาสิก จักษุ เป็นต้น ปีนี้ก็จะมีการเตรียมตัวสอบใบประกอบโรคศิลป์ขั้นที่ 2 ซึ่งเป็นลักษณะการสอบเป็นข้อ Choice ทดสอบความรู้พื้นฐานทางคลินิค
ชั้นปีที่ 6 ชั้นปีสุดท้ายของการเป็นนิสิตแพทย์ ชั้นปีนี้จะมีชื่อเฉพาะเรียกว่า "Extern" เป็นชั้นปีที่จะนำความรู้ทั้งหมด มาปฏิบัติใช้จริง ชั้นปีนี้เราจะได้ทำหน้าที่แพทย์เรียกได้แทบว่าจะเป็นแพทย์ที่จบแล้วจริงๆ เลยก็ว่าได้ เพราะจะต้องรับเคสดูเคสเอง อยู่เวรก็จะถูกตามเป็นคนแรก ให้เราได้มีโอกาสประเมิน และคิดแผนการรักษา โดยจะมีอาจารย์และพี่แพทย์ใช้ทุนคอยกำกับอยู่ ช่วงปีนี้จะเป็นปีที่ทุกคนจะได้ใช้ชีวิตเหมือนกับตอนจบไปจริงๆ เพื่อให้เราได้รู้จักตนเองมากขึ้น รู้ความสามารถของตนเอง หาจุดบกพร่องที่ต้องรีบแก้ไขก่อนจะจบออกไปทำหน้าที่เป็นแพทย์ และเป็นปีที่ต้องสอบใบประกอโรคศิลป์เช่นกัน หากปีนี้ไม่ผ่าน ก็จะไม่สามารถสั่งจ่ายยาหรือทำการรักษาใด ๆ ได้ แม้ว่าจะเรียนจบแพทย์แล้วก็ตาม
จะเห็นได้ว่า กว่าจะจบมาเป็นแพทย์ เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และก็ไม่ได้ยากจนเกินไป การเรียนการสอน จะประกอบจากทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียน เพื่อที่จะให้แพทย์ ได้มีทั้งความรู้และคุณธรรมเพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ของตน รับใช้สังคมให้ดีที่สุด
นพ.ปรัชญา มานพ
แพทย์ใช้ทุนภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ศิษย์เก่าแพทย์ มศว
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ ผ่าน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ มศว
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 283-212990-9
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี