การประชุมสภาร่วมเพื่อผ่านร่างพ.ร.บ.ประชามติได้ผ่านไปแล้วเมื่อ วันอังคาร และขณะนี้กำลังมีการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอีกสองวัน ซึ่งในส่วนของกฎหมายประชามติถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการปลดล็อกแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันไปแล้ว ขณะที่นอกสภา กลุ่มเยาวชนยังคงวนเวียนกับการจัดกิจกรรมกลุ่มเชิงสัญลักษณ์แบบต่างๆ ซึ่งวันนี้ก็จัดชุมนุมเพื่อระลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งที่ในสภาสองวันนี้กำลังมีการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญที่น่าจะติดตาม ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นนี้จะได้ทันใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรืออาจจะยุบสภาก่อน?
พ.ร.บ.ประชามติ ที่เพิ่งผ่านไปนี้ ประชาชนสามารถเข้าชื่อร่วมกันเพื่อเสนอร่างแก้ไขได้ หรือรวมไปถึงพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองที่จะมีบทบาทมากขึ้นในการรณรงค์ให้มีการทำประชามติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย ซึ่งนั่นก็ทำให้ในอนาคตอันใกล้อาจเกิดการเสนอร่างกฎหมาย หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการออกโรงของพรรคการเมืองกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องผ่านม็อบใดๆ
แต่ประเด็นในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองต่างๆ ที่นอกจากเรื่องสิทธิต่างๆ ของประชาชนแล้ว ที่ถกเถียงกันมากกลับเป็น เรื่องการขึ้นสู่อำนาจ ของนายกรัฐมนตรี และการได้มาของสส.แต่ละพรรคจากกรณีบัตรเลือกตั้ง เพราะหลายพรรคบาดเจ็บอย่างหนักจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
หลังจากที่กฎการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้พรรคการเมืองบางพรรคอ่อนแอลงประกอบกับบัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวที่ทำให้หลายพรรคใหญ่ต้องเสียพื้นที่ของสส.บัญชีรายชื่อไป ทำให้พรรคการเมืองไทยในขณะนี้เต็มไปด้วย พรรคเล็กๆ จำนวนมาก และในพรรคใหญ่ที่รอดมาได้ก็ต้องมีการปรับตัวภายในจนนำไปสู่ความขัดแย้งในหลายพรรค
พรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่หลังการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แม้ได้สส.บัญชีรายชื่อมาจำนวนหนึ่ง แต่นั่นก็เป็นผลจากการที่สส.เขตสอบตกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ทำให้นายอภิสิทธิ์ ต้องแสดงความรับผิดชอบตามที่เคยประกาศไว้ด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรค และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารภายในชุดใหม่ แต่กลับยิ่งทำให้เกิดปมขัดแย้งภายในจนทำให้ สส. และผู้สมัครหลายคนตัดสินใจเดินออกจากพรรค แม้กระทั่งนายอภิสิทธิ์เองที่ลาออกจากสส.ในสภาด้วย เพื่อรักษาสัญญาที่ให้กับประชาชน ขณะที่รุ่นใหญ่หลายคนในประชาธิปัตย์ ที่มีตั้งแต่ลาออกจากสส.อย่างนายพีรพันธุ์ ไปจนถึงลาออกจากสมาชิกพรรค อย่างนายกรณ์ จาติกวณิช ที่ตัดสินใจลาออกเพื่อไปตามหาแนวทางของตนเอง และตั้งพรรคกล้า โดยมี สส.เก่าอย่างนายอรรถวิชช์ ที่ตามออกไปด้วยและคงมีการลงพื้นที่เพื่อหาผู้สมัคร และสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้พรรคกล้าเองก็อาจได้รับความสนใจในการเลือกตั้งครั้งหน้าจากคนรุ่นใหม่ตลอดจนฐานเดิมประชาธิปัตย์ด้วยหรือไม่
พรรคเพื่อไทยเอง หลังการเลือกตั้งแม้จะได้คะแนนเสียงจำนวนมาก แต่ก็ประสบปัญหาสส.บัญชีรายชื่อเข้าสภา
ไม่ได้แม้แต่คนเดียว นั่นเท่ากับแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยแทบไม่ได้เข้าสภาเลย สุดท้ายก็กระทบการบริหารภายในอย่างมากในปีแรก ทั้งการคุมเกมในสภาและการคุมเกมในพรรค จนนำไปสู่แรงกระเพื่อมในพรรคอยู่ไม่น้อยหลังจากที่บิ๊กบอสไม่ชี้ให้ชัดว่าใครจะเป็นผู้นำทัพเพื่อไทยที่แท้จริง ซึ่งไม่รู้ว่าเกี่ยวกันหรือไม่ กับการลาออกของคุณหญิงสุดารัตน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค และได้ตั้งพรรคใหม่ในนาม “ไทยสร้างไทย” ซึ่งน่าจะมีบทบาทไม่น้อยในการเลือกตั้งครั้งหน้า และด้วยชื่อชั้นคุณหญิงสุดารัตน์ ก็เชื่อว่าจะเป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดความสนใจ สส.เพื่อไทยไม่น้อย ให้ต้องลังเล โดยเฉพาะในพื้นกทม.ซึ่งอีกไม่นานคาดว่าจะได้เห็นคุณหญิงฯ ขยับมากขึ้นในพื้นที่กทม.เพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งใหญ่ต่อไป แต่ขณะนี้สนาม กทม.เองก็เริ่มมีการขยับของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. อยู่บ้างแล้ว เพราะตามกำหนดการเดิมที่น่าจะเลือกตั้งปลายปีนี้
เคยเป็นแคนดิเดทนายกฯ ของเพื่อไทยแต่ก็ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคแล้วอีกคน และก็มีข่าวว่าจะลงผู้ว่าฯกทม. ในรอบนี้ ซึ่งเราก็ได้เห็นข่าวนายชัชชาติเองที่มีการลงพื้นที่ กทม.อยู่บ่อยครั้งแต่ก็ยังไม่มีการยืนยันที่แท้จริงจากเจ้าตัวว่าจะลงหรือไม่? และลงในนามพรรคใดหรือลงอิสระ แต่ที่ประกาศชัดๆ และหลายคนมองว่าเป็นหนึ่งในตัวเก็งอย่าง อดีตผบ.ตร.พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ที่น่าจะลงสมัครผู้ว่าฯกทม.แต่ก็ยังไม่เคยออกมาประกาศว่าจะลงในนามพรรคใดหรือลงอิสระ หรือแม้แต่พรรคที่น่าจะมีความใกล้ชิดอย่างพลังประชารัฐก็ไม่เคยออกมาประกาศว่าจะส่งใครลง เช่นเดียวกับแชมป์เก่าอย่างประชาธิปัตย์ที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ประกาศว่าจะส่งใครลง นี่จึงน่าเป็นครั้งแรกในช่วงหลังๆ ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่พรรคการเมืองใหญ่ยังไม่กล้าประกาศว่าจะส่งใครลง และผู้สมัครเองก็ไม่ยอมลงในนามสังกัดพรรคการเมือง
ส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ของการที่ยังตัดสินใจไม่ได้หรือไม่ยอมตัดสินใจของพรรคการเมืองต่างๆ ก็คือการวางยุทธศาสตร์การเมืองของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังไม่สามารถทำได้เพราะยังมีความหวังกับการแก้ไขกติกาบางอย่างเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ? อันเป็นผลให้เกิดปัญหาภายในของพรรคการเมืองแต่ละพรรคเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
พรรคใหญ่อย่างพรรคพลังประชารัฐที่แม้ว่าจะได้แต้มอย่างมากทั้งใน สส.บัญชีรายชื่อ และสส.ระบบเขต แต่กลับประสบปัญหาภายในแทน จนนำไปสู่การลาออกของกลุ่มดร.สมคิด ที่ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรค ที่ตอนนี้ก็ยัง
ไม่แน่ใจในรอบหน้าจะย้ายพรรคหรือตั้งพรรคใหม่
แต่ภายหลังการปรับเปลี่ยนการบริหารภายในพรรคหลายครั้งก็มาลงตัวครั้งล่าสุดที่ได้เปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคมาเป็นร้อยเอกธรรมนัส แม้หลายคนจะมองว่าน่าจะเป็นสายตรงหัวหน้าพรรค และใจถึงพึ่งได้ตัวจริง รวมถึงน่าจะสามารถดึงดูดสส.จากขั้วฝ่ายค้านเข้าพรรคได้ไม่น้อย แต่ก็มีข่าวว่าได้สร้างความอึดอัดกับสส.บางส่วนของพปชร.ไม่น้อยโดยเฉพาะพื้นที่กทม. ที่ต้องอาศัยกระแสเป็นหลัก แต่ที่ยังไม่มีใครกล้าขยับเพราะทุกคนรอดูท่าทีเรื่องกติกาเลือกตั้งเช่นกัน
นั่นคือแต่ละพรรคกำลังรอท่าทีการแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งก่อน ?
ซึ่งอาจเป็นโจทย์เดียวกับการตัดสินใจอยู่หรือไปของสส.ในพรรคใหญ่สองพรรคขณะนี้ ?
สิ่งที่บรรดานักการเมืองหลายพรรคกำลังจับตา คือกติกาการเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ด้วยปัจจัยเรื่องวาระของ สว. ที่คาดว่าไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงคือ สว. จะอยู่จนครบวาระ 5 ปี แต่กติกาการเลือกตั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเรื่องนี้ นักวิชาการการเมืองหลายคนก็ให้ความเห็นว่า ในครั้งที่ผ่านมาด้วยความที่พรรคเกิดใหม่มีมาก กติกาก็อาจถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้พรรคการเมืองใหม่ได้มีโอกาสในการแข่งขัน กล่าวคือตัดกำลังพรรคใหญ่
อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ แต่ในวันนี้ที่สถานการณ์เปลี่ยนไป พลังประชารัฐ เพื่อไทย ภูมิใจไทยกลับเป็นพรรคใหญ่ที่ได้รับความสนใจ ก็อาจทำให้เกิดการตกลงปลงใจในเรื่องของการแก้กติกาเพื่อชิงดำกันไปเลยระหว่างเพื่อไทย หรือพลังประชารัฐ และอาจเป็นการกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมืองของทั้งคู่อย่างก้าวไกล ที่เป็นพรรคที่มาตัดคะแนนเพื่อไทย และเป็นอุปสรรคของพลังประชารัฐตลอดมา หรือไม่?
จึงเกิดแนวความคิดการกลับมาของกติกาการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบคือการเลือกตั้ง สส. เขต และสส.บัญชีรายชื่อจากพรรคที่ชอบ ซึ่งเรื่องนี้ก็จะกลับมาทำให้เพื่อไทยได้มีสส.บัญชีรายชื่ออย่างแน่นอน ส่วนพลังประชารัฐเองหากมีความมั่นใจใน สส.เขตในสังกัดจริงก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพียงต้องมั่นใจว่าจังหวะการชิงดำดังกล่าวขึ้นกับ 2 พรรคใหญ่ดังกล่าวจริงๆ โดยไม่มีพรรคเล็กอื่นๆ มาตัดคะแนนไปเสียก่อน
เรื่องนี้อาจต้องดูสถานการณ์อีกทีว่าการบริหารงานในช่วง 120 วันหลังจากนี้ การบริหารสถานการณ์โควิด-19 อาจเป็นเครื่องชี้วัดกติกา และเกมการเมืองในอนาคตว่าจะไปทางไหน ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ บริหารจัดการวัคซีนได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี ก็อาจทำให้คะแนนนิยมกลับมาอยู่ที่ตัวนายกฯประยุทธ์และพลังประชารัฐต่อไป กติกาที่อาจเกิดขึ้นก็อาจเป็นเพื่อเอื้ออำนวยให้พรรค หรือพรรคร่วมรัฐบาลได้พอหายใจได้ไม่ลำบากมากนักและทำให้รัฐบาลต่อไปมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ในทางกลับกันหากการบริหารสถานการณ์ไม่ได้ก็อาจทำให้ประชาชนตัดสินใจในทางตรงกันข้าม การกำหนดกติกาก็อาจปรับเปลี่ยนไปด้วย ทั้งหมดอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ว่าจะทำได้ดีในโค้งสุดท้ายนี้แค่ไหน.....
“มนุษย์มีชีวิตอยู่ด้วยการเปลี่ยนแปลง มนุษย์พ่ายแพ้ต่อชะตากรรมที่ตนเองเลือกเสมอ”
(โกวเล้ง จาก มังกรเมรัย)
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี