ในรอบร้อยปีที่ผ่านมานี้ มีนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ไม่น้อยที่จากโลกนี้ไป ในจำนวนนี้มีอยู่ไม่กี่ท่าน ที่แม้ตายไปแล้วเสมือนยังอยู่ เพราะผลงานของท่าน การดำรงชีวิตของท่าน ส่งให้เกียรติยศเกียรติภูมิของท่าน สูงเด่น เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และรวมทั้งนักเขียน
อิศรา อมันตกุล เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เมื่อท่านเสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2512 เพื่อนๆ น้องๆ ได้พยายามก่อตั้ง มูลนิธิอิศรา ขึ้นเพื่อรำลึกถึง (ผมใช้คำว่าพยายาม เนื่องจากกว่าจะสำเร็จเป็นมูลนิธิก็ใช้เวลาถึง 2 ปี เพราะต้องหาทุนดำเนินการก่อตั้ง)
และในฐานะที่ท่านเป็นนายกสมาคมนักข่าวคนแรก (ปี 2499 - 2500 - 2501) ในแต่ละปีที่สมาคมนักข่าวมอบรางวัลข่าว และภาพดีเด่น จึงให้เรียกรางวัลแห่งเกียรติยศนั้น เป็น ”รางวัลอิศราฯ”
ประธานมูลนิธิคนแรกคือ สนิท เอกชัย ช่วงนั้นท่านเป็นบรรณาธิการอยู่ที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
มูลนิธิอิศราฯ มาโด่งดังเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ก็เมื่อ ประสงค์ เลิศรัตนะวิสุทธิ์ นักข่าวมือฉมังออกจากหนังสือพิมพ์มติชน มาประจำที่มูลนิธิฯและก่อตั้งเป็นสำนักข่าวอิศรา ขุด เจาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น และได้เงินสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งน่าจะมากโขอยู่ เพราะสำนักข่าวจากภูมิภาคยังได้อาศัยขอเงินสนับสนุนจากมูนิธิอิศราฯ จัดกิจกรรมโน่นนี่อยู่ทุกปี (ต่างกับการก่อตั้งมูลนิธิอิศราฯ ที่เล่าแต่แรกว่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก)
การดำรงอยู่ และการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิอิศราฯ เป็นไปด้วยดี และคงจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถตั้งมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ให้การศึกษา ให้ความรู้ แก่บรรดานักข่าวทั้งหลาย ซึ่งแม้ว่าจะผ่านการศึกษาจาก คณะวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ หรือวิชาการหนังสือพิมพ์ จากสถาบันใดๆก็ตาม ก็คงจะยังไม่พอ
เพราะทุกวันนี้ เสียงสะท้อนของประชาชนทั้งหลาย ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อสื่อมวลชนทั้งหลายหนาหูยิ่งขึ้นกว่าสมัยที่ยังไม่มีการสอน การอบรม วิชาการด้านวารสาร ด้านสื่อมวลชน ด้านการหนังสือพิมพ์เสียอีก
และมาตอนนี้ มีการตั้งบริษัท อิศราไทยเพรสเดเวลอปเมนต์ขึ้นมาอีก
บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ปีหนึ่งผ่านมาแล้ว โดยผู้ถือหุ้น 4 รายด้วยกันคือ มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชน ถือหุ้น 99,997 หุ้น ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ 1 หุ้น
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี 1 หุ้น และ นาตยา เชษฐโชติรส 1 หุ้น
แน่นอนการจัดตั้งบริษัท ขึ้นมาก็ต้องแสวงหาผลกำไร เช่นเดียวกับบริษัท ทั้งหลายทั้งปวง ไม่เว้นแม้บริษัทอิศราไทยเพรสเดเวลอปเมนต์ ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้
ปัญหาที่ชวนให้คิดก็คือ มูลนิธิอิศรา กับ สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เกี่ยวข้องกันอย่างไรหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้องกัน เกี่ยวข้องอย่างไร จะพัฒนาสื่อ ใช้มูลนิธิอิศราพัฒนาไม่ได้หรือ มันไม่คล่องตัวในการจับจ่ายใช้สอยหรืออย่างไร
และทำไมต้องตั้งบริษัท อิศราไทยเพรสฯขึ้นมาอีก เพื่อให้จับจ่ายใช้สอยง่ายขึ้น หรือเพื่อแสวงหากำไร
ท่านประธานกรรมการ กรรมการมูลนิธิอิศรา เห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่ ?
ถ้าหากหวังจะเชิดชู อิศรา อมันตกุล ทำไมไม่บอกกล่าว นักข่าว นักหนังสือพิมพ์คนอื่นๆ ให้ช่วยกันเสียสละควักเงินออกมาถือหุ้นด้วย
ทำไมจึงจำกัดวงอยู่เพียง 3 คนเท่านั้น
ที่สำคัญการใช้สถานที่ คือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เป็นที่ทำการของบริษัทนั้น ผมเชื่อว่า จิตวิญาณของ อิศรา อมันตกุล จะต้องไม่เห็นดีเห็นงามด้วยอย่างแน่นอน
เอาว่า เราเคยด่า เราเคยวิพากษ์วิจารณ์ ลูกหลานทหารที่เอาบ้านพักของพ่อ มาตั้งบริษัทรับงานโน่นนี่แสวงหากำไร ระดับคุณธรรมที่ไม่ค่อยจะลึกซึ้งอย่างเราๆยังไม่เห็นด้วย
คิดหรือว่า บุรุษอย่าง อิศรา อมันตกุล จะเห็นดีเห็นงาม
อิศรา อมันตกุล เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2512 นาน 54 ปีมาแล้ว ท่านผู้เป็นใหญ่ในวงการหนังสือพิมพ์ก็ดี มูลนิธิก็ดี สถาบันก็ดี จะทราบซึ้งถึงจิตวิญญาณ วัตรปฏิบัติ ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ของ อิศรา อมันตกุล สักเท่าไหร่ ผมก็ไม่แน่ใจนัก !
สำเริง คำพะอุ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี