นายวินัย ละอองสุวรรณ หรือ “อดีตพระยันตระ” เดินทางกลับเข้าประเทศไทย หลังเหตุอื้อฉาวกว่า 20 ปี
ถ้าพลิกปูมในอดีตของ “ยันตระ” กับ “ธัมมชโย” ที่กำลังอื้ออึงอยู่ในวันนี้ อาจทำให้พอมองเห็นแง่มุมที่น่าสนใจ รวมถึงปมปัญหาของกิจการพระพุทธศาสนาบ้านเราได้เป็นอย่างดี
1) ซุปเปอร์สตาร์สงฆ์
ทั้ง “ยันตระ” และ “ธัมมชโย” ต่างมีความโด่งดังอย่างยิ่งในยุคสมัยของตน
ผู้คนให้ความเคารพนับถือ สักการะกันมาก
“ยันตระ” เคยมีงานเทศนา ปรากฏตัวที่สนามหลวง ปรากฏว่า ผู้คนพากันไปรอพบ ต้อนรับ สักการะ เนืองแน่น ถึงขนาดว่าคนระดับพลเอก เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ก็เคยไปกราบยันตระมาแล้ว
“ธัมมชโย” จัดงานใหญ่เป็นประจำที่วัดพระธรรมกาย มีพระและคนเข้าร่วมเรือนแสน แต่ก็ด้วยมีการจัดตั้ง จัดการเครือข่าย จัดการรถรับ-ส่ง จัดใส่ซองให้พระที่เข้าร่วมอย่างเป็นระบบ แถมยังมีเครือข่ายนายทุนใหญ่แสดงบทบาทอัครสาวก มีนักการเมืองใหญ่ระบอบทักษิณหลายรายเข้าร่วมกิจกรรมเสมอ ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าศรัทธาจริงหรือหวังผลประโยชน์ส่วนตัวทางการเมืองและธุรกิจ
2) พระฟอร์มดี ปากหวาน
ทั้งคู่มีท่าทาง บุคลิกดี วางฟอร์มดี พูดจาไพเราะอ่อนหวาน
“ยันตระ” สูง สง่า คมเข้ม เน้นสอนวิปัสสนา สมาธิ
“ธัมมชโย” นุ่มนวล ชวนฝัน ขาว สวย หมวยตี๋ เน้นสอนวิปัสสนา สมาธิ อ้างว่าสำเร็จวิชชาธรรมกาย สามารถนั่งสมาธิไปดูว่าคนที่ตายแล้วไปอยู่สวรรค์ชั้นไหน แล้วถ้าทำบุญกับวัดพระธรรมกาย
ก็จะสามารถส่งบุญไปให้ผู้ตาย ช่วยให้อัพเกรดขึ้นไปอยู่สวรรค์ชั้นไฮโซ
กว่าเดิมได้ เช่น เคยอยู่ชั้นดาวดึงส์เฟส 3 ก็อ้างว่าสามารถช่วยอัพเกรดให้ขึ้นไปเป็นดาวดึงส์เฟส 1 เป็นต้น
ทั้งคู่ยังมีฉายาที่สร้างภาพลักษณ์ในทำนองว่าเป็นผู้ทรงธรรม
“ยันตระ” แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส
“ธัมมชโย” แปลว่า ผู้ชนะโดยธรรม
3) ก่อปัญหาร้ายแรง ซับซ้อนต่างกัน
“ยันตระ” ต้องอธิกรณ์ว่าเสพเมถุน ปาราชิก ถูกตรวจสอบหลายกรรม เช่น กรณีขณะเดินทางไปเทศนาที่ทวีปยุโรป ระหว่างลงเรือเดินสมุทรจากสวีเดนไปฟินแลนด์ ได้มีเพศสัมพันธ์กับสีกาบนดาดฟ้าเรือ, กรณีจับต้องกายสตรีด้วยความกำหนัดที่กุฏิริมน้ำ
วัดป่าสุญญตาราม ประเทศออสเตรเลีย, กรณีเข้าไปหาผู้หญิงในรถตู้ ที่ประเทศออสเตรีย, กรณีนางจันทิมา มายะรังสี มีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง ถึงขนาดมีลูกด้วยกัน ฯลฯ
ปัญหาร้ายแรงของยันตระ คือ การเสพเมถุนกับผู้หญิง ส่วนปัญหาการสะสมลาภสักการะ ไม่ชัดเจนว่ายันตระอู้ฟู่อย่างไร มีเงินทองจากการบริจาคแค่ไหน
“ธัมมชโย” จะมีปัญหาเรื่องเสพเมถุนหรือไม่มิทราบ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานแน่ชัด แต่ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด คือ การบิดเบือนคำสอนของพระพุทธศาสนา เรื่องนิพพานเป็นอัตตา เรื่องใส่บาตรกับพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน เรื่องการอวดอ้างฤทธิ์วิเศษนานาประการ และต้องข้อหาอาญา ร่วมฟอกเงินและรับของโจร
ส่วนลาภสักการะของ “ธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายนั้น ชัดเจนว่า มีมหาศาล ทั้งเงิน ทองคำ ที่ดิน ฯลฯ และยังมีกลวิธีการบริหารจัดการที่ลึกลับ ซับซ้อน ไม่ใส่ไว้ในชื่อของวัดพระธรรมกาย แต่การกลไกบริหารจัดการที่เต็มไปด้วยเงื่อนปม
กรณียันตระ จึงเป็นเรื่องที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายกว่า คือเป็นกรณีพระนอนกับสีกา แต่กรณีบิดเบือนพระธรรมวินัยของธัมมชโยเป็นเรื่องที่เข้าใจยากกว่า และยังหาเหลี่ยมมุมตีความแก้ตัวได้ต่อไปอีก เช่นเดียวกับรับของโจรและฟอกเงิน ก็ยังต้องต่อสู้คดี หาข้อแก้ตัวกันได้ ต่างกันกับกรณีร่วมหลับนอนกับสีกา
4) ระยะเวลาของปัญหา
“ยันตระ” เหตุเกิดเพียงแค่ไม่กี่ปี ก็นำไปสู่การชำระปัญหาได้
“ธัมมชโย” เกิดปัญหาสะสมมายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว
เหตุส่วนหนึ่งเพราะกรณียันตระนั้น มหาเถรถูกสังคมกดดัน
และประธานในขณะนั้น คือ สมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาในคณะสงฆ์
ส่วนกรณีธัมมชโย แม้สมเด็จพระสังฆราชจะเอาจริงเอาจัง ถึงขนาดมีพระลิขิตหลายฉบับ แต่ปัญหายังไม่จบ ก็มีเหตุแทรกซ้อน ทรงอาพาธ แล้วผู้ปกครองสงฆ์ตามลำดับชั้นก็ไม่สนองตอบให้ครบถ้วนตามพระลิขิตจนถึงปัจจุบัน แถมฝ่ายอาณาจักร โดยเฉพาะยุครัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ก็ปล่อยปละละเลย ไม่เข้าไปจัดการ แถมยังช่วยเหลืออีกต่างหาก โดยอัยการถอนฟ้องธัมมชโยในคดียักยอกทรัพย์ เมื่อปี 2549 ยุครัฐบาลทักษิณ
5) เครือข่ายอุปถัมภ์
“ยันตระ” ผู้มีจิตศรัทธาได้บริจาค ถวายปัจจัย สร้างสำนัก
สุญญตาราม ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ มีจำนวนหลักสิบ
แตกต่างจาก “ธัมมชโย” มีการบริหารจัดการเครือข่ายอย่างเป็นระบบ เต็มรูปแบบ มีการระดมเงิน ระดมการบริจาคมหาศาล มีสำนักในเครือข่ายหลักพัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางแห่งหรูหราอย่างกับโรงแรมห้าดาว
ยิ่งกว่านั้น ยังมีอัครสาวกที่ประกาศตัว ทั้งนักการเมืองระดับชาติ นักธุรกิจใหญ่
ที่สำคัญ ธัมมชโยยังมีอิทธิพลเหนือขึ้นไปถึงมหาเถร สามารถแผ่บารมีขึ้นไปกำกับหรืออาจชี้นำได้เกินครึ่งของกรรมการมหาเถรด้วยซ้ำ ดูจากกิจกรรมและงานที่วัดพระธรรมกายก่อนหน้านี้ กรรมการมหาเถรหลายคนไปร่วมงานเป็นประจำ กล่าวสรรเสริญธัมมชโยอย่างที่สุด รวมถึงพระราชาคณะผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ“สมเด็จช่วง” มีสถานะเป็นพระอุปัชฌาย์ของธัมมชโย เคยได้รับถวายปัจจัย ทั้งเงินและทองคำจากธัมมชโย กล่าวยกย่องชื่นชมธัมมชโยอย่างเปิดเผย ถึงขนาดประกาศว่า วัดปากน้ำกับวัดธรรมกายเป็นวัดพี่วัดน้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เป็นต้น
6) ข้ออ้างเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ทางการแพทย์
“ยันตระ” เคยบ่ายเบี่ยง เลี่ยงที่จะเจาะเลือดตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ว่ายันตระเป็นพ่อของเด็กหญิงกระต่ายหรือไม่? ทำสีกาท้องจริงหรือเปล่า? ถึงขนาดเคยอ้างว่า การเจาะเลือดเพื่อตรวจดีเอ็นเอเป็นเสมือนทำให้พระอรหันต์ห้อเลือด
“ธัมมชโย” อ้างว่าเจ็บป่วย หลายโรครุมเร้า ขาบวม เบาหวาน ลิ่มเลือดอุดตัน ฯลฯ ไม่สามารถไปรับทราบข้อหาฟอกเงินรับของโจรได้ ปฏิเสธการเข้าตรวจของแพทยสภา ปฏิเสธการไปรักษาที่โรงพยาบาล
อ้างว่า จะขอตายในวัด
7) ความสนใจสืบสวนสอบสวนและนำเสนอของสื่อมวลชน
“ยันตระ” สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สนใจตรวจสอบและนำเสนอข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ติดตามขุดคุ้ย
สมัยนั้น ผมทำทีวีและวิทยุ ก็ติดตามโดยตลอด
ผมเคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์ “ยันตระ” ที่สถานีวิทยุเอฟเอ็ม 101 โดยมีพระสมชาติ ผู้เป็นพระอุปัฏฐากของยันตระร่วมรายการที่สถานีวิทยุด้วย และได้โทรเชิญนายวีระ มุสิกพงศ์ ร่วมให้ความเห็นด้วย ซึ่งทั้ง 3 คน ล้วนอยู่ข้างยันตระ ผมจึงได้ติดต่อนางจันทิมา มายะรังสี ผู้กล่าวหาว่ามีลูกกับยันตระ ร่วมสนทนาในรายการทางโทรศัพท์ และเปิดช่องให้ยันตระกับจันทิมาได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ปรากฏว่า การสนทนาโต้ตอบ ต่อว่าต่อขานกัน คล้ายสามีภรรยา บางช่วง นางจันทิมาบอกแก่ยันตระว่า ควรนึกถึงลูกกระต่าย “แม้แต่หมามันยังรักลูก” ฝ่ายยันตระพยายามบ่ายเบี่ยงว่า โยมพูดให้ดีนะ วันนั้น ผมดำเนินรายการอยู่ 2 ชั่วโมงเศษ จบรายการ ปรากฏว่า มีสื่อโทรทัศน์หนังสือพิมพ์มาดักรอทำข่าวหน้าสถานีวิทยุเต็มไปหมด และมหาเถรยังได้ขอให้ผมไปเป็นพยาน พร้อมนำเทปวันนั้นไปด้วย เพื่อเป็นหลักฐานสอบอธิกรณ์ยันตระ
ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สมัยนั้นทำรายการที่ช่อง 9 ยกทีมไปตามรอยยันตระ ที่ต่างประเทศ ติดตามตรวจสอบสถานที่ที่ยันตระแวะเวียน มีหลักฐานการใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศ
แต่กรณี “ธัมมชโย” ปัญหายืดเยื้อ สื่อปล่อยมานาน และธรรมกายมีสื่อของตัวเอง จัดตั้งทีมประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ มีกระบวนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ ปัญหาถึงหนักหนากว่า
8) บทบาทของหน่วยงานรัฐ ฝ่ายอาณาจักร
“ยันตระ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น คุณปราโมทย์ สุขุม พรรคประชาธิปัตย์กำกับดูแลกรมกรมการศาสนา ทำงานเอาจริงเอาจัง
“ธัมมชโย” ฝ่ายการเมืองและหน่วยงานของรัฐในอดีต ในบางสมัย นอกจากจะไม่เอาจริงเอาจังแล้ว ยังเข้าไปช่วยโอบอุ้ม อุปถัมภ์ ใช้กลไกของรัฐสนับสนุนการแผ่ขยาย แต่ปัจจุบัน ทั้งรัฐมนตรีสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ กำกับสำนักงานพระพุทธศาสนา และรัฐมนตรียุติธรรม พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ก็ดูเอาจริงเอาจังมากกว่าอดีตมาก
9) จุดจบ
“ยันตระ” ถูกมติมหาเถรสมาคมพิจารณาอธิกรณ์ ให้พ้นจากความเป็นพระภิกษุ แต่นายวินัยไม่ยอมรับมติสงฆ์ดังกล่าว เปลี่ยนสีจีวรเป็นสีเขียว ถูกสื่อขนานนามว่า จิ้งเขียว, สมี เป็นต้น มีพฤติกรรมจาบจ้วงสมเด็จพระสังฆราช ก่อนจะหลบหนีออกนอกประเทศ ไปอยู่สหรัฐอเมริกา อ้างลี้ภัยทางการเมือง
“ธัมมชโย” ขณะนี้ ยังซุกซ่อนตัวหลบอยู่ อาศัยกำแพงมนุษย์ อ้างว่ารักษาตัวอยู่ในวัด ไม่มามอบตัวตามหมายจับของศาลอาญา แต่สุดท้ายอาจหลบหนี อาจอ้างลี้ภัยทางการเมือง หรืออาจเสียชีวิตในวัด ยังไม่อาจทราบได้
บทสรุป
จากการเทียบเคียงกรณี “ยันตระ” และ “ธัมมชโย” จะพบว่ามีรายละเอียดต่างกัน แต่ได้สะท้อนปัญหาร่วมประการหนึ่งที่ทวีความร้ายแรงมากขึ้นในช่วงหลัง ไม่ว่าจะกรณีพระนิกร อดีตเณรคำ อดีตเณรแอ ภาวนาพุทโธ ฯลฯ ล้วนแต่ทำให้เห็นปัญหาของพระสงฆ์ที่เมื่อเกิดการกระทำผิดแล้ว ลำพังคณะสงฆ์ไม่สามารถเข้าไปควบคุมจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
ตอกย้ำว่า การควบคุมกันเองของสงฆ์ มีปัญหา
ในหลักการ ผมอยากเห็นการกำกับควบคุมดูแลกันเองของพระสงฆ์ เหมือนสภาวิชาชีพ เช่น แพทยสภา สภาทนายความ เป็นต้น แต่ปัญหาที่ปรากฏระยะหลัง ทำให้เห็นว่าการควบคุมกันเองมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม้แต่ตัวองค์กรผู้ควบคุมดูแล คือ มหาเถรเอง ก็ยังมีปัญหา เช่น สมเด็จช่วงถูกตรวจสอบการครอบครองรถหรู พระชั้นผู้ใหญ่หลายรูปถูกครหาการถือครองทรัพย์สินเงินทองส่วนตัวมากมาย เป็นต้น
เมื่อศาสนาจักรมีปัญหา ฝ่ายอาณาจักรจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาดูแล
ฝ่ายอาณาจักรมีอำนาจและหน้าที่ในการปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้เกิดการกำกับดูแลที่ดีขึ้น สมควรปรับเปลี่ยนให้ผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้บวชเป็นพระหมดไปเสีย โดยถือเป็นผลประโยชน์ของพระพุทธศสานา รายได้พระเป็นรายได้ของวัด ลดแรงจูงใจในการพยายามกอบโกยหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง กระทั่งบิดเบือนทำลายแก่นธรรม โหมพุทธพาณิชย์ อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ผู้ที่จะบวชควรต้องถูกตรวจสอบคัดกรอง ต้องดูเจตนาของการบวช ไม่ใช่บวชเข้ามาหาเงิน ประกอบอาชีพ ห่มเหลือง
โกนหัว เข้ามาหากิน กอบโกย สะสมเงินทองเข้ากระเป๋าส่วนตัว เมื่อบวชแล้วก็ต้องมีระบบตรวจสอบกำกับดูแลเกื้อหนุนให้เรียนและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง พระอุปัชฌาย์ต้องติดตามดูแล 5 ปีตามพระธรรมวินัย ถ้าไม่เรียน ไม่มีความรู้ ไม่ปฏิบัติธรรม ก็ต้องจับสึกเด็ดขาด เช่น สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการสอบไล่พระ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ จะช่วยทำนุบำรุง ทำความบริสุทธิ์ผ่องใสแก่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี