น้ำมันแพงเพราะอะไร?
ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันขายปลีกในบ้านเราขยับขึ้นต่อเนื่อง เพราะอะไร?
1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขยับตัวสูงขึ้นจริงๆ
ล่าสุด สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ WTI ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับน้ำมันดิบของสหรัฐ อยู่ที่ 87.97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์ ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานน้ำมันทั่วโลก อยู่ที่ 89.16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6
นักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยกดดัน ได้แก่ ความกังวลทางการเมืองเกี่ยวกับความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และการประชุมของกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมัน OPEC+ ซึ่งประชุมประจำเดือนกุมภาพันธ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมาอนุมัติการผลิตอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน โดยการเพิ่มการผลิตทีละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน เกิดขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลดปริมาณการผลิตลงมากถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ในปี 2020)
ราคาน้ำมันดิบเพิ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี
2. เราผลิตน้ำมันได้บางส่วน แต่ต้องนำเข้าเป็นหลัก
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แจกแจงว่า แม้ไทยจะขุดน้ำมันได้เยอะ แต่ก็ต้องนำเข้าเป็นหลัก เพราะการจัดหาพลังงานในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้จึงต้องนำเข้าทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ
ข้อมูลเฉลี่ยเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ความต้องการน้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 951,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ผลิตได้ในประเทศเพียง 100,000 บาร์เรลต่อวัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะน้ำมันดิบ และต้องผ่านกระบวนการกลั่นเพื่อแยกสารประกอบออกเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ
โดยที่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยถูกออกแบบมาเพื่อกลั่นผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปสำหรับใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยการอ้างอิงราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชียบวกกับค่าขนส่งมายังโรงกลั่นในประเทศ เพื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นในประเทศต้องไม่สูงกว่าราคาที่อ้างอิง
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมต้องอิงราคาสิงคโปร์ทั้งที่กลั่นในไทย นายวัฒนพงษ์อธิบายว่า ปัจจุบันศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันของโลกกระจายอยู่ใน 3 ภูมิภาคคือ ตลาด NYMEX อเมริกา ตลาด ICE ยุโรป และตลาด SGX เอเชีย ซึ่งการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นของไทยใช้วิธี Import Parity เป็นการเทียบเคียงกับการนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ เนื่องจากตลาดสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันของไทยต่ำที่สุด
ทั้งนี้ คำว่า “ราคาสิงคโปร์” นั้น ไม่ใช่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ประกาศโดยรัฐบาลหรือโรงกลั่นของประเทศสิงคโปร์ แต่เป็นราคาซื้อขายน้ำมันระหว่างผู้ค้าน้ำมันในภูมิภาคเอเชียที่ตกลงกันผ่านตลาดกลางที่ประเทศสิงคโปร์
3. ราคาขายปลีกน้ำมันในบ้านเรา มีการจัดเก็บภาษี และเงินกองทุนน้ำมัน แล้วแต่ชนิดของน้ำมัน
จะเห็นว่า บางประเทศ ราคาปลีกน้ำมันถูกกว่าไทย ทำไม?
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ชี้แจงว่า เป็นเพราะโครงสร้างราคาน้ำมันของแต่ละประเทศแตกต่างกัน
แบ่งเป็น 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้
(1) ด้านต้นทุนเนื้อน้ำมัน ราคาน้ำมันของประเทศไทย มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เช่นเดียวกัน แต่ต้นทุนค่าขนส่งของประเทศไทยและมาเลเซียแตกต่างกันตามระยะทางจากตลาดสิงคโปร์ ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันของไทยสูงกว่ามาเลเซีย ซึ่งอยู่ใกล้ตลาดสิงคโปร์มากกว่า
ต่อมา คือ ต้นทุนคุณภาพน้ำมันของไทย (ยูโร 4) สูงกว่าบางประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีคุณภาพน้ำมันในระดับที่ต่ำกว่า และต้นทุนเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอลและไบโอดีเซล) ที่เป็นส่วนผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E10, E20, E85, 91, E10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 บี10 และ บี20 ตามนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนในประเทศไทย
(2) ด้านภาษีและกองทุน โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยมีการเก็บภาษีและเงินกองทุน (กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน บางประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน อาทิ มาเลเซีย ไม่มีการจัดเก็บภาษีและกองทุน เนื่องจากมีรายได้จากการผลิตและส่งออกน้ำมัน
“เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าราคาของประเทศไทยก็ไม่ได้มีราคาสูงหรือต่ำไปมากตามที่มักมีการกล่าวอ้าง ดังเช่นข้อมูลราคาขายปลีกราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 17 มกราคม 2565 ประเทศที่มีราคาน้ำมันดีเซลถูกกว่าประเทศไทย ได้แก่ บรูไน อยู่ที่ 7.65 บาทต่อลิตร มาเลเซีย อยู่ที่ 17.08 บาทต่อลิตรเมียนมา อยู่ที่ 28.35 บาทต่อลิตร และอินโดนีเซีย อยู่ที่ 27.87 บาทต่อลิตร”ผอ.สนพ. กล่าว
4. น้ำมันดีเซลในบ้านเรา มีการผสมไบโอดีเซล ซึ่งมีราคาแพง
ที่ผ่านมา ภาครัฐส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างต่อเนื่องโดยปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น ปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ บี100 มีราคาสูงขึ้นมาก โดยกระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อช่วยสร้างสมดุลให้เกษตรกรปาล์มน้ำมัน
เมื่อราคาไบโอดีเซลสูงขึ้น จึงมีผลกระทบกับราคาน้ำมัน เนื่องจากกระทรวงพลังงานใช้ราคาไบโอดีเซลอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนน้ำมันหน้าโรงกลั่นเพื่อจัดทำประกาศโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล บี7 บี10 และ บี20 หากราคาไบโอดีเซลปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกและผู้ใช้น้ำมัน
ที่ผ่านมา มีการลดสัดส่วน บี100 ลง โดย กบง.ให้ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้ไม่เกินร้อยละ 7 เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564-31 มีนาคม 2565 รวมทั้งกำหนดให้ราคาของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีราคาไม่สูงกว่า 30 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
5. เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่ประชุม กบง. มีมติเห็นชอบแนวทางการการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (บี100) ในภาวะวิกฤติด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาสัดส่วนผสมการผสม ไบโอดีเซล (บี 100) ในภาวะวิกฤตด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยได้กำหนดแนวทางการสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในภาวะปกติ เป็น 2 ระยะ
ระยะสั้น (พ.ศ. 2565 ถึง 2566) กำหนดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 2 เกรดคือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 สำหรับใช้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่
ระยะยาว (พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป) กำหนดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 เกรดเดียว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กบง. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ซึ่งกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสมของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ดังนี้
น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร
น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10โดยปริมาตร
และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20โดยปริมาตร
พูดง่ายๆ ว่า จะนำไบโอดีเซล (บี100) มาผสมน้อยลง เพื่อลดต้นทุนแต่นั่นก็อาจมีผลให้ราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกรลดลงไปบ้างเช่นกัน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี