กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อป.ป.ช. ให้สอบสวนเอาผิดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สืบเนื่องจากกรณีลูกหมาบางแก้ว
กลายเป็นเรื่องตลก กึ่งเวทนา
มากกว่าจะเห็นประโยชน์เพื่อหวังผลป้องกันปราบปรามการทุจริต ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
1. พลเอกประยุทธ์ลงพื้นที่เยี่ยมชมการเพาะเลี้ยงสุนัขพันธุ์บางแก้วของชาวบ้าน แล้วซื้อลูกสุนัขบางแก้ว 3 ตัว บอกกับสื่อมวลชนว่า จะนำไปเลี้ยงเอง 1 ตัว และมอบให้พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ คนละหนึ่งตัว
นายกฯ ซื้อราคาตัวละ 6,000 บาท แต่นายกฯ จ่ายเงินให้ชาวบ้านไป 25,000 บาท เพราะต้องการอุดหนุน เป็นกำลังใจ และช่วยค่าวัคซีน ค่าจัดส่ง โดยปัจจุบัน ลูกหมายังอยู่ที่ฟาร์มชาวบ้าน อยู่ระหว่างฉีดวัคซีน
กรณีนี้ ถูกกล่าวหาว่า เข้าข่ายเป็นการของขวัญที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ผิดกฎหมาย ป.ป.ช.
2. นายไพศาล พืชมงคล แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Paisal Puechmongkol ว่าด้วยเรื่อง “เรื่องหมาๆ คงเอาผิดลุงตู่ไม่ได้” ระบุว่า
“1. ลุงตู่จะซื้อหมาราคาเท่าไหร่ และซื้อให้ใครย่อมสามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย
2. กฎหมายป.ป.ช.มุ่งเอาผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่รับสินบนหรือรับทรัพย์สินเกินกว่า 3,000 บาท ซึ่งลุงตู่แกก็ไม่ได้ไปติดสินบนอะไรใคร ให้ทำหน้าที่ หรือละเว้นหน้าที่โดยไม่ชอบหรือโดยทุจริต จึงไม่ได้เป็นความผิดอะไร
3. ส่วนรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นข่าวว่า ลุงตู่จะซื้อหมาให้นั้น ก็ปรากฏว่ายังไม่มีการให้แต่ประการใด เพราะหมายังอยู่ที่เจ้าของผู้ขาย ดังนั้น จึงยังไม่เป็นการให้ตามกฎหมาย จึงไม่ได้ผิดอะไรอีกเช่นเดียวกัน
4. การที่มีผู้ไปร้องป.ป.ชในเรื่องนี้ จึงเป็นผลดีแก่ลุงตู่และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อเป็นข่าวแล้ว ก็คงตัดปัญหา หรือแก้รำคาญด้วยการไม่มีการให้แก่กัน
ดังนั้น การมีผู้ร้องเรียน จึงเท่ากับมีผู้เตือน ซึ่งพระพุทธเจ้า สอนว่าเป็นลาภอันประเสริฐ อันควรแก่การขอบคุณเสียด้วยซ้ำไป
มองโลกในแง่ดีมันก็ดีอย่างนี้แหละพระคุณท่าน”
3. ข้อห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับของขวัญมูลค่าเกิน 3,000 บาท เป็นบทบัญญัติที่มีความสำคัญ เป็นประโยชน์แก่การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไม่ว่าของที่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐนั้น จะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใด หรือแม้แต่เป็นสัตว์เลี้ยงมีชีวิต ก็มีมูลค่าตีราคาเป็นเงินได้เหมือนกัน
เจตนาของข้อห้าม ก็เพื่อตัดปัญหาผลประโยชน์ต่างตอบแทน ป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวพันกับผู้ที่ตนเองอาจจะต้องใช้อำนาจหน้าที่รัฐไปกระทบผลประโยชน์ส่วนตัวของเขา อาทิ นักธุรกิจเอาของมามอบให้เจ้าหน้าที่รัฐ, ลูกน้องเอาของมาเซ่นเจ้านาย, ผู้ใต้บังคับบัญชาเอาของมาวิ่งเต้นลูกพี่ เป็นต้น
การห้ามไว้เลย เป็นการตัดไฟเสียตั้งแต่ต้น ไม่ต้องไปตีความว่าเป็น “สินบน” หรือไม่? เพราะถ้าเป็นสินบน ก็จะเข้าความผิดกฎหมายอาญาอีกมาตราหนึ่งต่างหาก
4. ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีข้อห้ามนี้ ปัญหาหาการรับ-ให้ของขวัญแก่เจ้าหน้าที่รัฐ อื้ออึงมาก
ในหนังสือ “ทักษิณกับพวก” เขียนโดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ เล่าเรื่องการจ่ายเช็คของขวัญ ระหว่างนายทุนสัมปทานเหล้า กับบรรดานักการเมืองในยุคปี 2532-33 ไว้อย่างน่าสนใจ บางตอนว่า
“...แม้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ รสช. จะใช้อำนาจเถื่อนโค่นล่มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 แต่การรัฐประหารดังกล่าวทำให้สาธารณชนเห็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์บางประการ (เดิมเป็นเพียงการพูดและเล่ากันในแวดวงการเมือง) ว่า ผลประโยชน์ “ต่างตอบแทน” ระหว่างนักธุรกิจและการเมือง ทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยไม่เกรงกลัวว่าใครจะมาตรวจสอบ
ดังนั้น ผลประโยชน์ที่ให้กันจึงทำกันในรูป “เช็คของขวัญ” รวมกันมีมูลค่าหลายร้อยพันล้านบาท และกลายมาเป็นหลักฐานที่ทำให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ที่มี พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน ใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศยึดทรัพย์นักการเมืองใหญ่ 10 คน จาก 25 คน ที่ รสช.ประกาศอายัดทรัพย์ไว้ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ แม้ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ประกาศของ รสช. ในการแต่งตั้ง คตส. ไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญและธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องเช็คของขวัญที่นักธุรกิจมอบให้แก่นักการเมืองมูลค่าหลายร้อยล้านบาทเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ผู้ที่ได้รับเช็คของขวัญอันดับต้นๆ หนีไม่พ้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยและนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้รับเช็คของขวัญจากหลายบริษัท รวมเป็นเงินกว่า 284 ล้านบาท
พล.อ.ชาติชายอ้างต่อศาลว่า ผู้นำเช็คของขวัญมาให้มีเหตุผลต่างๆ กัน เช่น สนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นส่วนตัวศรัทธาต่อการดำเนินการทางการเมือง ในจำนวน 284 ล้านบาท ปรากฏว่าเป็นเช็คของขวัญที่ คตส. อ้างว่าเป็นของกลุ่มบริษัทสุราทิพย์ 62 ล้านบาท ซึ่งเกี่ยวพันกับการต่ออายุสัญญาโรงงานสุราบางยี่ขันเมื่อปี 2532 แต่ พล.อ.ชาติชายปฏิเสธ อ้างว่าเป็นผู้เช่าโรงเหล้าคือบริษัท สุรามหาราษฎร ไม่ใช่สุราทิพย์ และเช็คเหล่านั้นซื้อโดยเงินส่วนตัวของบุคคลผู้ให้ ไม่ใช่เงินของบริษัท สุราทิพย์
คนต่อมาคือ ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น คตส. อ้างว่า กลุ่มบริษัทสุราทิพย์และสุรามหาราษฎรมอบให้ผ่านที่ปรึกษาจำนวน 84 ฉบับ ฉบับละ 1 ล้านบาท ประมวลอ้างว่าเป็นเงินที่ วิรัตน์ คลศรีชัย ยืมไปแล้วนำมาคืน
แต่ในแวดวงการค้าสุรารู้ว่า วิรัตน์ เป็นกรรมการบริษัทในเครือของตระกูลภัทรประสิทธิ์ หุ้นส่วนสำคัญของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อน้ำเมาตัวจริง
สำหรับ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้จ่ายภาษีย้อนหลังให้กรมสรรพากร 93 ล้านบาท คตส. อ้างว่ามีตั๋วใช้เงินของบริษัทสุรามหาราษฎรและบริษัทค้าสุรารวม 10 บริษัท จำนวน 14 ฉบับ เป็นเงิน 81.3 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกา(10135-2539) ที่ พล.ต.อ.ประมาณฟ้องกรมสรรพากรระบุว่า เช็คของขวัญที่ พล.ต.อ.ประมาณได้รับในปี 2533 จำนวน 46 ฉบับ รวมเป็นเงิน 83,102,500 บาท พล.ต.อ.ประมาณนำสืบว่า บริษัท สหมิตรการบริหาร จำกัด มอบให้เป็นค่าซื้อที่ดิน โดยบริษัทรับเช็คของขวัญดังกล่าวมาจากลูกค้าบริษัทอีกต่อหนึ่ง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้บริษัทจะซื้อที่ดินจาก พล.ต.อ.ประมาณเป็นเงินถึง 85 ล้านบาทเศษดังที่นำสืบจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่บริษัทจะต้องชำระค่าที่ดินโดยใช้เช็คแบ่งย่อยออกเป็นหลายฉบับ โดยเฉพาะเป็นเช็คของขวัญที่มิใช่เช็คของบริษัทเองหรือแคชเชียร์เช็ค ซึ่งน่าจะใช้เป็นหลักฐานในการชำระเงินได้ดีกว่า พยานหลักฐานจึงมีพิรุธ ไร้น้ำหนักน่าเชื่อถือ การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากรถือว่าเป็นเงินตามเช็คของขวัญดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมิน ต้องเสียภาษีอากร จึงชอบแล้ว
...อดีตผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการของ คตส. บอกว่า จากการตรวจสอบในช่วงปี 2532-2533 ซึ่งเป็นช่วงต่ออายุสัมปทานโรงเหล้า ปรากฏว่า มีเช็คของขวัญของบริษัทเหล้าและบริษัทในเครือปลิวว่อนแจกจ่ายไปยังรัฐมนตรีข้าราชการระดับสูงทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ประมาณ 2,000 ล้านบาท
อานิสงส์กรณี“เช็คของขวัญ” นำมาสู่บทบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 ว่าด้วยห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด...”
เช็คของขวัญพรรค์อย่างนี้เอง ที่เป็นที่มาให้มีการออกกฎหมายห้ามรับของขวัญ โดย ป.ป.ช. หลังจากนั้น จึงได้ออกประกาศ กำหนดห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใด มูลค่าเกินหว่า 3,000 บาท
มิใช่เรื่องลูกหมาบางแก้ว ที่นายกฯ ซื้อจากชาวบ้าน แล้วประกาศจะให้ลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาตัวเอง
หากเจตนาดีต่อการตรวจสอบการทุจริตจริงๆ ควรหยุดจับหมาชนแกะในลักษณะนี้ เพราะมันจะสร้างความเบื่อหน่าย ลดความศักดิ์สิทธิ์ของข้อห้ามที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี