“รถติด” คือปัญหาอมตะของสังคมไทยที่ถูกพูดถึงกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่านับตั้งแต่รถยนต์เริ่มแพร่หลายโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่าง “กรุงเทพฯ” ถึงขั้นสื่อต่างประเทศจัดอันดับทีไรติด 1 ใน 5 เมืองที่การจราจรเข้าขั้นเลวร้ายที่สุดในโลกเสียทุกปีไป (แถมบางปียังเป็นแชมป์อีกต่างหาก) ซึ่งนี่คืองานท้าทายอย่างมากของผู้มีอำนาจในประเทศไทย โดยหลายคนที่พยายามลงมือแก้สุดท้ายก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ
ล่าสุดท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ มีแนวคิด “ให้รถบรรทุกวิ่งในกรุงเทพฯ เฉพาะระหว่างเวลา 00.00-04.00 น.” ซึ่งก็เป็นอีกนโยบายที่เรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมาก โดยท่านรัฐมนตรีให้เหตุผลว่าต้องการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด “มั่นใจถ้ารถบรรทุก 5 หมื่นคัน หายไปจากถนนการจราจรจะคล่องตัวขึ้น” แม้เรื่องนี้จะถูก “ท้วงติง” จากผู้เกี่ยวข้องก็ตาม
อาทิ ชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA) ที่กล่าวว่า หากทำจริงจะส่งผลต่อประชาชนหากผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่ม ราคาสินค้าที่จะขายให้ประชาชนก็จะต้องเพิ่มตามไปด้วย เช่นเดียวกับ อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ยืนยันว่าแนวคิดของ รมว.คมนาคมไม่สามารถทำได้จริง และหากทำจะก่อปัญหาหลายประการ
เช่น 1.ความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนช่วงกลางคืน เพราะตำรวจจะไม่ค่อยมีเมื่อเทียบกับกลางวัน อาจเกิดการฝ่าไฟแดงซึ่งเป็นได้ทั้งรถยนต์อื่นๆ รวมถึงรถบรรทุกด้วย แต่เรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วงมากนักเพราะกรุงเทพฯ มีกล้องวงจรปิดเป็นจำนวนมาก2.โครงการอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบเพราะรถบรรทุกวัสดุก่อสร้างไม่สามารถเข้าไปส่งได้ในตอนกลางวัน และหากไปส่งตอนกลางคืนก็อาจส่งเสียงดังสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ประชาชนที่นอนหลับพักผ่อนด้วย ทั้งนี้ปกติโครงการก่อสร้างก็มักทำกันในช่วงกลางวันอยู่แล้ว
และ 3.ราคาสินค้าจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะการที่บอกให้ผู้ประกอบการหันไปใช้รถขนาดเล็กรับสินค้าจากรถบรรทุกมาส่งในกรุงเทพฯ ผู้ประกอบการก็ต้องลงทุนซื้อรถขนาดเล็กเพิ่ม และย่อมต้อง “ผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภค” แน่นอน อีกทั้งเชื่อว่า “ราคาสินค้าคงไม่เพิ่มแต่ในกรุงเทพฯ แต่จะเพิ่มทั้งประเทศ” แม้จังหวัดอื่นๆ จะไม่ได้มีข้อห้ามแบบเดียวกันก็ตาม ดังเช่นที่ผ่านมาเมื่อสินค้าใดปรับราคาสูงขึ้นก็มักจะปรับขึ้นเท่ากันทุกพื้นที่เสมอ
“ถ้าท่านบอกว่าให้เป็นรถ 6 ล้อ ถามว่ารถ 6 ล้อความกว้าง-ยาวมันเท่ากับสิบล้อ ต่างกันนิดเดียว ถ้าท่านจะทำจริงๆ ท่านต้องไปวางเครือข่ายเป็นการกระจายสินค้า แล้วทุกคนมุ่งหน้าเข้าไปในนิคม จบ! แล้วก็ขนสินค้าจากนิคมออกมา จะใช้รถเล็กหรือ 6 ล้อเล็กเราก็ทำได้ แต่นี่คุณจะมาจอดถ่ายสินค้าริมถนนหรือ หรือให้เอารถเล็กบรรทุกมาจากต้นทน สมมุติบรรทุกข้าวจาก จ.ร้อยเอ็ด รู้ไหมค่าใช้จ่ายเท่าไร 1 คันสิบล้อต่อรถเล็ก 15 คัน ท่านดูนะว่ามันเพิ่มเท่าไร พ่อค้าไม่ยอมขาดทุนหรอก มันก็ต้องผลักภาระไปให้ประชาชน” อภิชาติ กล่าว
ปัจจุบันนั้นกฎหมายกำหนดให้รถบรรทุกวิ่งในกรุงเทพฯ ระหว่างเวลา 10.00-15.00 น. และ 21.00-06.00 น. ซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้วิ่งได้เฉพาะเวลา 00.00-04.00 น. นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว “ความปลอดภัย” ก็เป็นอีกเรื่องที่มีผู้แสดงความกังวล ดังที่ ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ให้ความเห็นว่า ค่อนข้างเป็นห่วงอุบัติเหตุบนท้องถนน เนื่องจากเวลากลางคืนทัศนวิสัยในการมองเห็นของผู้ขับขี่ย่อมน้อยกว่ากลางวัน
อีกทั้ง “ตอนกลางคืนถนนโล่งประกอบกับมีเวลาน้อย ทำให้ผู้ขับขี่รถบรรทุกอาจใช้ความเร็วสูงจนเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ในความเป็นจริงแม้จะเป็นเวลาดึกแต่ในกรุงเทพฯ นั้นมีผู้คนเดินทางตลอดเวลา เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ จักรยาน หรือแม้แต่คนเดินข้ามถนน ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งยังเป็นผู้สูงอายุด้วย” ดังนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมคือการเพิ่มแสงสว่างทั่วทุกจุดของกรุงเทพฯที่คาดว่ารถบรรทุกจะวิ่งผ่านเพื่อลดความเสี่ยง
“ต้องทำแบบ Mass Action คือทำให้คลุมไปหมด อาจต้องเพิ่มแสงสว่างบริเวณชุมชน ซึ่งตีสามอาจจะมีบางคนต้องออกมาตลาดแล้วเพื่อทำมาหากินตอนเช้า ขับรถ-ขี่มอเตอร์ไซค์ไปตลาด พูดง่ายๆ คือแสงสว่างตอนกลางคืนต้องเพิ่มมากขึ้น ในย่านชุมชนที่เชื่อมกับถนนสายหลัก เข้าใจว่าถนนสายหลักเขาคงมีมาตรฐานอยู่แล้วเรื่องไฟฟ้าแสงสว่าง แต่ถนนสายรองที่จะมาเชื่อมต่อ แล้วอาจจะออกจากตรอกจากซอยมาเชื่อมกับถนนสายรองก่อนถึงถนนสายหลัก พวกนี้ก็จะต้องทำไฟฟ้าให้มีแสงสว่างเพิ่มขึ้น” ศ.ดร.พิชัย กล่าว
ด้าน สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการด้านคมนาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า แนวคิดของ รมว.คมนาคม ถูกต้องตามหลักการ แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบให้รอบด้านด้วย อาทิ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เมือง (Urban Area) ตามหลักแล้วก็ไม่ควรมีรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่ง แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ง่าย เนื่องจากไม่ได้แยกชั้นถนนออกจากกันเหมือนในต่างประเทศที่มีการแยกถนนสายหลัก (Highway) กับถนนสายรอง (Street) ในขณะที่ถนนเมืองไทยมีทั้งสายหลัก สายรอง รวมถึงตรอก-ซอยที่มักเชื่อมถึงกันหมด
ยกตัวอย่าง “ท่าเรือคลองเตย” ต้องมีรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์วิ่งเข้า-ออก แต่ปัญหาคือท่าเรือคลองเตยอยู่ใจกลางเมือง เส้นทางเข้า-ออกท่าเรือคลองเตย จึงดูเหมือนไม่มีเส้นทางให้หลีกเลี่ยงทางได้เลย ดังนั้นแม้แนวคิดของ รมว.คมนาคมจะมีประโยชน์ แต่ก็ต้องหาทางลดผลกระทบของผู้ประกอบการด้วย นอกจากนี้ต้องมีการวางแผนระยะยาวเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสภาพของเมือง
“ส่วนเรื่องความปลอดภัย เรื่องความเร็วในความเห็นผมรถบรรทุกวิ่งไม่เร็วมาก และจริงๆ ข้อมูลรถบรรทุกที่วิ่งก็ไม่ค่อยเกินที่ GPS กำหนด แต่ทีนี้ถ้าเป็นประเด็นรถบรรทุกเดินทางช่วงกลางคืน ความพร้อมของแสงสว่างรถบรรทุกจะเป็นประเด็นสำคัญ ที่เราเคยเจอคือรถบรรทุกไฟท้ายไม่ติดบ้าง ไม่สว่างบ้าง อันนี้ต้องมีมาตรการที่เข้มข้น ไฟต้องสว่างได้มาตรฐาน มีไฟเตือนให้ครบให้พร้อม เพราะเข้าใจว่าโครงสร้างไฟทางของเรายังไม่ 100% ฉะนั้นไฟของรถก็ต้องพร้อม อันนี้ต้องให้กระทรวงคมนาคมเร่งกวดขันและยกระดับมาตรฐานรถ” สุเมธ ระบุ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี