เรื่องราววันนี้จะเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ระหว่างคนและสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะพฤติกรรมการกิน มีการพูดถึงว่า “หากบริโภคปลาร้าดิบแล้วจะทำให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับ” เรื่องนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด วันนี้เรามาคุยกันครับ
ก่อนอื่นคงต้องแยกเป็นสองเรื่องคือ 1.ปลาร้าคืออะไร และ2.ปลาร้ามีความเกี่ยวข้องกับการติดโรคพยาธิใบไม้ตับหรือไม่
ประเด็นแรกปลาร้าคืออะไร?
ปลาร้า หรือ ปลาแดก เป็นอาหารท้องถิ่นที่สำคัญในบ้านเราโดยเฉพาะในภาคอีสาน มีสีน้ำตาลหรือสีเหลือง มีรสเค็ม และกลมกล่อมจากเนื้อปลา
ร้า หมายถึง อ่อนนิ่ม คือปลาที่หมักแล้วจะมีลำตัวอ่อนนิ่มส่วนปลาแดก เป็นคำท้องถิ่นของคนอีสาน แดก หมายถึง การยัดใส่ให้แน่นเพื่อให้ได้ปริมาณมากที่สุด เช่น การยัดใส่เข้าไปในไห หรืออาจเหมือนกิริยาของการกินหรือการรับประทานก็เป็นได้
ปลาร้า เป็นกระบวนการเก็บและถนอมอาหาร ซึ่งถือเป็น“ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ของคนในอดีต โดยนำปลาที่หาได้จำนวนมากในช่วงนั้นๆ มาหมักด้วยเกลือและรำข้าว แล้วเก็บรักษาในภาชนะปิดนานตั้งแต่ 7 เดือน ถึงเป็นปี ซึ่งอาศัยความเข้มข้นของเกลือในการถนอมอาหารและดึงน้ำออกจากเซลล์ของเชื้อโรค (ที่อาจปนเข้าไป) ทำให้เซลล์ของเชื้อโรคเหี่ยวและตาย ซึ่งยังถือเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปกระทบกระบวนการเปลี่ยนแปลงอันยาวนานของปลาอีกด้วย
ปลาร้าที่มีความเข้มข้นของเกลือสูงเพียงพอและใช้เวลาหมักยาวนานเพียงพอ จะสามารถทำลายเชื้อโรคที่อาจปะปนมาในปลานั้นได้แต่หากเป็นปลาร้าที่ไม่ได้มาตรฐาน กล่าวคือ เป็นปลาที่มีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับปนอยู่ หรือมีขั้นตอนการหมักที่ใช้ความเข้มข้นของเกลือไม่เพียงพอ รวมถึงใช้ระยะเวลาการหมักไม่นานแล้วละก็ จะมีโอกาสติดโรคนี้หรือไม่ เราไปดูประเด็นที่ 2 กันครับ
ประเด็นที่สอง ปลาร้ามีความเกี่ยวข้องกับการติดโรคพยาธิใบไม้ตับหรือไม่?
เรื่องพยาธิใบไม้ตับนี้ รศ.น.สพ.ดร.ปิยนันท์ ทวีถาวรสวัสดิ์ จาก หน่วยปรสิตวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลที่น่ารู้ดังนี้ครับ
พยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchis viverrini) พบมากในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ลาว เขมร และเวียดนามใต้
พยาธิใบไม้ในตับนี้ สามารถเข้าสู่ร่างกายทั้งคนและสัตว์ โดยการบริโภคปลาน้ำจืดตระกูลปลาเกล็ดขาว (cyprinoid fish) ที่มีตัวอ่อนของพยาธิระยะติดต่อ (metacercaria) “แบบไม่ปรุงสุก” เข้าไป
สำหรับประเทศไทยนั้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีรายงานการพบผู้ป่วยที่ติดพยาธิชนิดนี้เป็นจำนวนมาก โดยมี คน สุนัข และแมว เป็นโฮสต์แท้ ซึ่งก่อโรคได้ทั้งในคนและสัตว์เลี้ยง โดยที่ในวงชีวิตของพยาธิใบไม้ตับนั้น ยังต้องการโฮสต์กึ่งกลาง 2 ตัวโฮสต์กึ่งกลางตัวที่ 1 คือ หอยน้ำจืด สกุล Bithynia และโฮสต์กึ่งกลางตัวที่ 2 คือ ปลาเกล็ดขาว (cyprinoid fish) เช่น ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาแม่สะแด้ง และปลาไน เป็นต้น
วงชีวิตของพยาธิใบไม้ตับ เริ่มต้นจาก พยาธิตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ที่ท่อน้ำดีของโฮสต์แท้ (คน สุนัข หรือแมว) จะปล่อยไข่พยาธิปนออกมากับอุจจาระ ถ้าโฮสต์แท้ไปอุจจาระใกล้ๆ แหล่งน้ำที่มีหอยน้ำจืดสกุล Bithynia อยู่
ไข่ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ตัวอ่อนที่อยู่ในไข่จะออกจากไข่ถูกหอยชนิดนี้กินเข้าไป มีการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะที่สอง สาม และสี่
จากนั้นตัวอ่อนระยะที่ 4 จะออกจากหอย ตัวอ่อนจะไชเข้าสู่ปลาน้ำจืด และเจริญไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 5 หรือตัวอ่อนระยะติดต่ออยู่ภายในปลา
เมื่อ สุนัข แมว หรือ คน บริโภคปลาน้ำจืดดังกล่าว ตัวอ่อนที่อยู่ในปลาจะเคลื่อนที่ไปอาศัยบริเวณท่อน้ำดีและเจริญเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน
ความก่อโรคในคน มีโอกาสทำให้เป็นมะเร็งท่อน้ำดี ส่วนในสัตว์ยังไม่มีรายงานการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีในสุนัขและแมว
การตรวจวินิจฉัย ทำได้โดยการตรวจอุจจาระ ซึ่งสามารถตรวจพบไข่พยาธิในอุจจาระของผู้ป่วย หรือจากมูลสัตว์ ทั้งนี้จากการผ่าซาก สามารถพบตัวเต็มวัยที่ท่อน้ำดีในสุนัขและแมวด้วย
จะเห็นว่าพยาธิใบไม้ตับนั้น มีปลาน้ำจืดเป็นตัวกลาง และสามารถก่อโรคได้ทั้งในคน สุนัข และแมว จากการ “กินปลาที่มีตัวอ่อนของพยาธิ (แบบไม่สุก)” ดังนั้น “การบริโภคปลาน้ำจืดที่ไม่สุก” ก็อาจเป็นช่องทางการติดโรคนี้ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกัน เราจึงควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุก จะทำให้เราปลอดภัยจากโรคติดเชื้อต่างๆ รวมถึงโรคพยาธิได้ครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี