สำหรับใครหลายคนแล้ว โรงหนัง ไม่ใช่เพียงสถานที่สำหรับชมภาพยนตร์เท่านั้น แต่เต็มไปด้วยความทรงจำหลากหลาย อาจเป็นฉากเริ่มของความรัก จูบแรกอาจเกิดขึ้นที่นี่ ทุกอณูความทรงจำอวลร่ำอยู่ในอาคารที่เรียกว่า “โรงหนัง”
สำหรับคนต่างจังหวัดแล้วรู้จักมักคุ้นกับหนังกลางแปลง มากกว่าโรงหนังหรูหราแอร์เย็นฉ่ำในเมือง เพราะหนังกลางแปลงเร่ฉายทั่วทุกถิ่น ไปถึงหมู่บ้านไหนก็อุ้มลูกจูงหลานมานั่งดู กินขนมขบเคี้ยวแบบไทยๆ อย่างอ้อยขวั้น ถั่วต้ม และปลาหมึกย่าง สารพัดของอร่อยรอบด้าน
สรุปว่าโรงหนังคือความบันเทิงของชาวโลกมาช้านาน ส่วนนานแค่ไหนนั้นคงต้องนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของการเกิดภาพยนตร์เลยนั่นแหละ ภาพยนตร์ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2369 ซึ่งเป็นช่วงรัชกาลที่สาม โดยหนุ่มฝรั่งเศสชื่อ โจเซฟ เนียฟฟอร์ เป็นผู้ถ่ายภาพนิ่งและนำภาพนิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอด ผู้ที่คิดค้นต้นแบบของหนังคือโทมัส อัลวา เอดิสัน กับเพื่อนร่วมงานชื่อวิลเลียม เคนเนดี้ ในปี พค.ศ.2432 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนนั้นเรียกเจ้าเครื่องมือหน้าตาประหลาดนี้ว่าเครื่องคิเนโตสโคป
ศูนย์กลางการสร้างภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในอเมริกานี่เอง ชื่อ “ฮอลลีวู้ด” กลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ในหมู่เซียนหนังทั้งหลาย รวมถึงผู้ที่อยากเป็นดาราจอเงินมาจนถึงปัจจุบัน สมัยก่อนการดูหนังได้รับความนิยมมากถึงขนาดมีโรงหนังแบบไดร์ฟอินทั่วอเมริกา
โรงหนังไดร์ฟอินในอเมริกาต่อยอดมาจากโรงหนังโรงใหญ่ๆ นี่แหละ วิถีอเมริกันไม่มีการฝากลูกไว้กับญาติแบบบ้านเรา เวลาพ่อแม่หนีไปทำหนุ่มทำสาว ตามกฎหมายแล้วจะต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็กคิดเป็นรายชั่วโมง บางครอบครัวไม่สามารถจ่ายในส่วนนี้ได้เลยพาลูกไปดูหนังด้วย แต่เด็กก็คือเด็ก บางทีร้องไห้งอแงสร้างความรำคาญให้คนดูอื่นๆ เลยมีคนคิดว่าทำอย่างไรหนอถึงจะดูหนังได้ทั้งครอบครัวอย่างสนุกสุขสันต์ ตอนนั้นวิดีโออะไรทั้งหลายทั้งปวงยังไม่เกิด
พ่อหนุ่มอเมริกันหัวใสรายหนึ่งชื่อ ริชาร์ด โฮลิ่งเฮด คิดนวัติกรรมใหม่ในการดูหนัง โดยผสมผสานความเป็นครอบครัวและรถยนต์เข้าด้วยกัน เพราะช่วง พ.ศ.2476 วัฒนธรรมอเมริกันคือวัฒนธรรมการอวดรถยนต์ โดยเฉพาะรถอเมริกันคันโตๆ ซึ่งการมีรถยนต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของอเมริกันดรีม นั่นคือมีบ้านหลังใหญ่ มีครอบครัว ลูกสามคน หมาอีกหนึ่งตัว รถยนต์สองคัน และภรรยาอยู่บ้านดูแลครอบครัว
ริชาร์ดมีพื้นฐานธุรกิจรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว จึงประยุกต์ทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน โดยฉายภาพยนตร์ในรูปแบบโรงภาพยนตร์กลางแจ้งที่สามารถขับรถเข้ามาดูได้ และเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์แบบ “Drive-in” ครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์
หนแรกคิดค่าบริการ 25 เซนต์ต่อรถ 1 คัน และเก็บค่าเข้าชมเป็นรายหัวอีกคนละ 25 เซนต์ด้วย สถานที่ฉายภาพยนตร์นั้น มีช่องจอดรถกว่า 400 คัน จอภาพยนตร์ใหญ่ยักษ์สูง 12x15 เมตร และฉายเรื่อง “Wife Beware” เป็นเรื่องแรก
โรงหนังแบบไดร์ฟอินจึงเป็นความบันเทิงในครอบครัวก่อนยุควิดีโอ พ่อแม่พาลูกๆ ไปนั่งดูหนังโดยจอดรถในที่ให้จอด แน่นอนว่ามีป๊อบคอร์นกินอย่างจุใจพร้อมโคคาโคล่าซาบซ่าถึงทรวง สำหรับอเมริกันแล้ว เป๊บซี่ไม่อาจครองใจได้เท่าโคคาโคล่า โคลาโคล่าหรือโค๊กจึงเคียงคู่มากับความบันเทิงในโรงภาพยนตร์ทั้งแบบโรงใหญ่และโรงแบบไดร์ฟอินมายาวนาน
เด็กอเมริกันรุ่นเก่ารู้จักสุนทรียรสของการดูหนังในโรงแบบไดร์ฟอินดี แถมเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น หนุ่มอเมริกันรุ่นกระทงเริ่มขับรถ ก็พาสาวไปโฉบฉายที่โรงหนังไดร์ฟอินนี่แหละ เพราะได้โชว์รถกับอวดหญิงไปด้วยในตัว
ช่วงศตวรรษ 1960 ในอเมริกามีโรงหนังไดร์ฟอินอยู่แทบทุกหัวระแหง คือมีประมาณ 4000 แห่ง แต่ต่อมาวิดีโอทำให้โรงหนังทั้งไดร์ฟอินและโรงหนังขนาดใหญ่ขาดทุนยับเยิน เกิดธุรกิจเช่าวิดีโอมาดูที่บ้านแทน หลายคนคงเติบโตทันและรู้จักธุรกิจให้เช่าวิดีโออย่างบล็อคบัสเตอร์เป็นอย่างดี ซึ่งเด็กๆ รุ่นหลังไม่รู้จักเสียแล้วว่าคืออะไร เพราะสูญพันธุ์ไปจากอเมริกาอย่างน่าเสียดาย คงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ในยุคโน้นธุรกิจวิดีโอทำกำไรมหาศาล ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ซบเซาไปตามกัน บางแห่งจึงต้องปิดตัวลง
โรงหนังไดร์ฟอินยังพอเหลือให้เห็นในอเมริกาบ้าง แต่น้อยอย่างน่าใจหาย เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ ทำให้เกิดจุดพลิกผันที่ทำให้คนดูต้องปรับเปลี่ยนไปรับความบันเทิงในช่องทางอื่น
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี