พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่า รัฐบาลไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นภายในปี 2563 นี้ แต่จะเป็นในรูปแบบการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ ทุกประเภททั้งหมดภายในทีเดียว หรือจะค่อยๆ ทยอยกันเลือกตั้งกันไปทีละระดับ ทีละประเภท ก็ยังไม่ได้มีการพิจารณาตัดสินใจให้เป็นที่แน่ชัด
แต่อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นครบทุกระดับ และประเภทเป็นแน่แท้ เพราะมันเป็นความต้องการของประชาชนพลเมือง และเป็นการย้อนกลับไปขยายความเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยของไทย รวมทั้งเป็นการกระจายอำนาจอีกด้วย
ก็แน่นอนว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นมีหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมการและจัดการเลือกตั้ง
หลังจากการประกาศดังกล่าว พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็เริ่มเฟ้นหาตัวผู้สมัครของตนเพื่อลงแข่งขัน
ส่วนนักการเมืองอิสระที่ไม่สังกัดพรรคหรือกลุ่ม ก็เริ่มขยับตัวให้เป็นที่รู้จักและเสริมสร้างฐาน สร้างเครือข่ายกัน นอกจากนั้นบางคน แม้จะสังกัดพรรค แต่ก็เลือกลงอิสระไปก่อน โดยมีพรรคสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แล้วเมื่อได้ตำแหน่งแล้ว จะเข้าพรรคทีหลังหรือไม่ ก็ค่อยว่ากันอีกที
ทั้งนี้ทั้งนั้น ต่างก็เป็นการวางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี และดูกระแสการเมืองไปในตัวด้วย
ก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของผู้สมัครและของพรรค หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ ว่าจะเลือกวิธีใด แต่เป้าหมายสูงสุดก็คือ การกุมชัยชนะ
แต่ประเด็นก็คือความพร้อมของบรรดาผู้สมัครเล่า?
คำถามนี้มิได้หมายถึงความพร้อมทั้งทางด้านการเงิน อุดมการณ์ หรือประสบการณ์ หรือความอยากความทะเยอทะยาน แต่หมายถึงความพร้อมในการเป็นผู้อาสา (Volunteer) เข้ามารับใช้บ้านเมือง
ในระดับท้องถิ่นนี้
ผู้อาสาคือ ผู้อยากทำอะไรให้บ้านเมือง ให้เจริญก้าวหน้า และประชาชนพลเมืองมีความผาสุก มีอนาคตที่มั่นคงปลอดภัย
ผู้อาสาคือ ผู้มิประสงค์มาเอาประโยชน์เข้าตัว หรือมารังแก หรือเบียดเบียนสังคม
ผู้อาสาต้องเข้ามาบริการและรับใช้สังคมเท่านั้น และต้องรู้ซึ้งภาระหน้าที่ ต้องรู้กฎเกณฑ์กติกา ต้องรู้กฎหมายบ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม และต้องเข้าใจบริบทโลก และสถานะของประเทศไทยในโลกกว้าง เป็นต้น
ฉะนั้น กฎเกณฑ์เงื่อนไขทั่วๆ ไปที่มีกันมา ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้สมัคร ณ วันนี้ (เช่น ไม่มีคดีความอาญา ให้มีวุฒิการศึกษา ให้มีอายุอย่างต่ำ) จึงไม่เป็นการเพียงพอ
เรื่องสำคัญในยุคสมัยนี้ ก็คือการประดับองค์ความรู้ ซึ่งผู้อาสาเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนต้องมีความรู้ทางด้านการบ้านการเมือง และต้องตระหนักในเรื่องจริยธรรม และคุณธรรม เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ด้วยหลักธรรมาภิบาล
ฉะนั้น ผู้สมัครทุกคนควรจะต้องผ่านการคัดกรองเบื้องต้น โดยเฉพาะการเข้าโรงเรียนฝึกอบรมทางการเมือง และการเป็นพลเมือง ซึ่งในรัฐบาล คสช. นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้มีการพิจารณากันในกรอบของการปฏิรูปประเทศโดยทั่วไป และการปฏิรูปการเมืองเป็นการเฉพาะ
ความว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ได้จัดทำแผนแม่บท ว่าด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานการฝึกอบรมผู้สมัครการเมืองท้องถิ่นได้
นอกจากนั้น สถาบันพระปกเกล้า สภาพัฒนาการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีการเรียนการสอน การฝึกอบรมเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตยกันอยู่บ้างแล้วก็สามารถนำมาผสมผสานจัดเป็นหลักสูตรกลางเพื่อพัฒนาผู้สมัครและคัดกรองเบื้องต้นด้วย
ฉะนั้นในการประกาศวันเวลาจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลประยุทธ์ ให้จัดตั้งหลักสูตรการอบรมทางการเมืองให้เรียบร้อย เพื่อที่จะได้กำหนดให้ผู้สมัครการเมืองต้องเข้าโรงเรียนการเมือง เป็นเงื่อนไขคุณสมบัติผู้สมัครที่สำคัญและจำเป็นอย่างหนึ่ง สังคมไทยจะได้มีความมั่นใจและศรัทธายิ่งขึ้นว่าผู้สมัครอาสามารับใช้บ้านเมืองนั้น มีคุณภาพทั้งความรู้และจริยธรรม
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี