ในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เจ้าของทุกท่านคงทราบดีว่า เนื่องจากสัญชาตญาณการเป็นผู้ล่าของน้องนั้น อาจทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างสัตว์เลี้ยงของท่านกับสัตว์ตัวอื่นหรือสัตว์ชนิดอื่น ซึ่งอาจเป็นสัตว์มีพิษและอันตรายต่างๆ เช่น คางคก ตะขาบ และงู โดยเฉพาะงูซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถพบพบได้ค่อนข้างบ่อยในประเทศไทยทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ฝนตกเป็นระยะแบบนี้ ดังนั้นสัตว์เลี้ยงของท่านจึงมีโอกาสที่ถูกงูกัดได้
เมื่อสัตว์เลี้ยงของเราถูกงูกัด ไม่ว่าจะเป็นงูที่มีหรือไม่มีพิษก็ตาม เรามีวิธีการดูแลเบื้องต้นอย่างไรวันนี้ผมมีข้อมูลจาก สพ.ญ.ลักษิกา กีรติวิทยานันท์ แผนกฉุกเฉินและสัตว์ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มาฝากครับ
เมื่อพบเห็นหรือสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงของเราถูกงูกัด สิ่งที่ควรทำมีดังนี้
1. แยกสัตว์เลี้ยงออกจากงูให้เร็วที่สุด
2. ถ่ายภาพงู หรือนำงูไปให้สัตวแพทย์ดูด้วย (หากเป็นไปได้) เพื่อให้สัตวแพทย์ได้ทราบว่า เป็นงูที่มีพิษหรือไม่ และหากเป็นงูพิษ เป็นพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบใด เพื่อทำการรักษาได้แม่นยำมากขึ้น
3. พาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ทันทีหรือเร็วที่สุด อาจล้างแผลบริเวณที่โดนกัดด้วยน้ำเกลือเบื้องต้นก่อนได้ แต่ไม่ต้องขันชะเนาะบริเวณเหนือบาดแผล
เหตุผลใด ที่ควรพาสัตว์เลี้ยงของท่านมาพบสัตวแพทย์ แม้ว่าจะเป็นงูไม่มีพิษก็ตาม
เนื่องจากบริเวณเขี้ยวงูมีความสกปรก และมีเชื้อโรคอยู่มาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความสะอาดแผล ให้ยาฆ่าเชื้อ และยารักษาอื่นตามความเหมาะสม
นอกจากนั้น การนำงูหรือถ่ายภาพมาให้สัตวแพทย์มีความจำเป็นเป็นอย่างไร
หากเป็นงูพิษ พิษแต่ละชนิดก็ส่งผลต่อระบบร่างกายได้แตกต่างกัน หากทราบว่าเป็นงูชนิดใด ก็จะสามารถให้เซรุ่มต้านพิษงูได้ตรงตามระบบได้ทันท่วงที
งูพิษสามารถแบ่งได้ออกเป็นกี่ประเภท
งูพิษที่สามารถพบได้บ่อย และส่งผลรุนแรงต่อสัตว์เลี้ยงโดยอาจถึงชีวิตได้นั้นสามารถแบ่งคร่าวๆ ได้ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. พิษต่อระบบโลหิต เช่น งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ งูแมวเซา
2. พิษต่อระบบประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา
3. พิษต่อกล้ามเนื้อ เช่น งูทะเล
เซรุ่มต้านพิษงูในสัตว์เป็นชนิดเดียวกับของคนหรือไม่
เซรุ่มต้านพิษงูที่ใช้ในสัตว์เลี้ยง เป็นเซรุ่มชนิดเดียวกับที่ใช้ในคน ซึ่งมักจะมีแยกเป็นเซรุ่มต้านพิษสำหรับงูแต่ละชนิด และเซรุ่มต้านพิษรวมของระบบต่าง ๆ ในปัจจุบันสถานพยาบาลหลายแห่งก็ได้มีการสำรองเซรุ่มต้านพิษงูไว้สำหรับการให้ในกรณีฉุกเฉิน
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ถึงพิษงูที่อาจส่งผลถึงชีวิตและแผลโดนกัดที่ควรจะต้องทำความสะอาด และได้รับยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม หากสัตว์เลี้ยงของท่านถูกหรือสงสัยว่าโดนงูกัด จึงควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยงและความสบายใจของผู้เลี้ยงนะครับ
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี