แม้นายธนาธรจะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพ้นจากความเป็น สส.เมื่อวานนี้แต่เกมการเมืองที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ยังไม่น่าจะจบ เพราะยังมีอีกคดีสำคัญที่น่าจะรอลุ้นเร็วๆ นี้และอาจเกี่ยวพันบุคคลมากกว่าหนึ่งหรือไม่?
และแม้นายธนาธร จะหลุดจาก สส.แต่พรรคการเมืองต่างๆ ยังคงอยู่ ภัยทางการเมืองของรัฐบาลก็อาจมีมากกว่าคนที่อยู่ตรงข้ามอย่างน้อยก็มีชนวนสำคัญอีกเรื่องที่รอวันปะทุนั่นคือการแก้รัฐธรรมนูญ? เพราะหากจำกันได้ในคราก่อนนั้น รัฐนาวาภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้เผชิญพายุเข้าไปหนึ่งลูก ในประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และดูยังมีทีท่าวนเวียนอยู่ในวังวนของเรื่องดังกล่าวอยู่ ทว่านอกจากการรับมือกับพายุลูกดังกล่าวแล้ว การสั่งการลูกเรือให้เร่งตั้งหลักเพื่อรอรับสถานการณ์ที่ต่างออกไป ก็ดูจะมีความจำเป็นในเวลานี้ใช่หรือไม่?
หลังสถานการณ์ของรัฐบาลในขณะนี้ดูจะเผชิญกับสภาพที่ดูภายนอกอาจสงบนิ่งเหมือนไม่มีอะไร แต่ลึกๆกำลังมีการก่อตัวของอะไรบางอย่างที่อาจเป็นภัยในรอบทิศ ทั้งสถานการณ์ภายในเอง อย่างกรณีของนายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่ส่งสัญญาณไม่สู้ดีนักผ่านการให้สัมภาษณ์กับสื่อ หรือสถานการณ์น้ำวนใกล้เรือ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไรแต่คงละสายตาไม่ได้
อย่างกรณีของนายเสรีพิศุทธ์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช. ที่จ้องเล่นงานอยู่เช่นกัน นอกจากนั้นแล้วสถานการณ์อาจดูแย่ลงไปอีก เมื่อหลายฝ่ายเริ่มเล็งเห็นข้าศึก ที่ชักธงรบเตรียมเปิดหน้าแลกกับฝ่ายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเต็มกำลัง ด้วยกรณีของการเลือกตั้งซ่อม ในพื้นที่ขอนแก่น เขต 7 ที่นายนวัธ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นสภาพความเป็น สส. ไปแล้ว ซึ่งด้วยเหตุทั้ง 3 นี้เอง ทำให้เหล่านักวิเคราะห์ต่างมองในแง่มุมที่ว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น อยู่ในสถานการณ์ที่กำลังจะสู้รบกับซีกฝ่ายค้าน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจถูกมองว่าเกิดการปล่อยมือจากพรรคร่วม ซึ่งมองดูแล้วผลที่จะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงดังกล่าวนี้อาจก่อตัวเป็นปัญหาในอนาคต? โดยเฉพาะการจัดการกับพรรคร่วมที่แกนนำรัฐบาลนี้ยังไม่เคยเจอ เนื่องจากรัฐบาล คสช. ไม่มีทางที่จะเจอสถานการณ์แบบนี้?
ประการแรก คือสัญญาณรอยร้าวภายในซีกฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอง จากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของนายอนุทิน รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีบุคคลในทำเนียบ อยู่เบื้องหลังการให้ข้อมูลกับสื่อ ในการโจมตีนายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรค ซึ่งแม้นายอนุทินจะไม่ได้ออกมาพูดตรงๆ แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าปลายสายที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยของนายอนุทินนั้น น่าจะหมายถึงพรรคใหญ่หรือไม่? ที่มีประเด็นการหมายตากระทรวงคมนาคมมาตั้งแต่ช่วงก่อนการจัดโผ ครม. ใช่หรือไม่?
แต่อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องดังกล่าวจะยังไม่จบลง และก็ยังหาผู้ที่ปล่อยข่าวตัวจริงไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากกระแสข่าวดังกล่าวก็ทำให้ทุกสายตาต่างมองไปยังช่วงกลางเดือนธันวาคม ที่จะมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น โดยหลายฝ่ายเชื่อว่านายศักดิ์สยามเองอาจจะเป็น 1 ในบุคคลที่เป็นเป้าหมายหลักของซีกฝ่ายค้าน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ซึ่งสิ่งดังกล่าวหัวหน้าพรรคอย่างนายอนุทินก็น่าจะเข้าใจสถานการณ์ล่วงหน้าเป็นอย่างดี จากอากัปกิริยาผ่านการสัมภาษณ์ด้วยการส่งสัญญาณไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ถึงการพิจารณาสถานะของพรรคภูมิใจไทยอีกครั้ง หากเหล่าพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลไม่ช่วยเหลือเรื่องดังกล่าว ซึ่งจากท่าทีดังกล่าวนี้ หลายฝ่ายก็เชื่อว่านายอนุทิน ต้องการจะส่งสารถึง พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรงใช่หรือไม่? แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่สู้ดีนักกับฝ่ายรัฐบาลในช่วงเวลานี้ แต่ท้ายที่สุดก็น่าสนใจว่าหากพรรคภูมิใจไทยถอนตัวออกจากรัฐบาลจริง? จะส่งผลสั่นคลอนใดๆ แก่ฝ่ายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่?
ประการถัดมา คือการปะทะกันระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล ผ่านเวทีคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งดูออกรสออกชาติมากกว่าเดิม และเริ่มเดินเกมโจมตีฝ่ายรัฐบาลบ้างแล้ว จากกรณีมติของที่ประชุมยืนยันที่จะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ด้วยคะแนนเสียงของประธานฯ 6 ต่อ 3 เพื่อมาชี้แจงประเด็นของการถวายสัตย์ฯ ซึ่งก็เกิดข้อคำถามที่หลายคนสงสัยขึ้น เพราะประเด็นดังกล่าวน่าจะจบลงไปตั้งแต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องแล้วใช่หรือไม่? ฉะนั้นแล้วด้วยความพยายามที่จะเล่นงานรัฐบาลผ่านประเด็นดังกล่าว หลายฝ่ายจึงคาดว่าสุดท้ายแล้วจะไม่สามารถส่งผลกระทบอะไรต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมากนัก กลับกันฝ่าย กมธ. ป.ป.ช. เองก็ต้องเจอกับข้อคำถามที่หลายฝ่ายพุ่งความสนใจไปถึงการทำงาน ว่าควรจะมีบทบาทในการตรวจสอบการทุจริต การคอร์รัปชั่น หรือปัญหาโดยรวมของการบริหารงบประมาณแผ่นดินของกระทรวงต่างๆ หรือของรัฐบาลโดยรวม มากกว่าการจ้องเล่นงานตัวบุคคลมากกว่าหรือไม่?อย่างไรก็ดี ต้องอย่าลืมว่าการนำประเด็นส่วนบุคคลมาเล่นงานฝ่ายตรงข้ามผ่านสนามการเมือง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องใดก็ตาม สุดท้ายอาจทำให้ประเทศชาติและประชาชนเป็นผู้เสียผลประโยชน์ใช่หรือไม่?
ประการสุดท้าย คือการเตรียมต่อสู้กันระหว่างฝ่ายรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐกับฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยผ่านประเด็นการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดขอนแก่น เขต 7 หลังนายนวัธ เจ้าของพื้นที่เดิมถูกศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้พ้นสภาพ สส. ซึ่งจากกระแสข่าวล่าสุด หลายฝ่ายต่างก็คาดว่าน่าจะมีการรับสมัครขึ้นในช่วง 28 พ.ย. –2 ธ.ค. ส่วนวันเลือกตั้งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นวันที่22 ธ.ค. ตามกรอบระยะเวลา 45 วันของ พ.ร.ฎ. การเลือกตั้งซ่อมขอนแก่น ซึ่งแม้การเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้จะถูกโหมโรงไปทั่ว
แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าสุดท้ายคู่แข่งระดับตัวเต็ง จะเหลือเพียง 2 พรรค นั่นก็คือพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย ที่คาดการณ์ว่าพรรคพลังประชารัฐน่าจะส่ง นายสมศักดิ์ คุณเงิน รองแชมป์สนามนี้ สู้กับตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ที่ยังเคาะรายชื่อไม่ลงตัว แต่ก็มีรายชื่อโผล่มาว่าอาจจะเป็นนายอดิศร เพียงเกษ โฆษกพรรคฯ นายประสงค์ศรีวัฒน์ นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข หรือแม้กระทั่งชื่อของนายธนิก มาสีพิทักษ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อของพรรค ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวแปรต่างๆ แล้ว ก็เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลเองมีความได้เปรียบในสนามนี้อยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
อย่างแรกคือหลังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา การทำงานของพรรคเพื่อไทยในสภาฯ กลับถูกลดบทบาทลงอย่างมากและกลายเป็นผู้เดินตามหลังพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างอนาคตใหม่ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจในตัวพรรคหรือไม่? อย่างที่สองคือตัวเต็งของพรรคเพื่อไทยที่จะส่งลงอย่างนายอดิศรนั้น ถือว่าห่างหายจากพื้นที่เขตมานาน ซึ่งทุกอย่างในวันนี้นั้นถือว่าเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร ดังนั้นการห่างหายไปย่อมส่งผลให้เกิดการจางหายไปตามวิถีธรรมชาติหรือไม่? ต้องติดตามต่อไป และอย่างสุดท้ายคือ กระแสข่าวของพรรคประชาชาติ พรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันเองที่อาจส่งนายนาวิน คำเวียง ลงแก้มือ ทั้งยังเป็นการลุ้นขยายฐานเสียงจากภาคใต้ไปยังพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย ซึ่งหากทางพรรคเพื่อไทยไม่ทำการพูดคุยตกลงกันให้ดี แน่นอนว่าย่อมเกิดการตัดคะแนนกัน จนสุดท้ายอาจส่งผลให้เกิดความปราชัยขึ้นแก่ฝ่ายค้านขึ้นหรือไม่?
ทว่าหากเกิดความพ่ายแพ้ของทางฝ่ายค้านขึ้นจริง ก็น่าสนใจว่ารัฐบาลจะใช้ความพ่ายแพ้นี้มาเป็นชิ้นส่วนแรกของการเดินเกมล้มเครือข่ายเพื่อไทยในภาคอีสานได้ต่อไปอย่างไร? ฉะนั้นแล้วการเลือกตั้งซ่อมในเขตพื้นที่ขอนแก่นนี้นับว่าเป็นการเดิมพันที่สูงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจุดที่อาจชี้เป็นชี้ตาย อาจอยู่ที่การวางตัวผู้สมัคร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการประมาทเกมการเมือง และการประเมินประชาชนที่ผิดพลาด อาจส่งผลย้ำบทเรียนเหมือนเช่นที่นครปฐมใช่หรือไม่?
“…คนทำศึก หากไม่รู้ดินฟ้าอากาศ ไม่รู้เรื่องหยินหยาง
ไม่รู้จักกลยุทธ์ ไม่รู้จักใช้คน ไม่รู้จักวางแผน คือความโง่เขลา…”
ขงเบ้ง จากเรื่องสามก๊ก (1994)
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี