สองตอนที่ผ่านมา เราได้คุยกันถึงสิ่งแปลกปลอม อาการ ของสัตว์เลี้ยงที่เผลอกลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าไป รวมถึงการตรวจวินิจฉัยการอุดตันกันไปแล้ว วันนี้เรามาคุยกันเรื่องปัญหาจากความตะกละของสัตว์เลี้ยงกันต่อครับ
ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เผลอกินเข้าไปแล้ว มีแนวโน้มของการอุดตันที่กระเพาะอาหาร การใช้กล้องส่องตรวจเพื่อคีบออกมา ก็มักจะเป็นทางเลือกแรก แต่หากใช้การคีบออกไม่สำเร็จแล้ว การเปิดผ่าช่องท้องก็จะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะทำการแก้ไขครับ
- หากเป็นสิ่งแปลกปลอมจำพวกไม้เสียบลูกชิ้น เข็มเย็บผ้าหรือสิ่งแปลกปลอมที่มีคม ที่สุนัขกลืนผ่านเข้าไปในกระเพาะอาหารแล้ว ทางเลือกอื่นในการแก้ไขก็อาจเหลือน้อยลง การรอคอยให้สุนัขขับถ่ายออกเองนั้นจะเป็นไปได้ยากมาก ทั้งนี้โอกาสที่จะเกิดการทิ่มทะลุออกมานอกทางเดินอาหารนั้นก็เป็นไปได้สูงด้วย ซึ่งอาจเกิดการทิ่มทะลุกระเพาะอาหารออกมาทิ่มเนื้อตับ (ซึ่งอยู่ชิดกับกระเพาะ) ได้ด้วย ดังนั้นหากปล่อยทิ้งไว้ สุนัขจะแสดงอาการเจ็บท้องอย่างรุนแรงเเล้ว โดยอาจเกิดสภาวะผนังช่องท้องอักเสบรุนแรงได้
- หากเป็นสิ่งแปลกปลอมอุดตันในลำไส้ จำพวกก้อนหินจัดสวนก้อนใหญ่ หรือเป็นเมล็ดทุเรียน (ในช่วงเมษายน ถึง มิถุนายน พบบ่อยมาก) เมล็ดมะม่วง (ซึ่งมีตลอดทั้งปีโดยเฉพาะมะม่วงสามฤดู) ส่วนใหญ่จะติดคาอยู่ในลำไส้เล็ก ก็มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดช่องท้องเพื่อเปิดลำไส้ แล้วเอาสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมา (รวมถึงอาจต้องมีการตัดต่อลำไส้หากเกิดเนื้อตายที่ลำไส้ร่วมด้วย) ส่วนใหญ่แล้ว สุนัขมักจะแสดงอาการปวดท้องรุนแรง และกินอาหารไม่ได้ เนื่องจากกรณีนี้ กว่าที่เจ้าของจะสังเกตเห็น ก็ทิ้งไว้นานมากแล้วเพราะสุนัขจะค่อยๆ แสดงอาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งอาจเข้าใจผิดว่าสุนัขป่วยด้วยโรคอื่นไป
- หากเป็นสิ่งแปลกปลอมจำพวกผ้า หรือพลาสติกที่เป็นเส้น เช่น เชือกผูกรองเท้า เชือกด้าย หรือกระทั่งไหมขัดฟัน ซึ่งหลายครั้งพบว่ามีการติดอยู่บริเวณลำไส้เล็ก และสุนัขมักจะแสดงอาการป่วยเมื่อเวลาผ่านไปนานแล้วเช่นกัน เนื่องจากการวินิจฉัยทำได้ยากเพราะสิ่งของเหล่านี้จะไม่ปรากฏขึ้นบนภาพถ่ายรังสี หากแต่ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษโดยการกลืนแป้งเอกซเรย์ช่วย แต่ก็มีหลายครั้งที่การชี้ชัดทำได้ไม่ง่ายนัก ในกรณีนี้การแก้ไขจำเป็นต้องทำการผ่าตัดสถานเดียว และโอกาสที่จะพบการเสียหาย หรือการตายของลำไส้จึงมีสูง และมักพบได้ว่าสุนัขต้องถูกตัดต่อลำไส้ร่วมด้วย
@หลังทำการผ่าตัดแก้ไขแล้ว ควรดูแลสุนัขอย่างไร
หลังผ่าตัด สัตวแพทย์มักแนะนำเจ้าของ ให้ฝากสุนัขพักฟื้นในโรงพยาบาลสัตว์เพื่อดูอาการก่อนสัก 2-7 วัน เนื่องจากในช่วง 2-3 วันแรกนั้น มีความจำเป็นต้องงดอาหาร โดยรอยแผลของทางเดินอาหารจำเป็นต้องใช้เวลาในการหาย มักจะต้องพักทางเดินอาหาร จึงจำเป็นต้องให้สารอาหารทดแทนทางหลอดเลือด แต่สำหรับน้ำนั้นเราสามารถให้กินได้บ้าง ในปริมาณน้อยมากๆ แค่พอให้ปากสุนัขไม่แห้งจนเกินไป เพราะถ้างดน้ำไปทั้งหมดเลยอาจทำให้สุนัขมีการหลั่งน้ำลายออกมามากกว่าปกติ ก็สามารถทำให้บาดแผลในทางเดินอาหารสัมผัสกับน้ำลายแล้วเกิดการอักเสบเพิ่มมากขึ้นได้ หลังจากนั้นอาหารที่ให้ก็จะเป็นอาหารอ่อน รวมถึงต้องได้รับยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อด้วย
@สามารถป้องกันไม่ให้เจ้าตูบจอมซนกลับไปกินของเหล่านี้ได้อีกได้อย่างไร
สิ่งสำคัญที่เจ้าของสามารถทำได้ คือ
- พยายามเก็บของใช้ในบ้านให้เป็นที่เป็นทาง
- ไม่เปิดโอกาสให้สุนัขไปแทะ หรือกินสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นได้
- รวมถึงการให้อาหารก็ควรฉีกหรือแกะออกจากภาชนะ หรือไม้เสียบก่อนจะยื่นให้สุนัขกิน
- นอกจากนี้อาจต้องมีการฝึกวินัยสุนัขตั้งแต่ตัวยังเล็ก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ครับ
เมื่อเราได้ทราบถึงความน่ากลัวจากการกินสิ่งแปลกปลอมใกล้ตัวการอุดตันหรือติดค้างของสิ่งแปลกปลอมว่าสามารถสร้างปัญหาได้มากถึงเพียงนี้ ผู้เลี้ยงสุนัขควรคำนึงถึง “การป้องกัน” มากกว่า “การแก้ไขหลังเกิดปัญหา” สุนัขที่เราดูแลจะได้ไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากการอุดตันเเละฉีกขาดของทางเดินอาหาร รวมถึงความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากการผ่าตัดแก้ไข ทั้งนี้การมีสุนัขอยู่ในบ้านก็คงไม่ต่างอะไรกับการมีเด็กเล็ก ดังนั้นการดูแลเอาใจใส่ การสังเกตความผิดปกติของสุนัข จึงถือได้ว่าเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของเจ้าของทุกท่านครับ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก นายสัตวแพทย์สุวิชา จุฑาเทพ อดีตอาจารย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“หมอโอห์ม”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี