ในปัจจุบัน ความนิยมในการเลี้ยงแมวเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงและเป็นเพื่อนเพิ่มมากขึ้น ผู้เลี้ยงแมวส่วนใหญ่ก็มีความเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูแมวมากกว่าสมัยก่อนมาก ทำให้แมวมีช่วงชีวิตที่ยาวนานขึ้น และมีโอกาสเป็นโรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง(non-communicable disease) เพิ่มมากขึ้น “โรคหัวใจ”ก็เป็นหนึ่งในโรคที่สามารถพบได้บ่อยในแมว วันนี้ผมมีข้อมูลจาก รศ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากครับ
โรคหัวใจในแมวนั้น สามารถพบได้หลายรูปแบบ ทั้ง โรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น รูรั่วที่ผนังกั้น หรือภาวะลิ้นหัวใจรั่วแต่กำเนิด หรืออาจเป็นโรคหัวใจกลุ่มที่เกิดขึ้นภายหลังกำเนิด โดยโรคหัวใจที่แมวเป็นมากที่สุดคือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากกว่าปกติ ซึ่งโรคนี้เมื่อแมวเป็นแล้ว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 3 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่ภาวะหัวใจล้มเหลวภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และการเสียชีวิตเฉียบพลัน
ในกรณีที่แมวเป็นโรคหัวใจในระยะเริ่มแรก แมวอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ให้เห็น อย่างไรก็ตามในแมวที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นในช่วงแรก การสังเกตอาการป่วยจะยังคงทำได้โดยยาก เนื่องจากแมวส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงความผิดปกติให้เห็นอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นอาการที่ไม่จำเพาะเช่น อาการเบื่ออาหาร ไม่มีแรง ซึมน้ำหนักลด แมวอาจหลบซ่อนตัว ไม่ค่อยเข้าหาเจ้าของ นั่งคุดคู้ตัวในท่าหมอบไม่ยอมทำกิจกรรม
เมื่อภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรงขึ้น จนมีภาวะน้ำท่วมปอด หรือการคั่งของของเหลวในช่องอก อาจทำให้แมวมีอาการหายใจเร็ว หายใจลำบาก หรือการหายใจด้วยท้อง แมวบางตัวอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
ในกรณีที่เกิดการไหลเวียนลดลงจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ แมวบางตัวอาจแสดงอาการเป็นลม หรืออาจแสดงอาการคล้ายอาการชัก
เจ้าของอาจสามารถสังเกตภาวะหัวใจล้มเหลวได้ด้วยตนเอง โดยการนับอัตราการหายใจขณะพัก หรือขณะนอนหลับ ซึ่งไม่ควรเกิน 30 ครั้ง/นาที
ส่วนแมวที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อาจแสดงอาการกรีดร้อง ด้วยความเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน และไม่ใช่สองขาหลัง อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้น
ที่ขาข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียวได้ ทำให้เกิดอาการขากะเผลกเจ้าของมักไม่ทราบว่า แมวมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และมักเข้าใจว่าแมวได้รับบาดเจ็บมา จึงไม่สามารถใช้ขาได้ตามปกติหากไม่ได้รับการรักษา การอุดตันของลิ่มเลือด จะขัดขวางการไหลของเลือดกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ทำให้เกิดอัมพาต และในท้ายที่สุดเมื่อเลือดไม่ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดเนื้อตาย และการเน่าของเนื้อเยื่อตามมา ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน และอาจทำให้แมวเสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่งการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันสามารถป้องกันได้โดยการกินยาป้องกันการเกาะกันของเกล็ดเลือด (anti-platlets)
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเฉียบพลันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ซึ่งอาจเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจหนามากจนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดตามมา ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันในแมวที่เป็นโรคหัวใจ
อย่างไรก็ตาม แมวที่เคยมีอาการเป็นลม เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดการตายเฉียบพลันได้ จะเห็นได้ว่าหากเจ้าของเฝ้าสังเกตอาการและดูแลแมวที่เป็นโรคหัวใจอย่างใกล้ชิด จะช่วยยืดอายุแมวให้ยืนยาวขึ้น อยู่เป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของเราไปอีกนานแสนนานครับ
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี