คำว่า “คุกเมืองไทย มีไว้เพื่อขังหมา กับคนจน” คำนี้แม้จะเป็นคำที่ดูเป็นการเสียดสี ถากถาง เย้ยหยันกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างรุนแรง แต่ทว่ามันเป็นความจริงในหลายกรณี
เราทุกคนในสังคมไทยประจักษ์ดีว่า มีคนยากคนจน คนด้อยโอกาสจำนวนไม่น้อยต้องถูกส่งตัวเข้าไปจองจำในคุก หรือในเรือนจำ เพียงเพราะว่าทำผิดในคดีลหุโทษ แต่ไม่มีเงินเสียค่าปรับสินไหม สุดท้ายจึงต้องถูกส่งตัวเข้าไปอยู่ในคุก
เช่น เมื่อกลางปี 2542 มีคดีชายหนุ่มวัย 16 ปี ซึ่งเป็นพนักงานของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ถูกจับฐานขโมยซาลาเปาไส้ครีม 1 ลูก เพื่อนำไปให้น้องชายรับประทาน โดยซาลาเปาที่เขาขโมยนั้นเป็นของที่ต้องถูกนำไปทิ้ง เนื่องจากหมดอายุการจำหน่ายตามนโยบายของห้างฯ แต่เขาถูกจับได้ว่าขโมยซาลาเปา
ชายหนุ่มคนดังกล่าวถูกไล่ออกจากงาน และแม่ของเขาก็ถูกไล่ออกจากงานด้วย เนื่องจากถูกระบุว่ามีส่วนร่วมรู้เห็นกับการขโมยซาลาเปาหนึ่งลูก
เพื่อนพนักงานในห้างฯ บอกว่าชายหนุ่มรายนี้เป็นคนตั้งใจทำงาน และไม่เคยมีปัญหาใดๆ กับเพื่อนร่วมงาน และในวันเกิดเหตุนั้น ชายหนุ่มคนดังกล่าวก็ได้ซื้อซาลาเปาแล้ว 1 ลูก เพื่อนำไปให้น้องรับประทาน แต่เมื่อเขาได้รับคำสั่งให้นำซาลาเปาที่ขายไม่หมดไปทิ้ง เขาจึงตัดสินใจหยิบ (หรือขโมย) ซาลาเปาอีกหนึ่งลูก
แน่นอนว่าห้างฯ มีกฎระเบียบในเรื่องการขโมยสินค้าของห้างฯ และต้องทำตามกฎระเบียบโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขโมยสินค้าที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ถามว่าการขโมยสินค้าจากห้างฯ ผิดกฎหมายหรือไม่ ตอบว่าผิดแน่นอน แต่คำถามตามมาคือ การลงโทษที่ถือได้ว่ารุนแรงเกินกว่าเหตุ เป็นสิ่งเหมาะสมหรือไม่ และการลงโทษด้วยวิธีการรุนแรงเกินไปเช่นนี้ ทำให้แก้ปัญหาของสังคม หรือเป็นการเพิ่มปัญหาให้สังคมมากกว่ากัน
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อในเรื่องนี้คือ ผู้กระทำความผิดกระทำไปโดยสันดานของนักโจรกรรม ใช่หรือไม่ แล้วที่ผ่านๆ มานั้น เขาเคยกระทำความผิดลักษณะเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่องหรือเป็นประจำหรือไม่
เนื้อหาในข่าวระบุว่า เขาขโมยซาลาเปาหนึ่งลูกเพื่อนำไปให้น้อง และเขาขโมยของที่ถูกสั่งให้นำไปทิ้ง
ยังนับว่าโชคดีที่คดีนี้ได้รับการช่วยเหลือจากสภาทนายความแห่งประเทศไทย และอัยการ จึงทำให้การพิจารณาโทษทัณฑ์ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ
แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคดีความในลักษณะใกล้เคียงกับเรื่องที่กล่าวมาในข้างต้นเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกเป็นร้อยคดี ดังที่เราเคยได้ยินข่าว แม่ผู้มีฐานะยากจน ก่อเหตุขโมยซาลาเปาสองลูกจากร้านสะดวกซื้อ จนสุดท้ายถูกส่งตัวไปกักขัง เพราะไม่มีเงินเสียค่าปรับ จึงต้องเข้าไปติดคุกแทนเงินค่าปรับ
สำหรับคดีเด็กหนุ่มขโมยซาลาเปา นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ อัยการสูงสุด (ในขณะเกิดคดีนั้น) ให้ความเห็นว่า แม้ผู้กระทำผิดมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต แต่ในความเป็นจริงนั้น ชายหนุ่มต้องการนำซาลาเปาไปให้น้องชายรับประทาน เพื่อให้น้องชายหลุดพ้นจากความหิวโหย ถึงแม้ผู้กระทำผิดจะกระทำความผิดครบองค์ประกอบของกฎหมายอาญา แต่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็จำเป็นต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของหลักกฎหมายเป็นสำคัญ
คำถามต่อมาคือ ชายหนุ่มคนนี้มีพฤติกรรมเป็นโจรลักขโมยเป็นอาจิณหรือไม่ หากไม่ใช่ กฎหมายควรจะเอาผิดด้วยการลงโทษชายหนุ่มผู้นี้ด้วยการนำตัวไปจองจำคุมขังหรือไม่ การฟ้องคดีว่าชายหนุ่มผู้นี้มีความผิดฐานลักทรัพย์ แล้วหากเขาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ แล้วเขาต้องถูกส่งตัวไปเข้าห้องขัง หรือเรือนจำ มันเป็นสิ่งสมควรหรือไม่ สังคมได้ประโยชน์อะไรจากการตัดสินคดีด้วยการจำคุกหรือไม่ หากมั่นใจว่าเขาไม่ใช่ผู้ร้ายโดยกมลสันดาน และไม่มีพฤติกรรมกระทำผิดต่อเนื่องเป็นประจำ และถึงแม้ศาลสั่งให้รอลงอาญา แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ควรจะทำให้คนใดก็ตามต้องมีประวัติอาชญากรติดตัวไป
นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า หากศาลจะลงโทษชายหนุ่ม ก็ควรจะต้องส่งตัวไปบ้านกรุณา ผมไม่ขอวิจารณ์อะไรมาก แต่ต้องไม่ส่งเขาเข้ากระบวนการยุติธรรมต่อไป ควรให้เรื่องจบที่ชั้นอัยการ ต้องไม่มองว่าชายหนุ่มคนนี้เป็นอาชญากร ต้องไม่เอาเขาไปเข้าคุกเข้าตะราง อัยการต้องทำงานเพื่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่มองแค่เพียงตัวบทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยยังคงมีบุคคลมากมายที่ต้องถูกส่งตัวไปจำขัง ติดคุก เพียงเพราะว่าทำผิดคดีลหุโทษ แต่ไม่มีเงินเสียค่าปรับ ซึ่งเข้าตำราเพราะจน จึงต้องติดคุก
ตามสถิติที่อ้างอิงจาก change.org ระบุว่าในแต่ละปีมีคนจำนวน 6 หมื่นคนต้องติดคุก เพราะไม่มีเงินเสียค่าปรับ คือต้องติดคุกระหว่างรอการพิจารณาคดี การใช้ระบบเงินประกันตัวและนำไปสู่การคุมขังคนที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ากระทำผิด แต่เขากลับต้องติดคุกเพียงเพราะว่าไม่มีเงินประกันตัว เป็นเรื่องที่สังคมไทยเห็นว่าเป็นความยุติธรรม กระนั้นหรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ถูกระบุว่ากระทำผิดในคดีลหุโทษ
ตัวอย่างคดีต่างๆ ที่ทำให้คนจนต้องถูกส่งตัวไปคุมขังมีให้เห็นมากมาย เช่น คนขับรถแท็กซี่ถูกตำรวจจับเพราะในรถคันที่เขาขับ มีผู้ต้องหาคดียาเสพติดสองราย แต่ตัวคนขับรถแท็กซี่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาไปด้วย คดีนี้ผู้ต้องหาสองคนที่ในตัวมียาเสพติดใช้เงินประกันตัว จึงไม่ต้องติดคุกระหว่างรอดำเนินคดี แต่คนขับแท็กซี่ไม่มีเงินประกันตัว จึงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ คนขับแท็กซีต้องติดคุกเป็นเวลานับปี แต่สุดท้ายเขาถูกพิพากษาว่าไม่มีความผิดถามว่าแล้วที่เขาต้องติดคุกไปแล้ว ใครรับผิดชอบ เขาต้องติดคุกทั้งๆ ที่เขาไม่มีความผิด มันเป็นความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม กระนั้นหรือ
ขอย้ำว่าเรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นกับคนจนที่ถูกกล่าวหาซักทอดว่าทำผิดคดีอาญา แต่ทว่าเขาไม่มีเงินประกันตัว เขาจึงต้องติดคุก แล้วสุดท้ายศาลพิพากษาว่าเขาไม่ผิด เรื่องแบบนี้สังคมไทยเห็นว่าเป็นความยุติธรรม ใช่หรือไม่
ระบบเงินประกันตัวจำเป็นหรือไม่ในคดีลหุโทษ คำถามนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากมายในสังคมไทย แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีระบบเงินประกันตัวอยู่
ตามขั้นตอนการทำงานของศาลไทย ก่อนที่ศาลจะตัดสินว่าใครถูกหรือผิด โดยรวมความถึงผู้ต้องสงสัยด้วย ทั้งนี้ผู้ที่ถูกตำรวจจับกุม ณ จุดเกิดเหตุจะถูกนำตัวไปฝากขัง ตามข้ออ้างว่าเพื่อป้องกันการหลบหนีคดีระหว่างการพิจารณาคดี หากมีเงินประกันตัว ก็จะได้รับการประกันตัวออกไป แล้วเมื่อไปศาลตามนัด ก็จะได้รับเงินประกันคือ ไม่ว่าจะถูกตัดสินว่าผิดหรือถูกก็ตาม
แต่สำหรับคนยากคนจนที่ไม่มีเงินประกันตัว ก็ต้องติดคุกระหว่างรอผลการพิจารณาคดี ตามสถิติพบว่ามีผู้ที่ต้องติดคุกระหว่างรอผลการพิจารณาคดีโดยเฉลี่ยเป็นเวลา 6 เดือนถึง1 ปี โดยมีจำนวนเฉลี่ยปีละประมาณ 6 หมื่นคน
เรื่องเลวร้ายเช่นนี้ทำให้บางคนถึงกับยอมรับสารภาพทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้ทำผิดแต่ประการใด ซึ่งการรับสารภาพนั้นก็มีหลายเหตุผล อาจจะมาจากตำรวจแนะนำ หรือบีบบังคับให้รับสารภาพก็ได้ หรือบางทีรับสารภาพเอง เพราะเข้าใจว่าจะได้รับโทษน้อยกว่าเกณฑ์สูงสุดตามกฎหมายกำหนด
แต่ที่น่าสังเวชและแสนทุเรศคือคนรวย คนมีฐานะ คนมีผู้หนุนหลังที่ทำความผิดในคดีร้ายแรงอุกฉกรรจ์ที่ยอมจ่ายเงินประกันตัว แล้วสุดท้ายก็หนีคดีกันไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระบวนการยุติธรรมไทยก็มักไม่มีปัญญาติดตามตัวนักโทษเหล่านั้นกลับมาดำเนินคดี หรือไม่ก็ปล่อยให้คดีหมดอายุความไปโดยปริยาย
ถามอีกครั้งว่า การนำตัวคนที่ทำความผิดลหุโทษแต่ไม่มีเงินเสียค่าปรับ ไปเข้ากักขังในเรือนจำ ช่วยทำให้สังคมไทยดีขึ้น กระนั้นหรือ ลดความผิดลหุโทษและความผิดต่างๆ ได้จริงหรือ
การนำคนที่ไม่มีสันดานโจรโดยแท้เข้าไปติดคุกคือการทำให้คนดีๆ ต้องกลายเป็นโจรไปในที่สุด ใช่หรือไม่ การส่งคนมากมายเข้าไปแออัดแน่นขนัดอยู่ในคุก เป็นหนทางแก้ปัญหาคดีอาชญากรรมของสังคมไทย จริงหรือ
การส่งคนที่ไม่สมควรต้องติดคุก เข้าไปอยู่ในคุกคือการทำให้ประเทศชาติสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลในแต่ละปี โดยเฉลี่ยประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปี
ขอย้ำว่าการจ่ายเงินค่าปรับ หรือเป็นเงินประกัน ไม่ใช่เครื่องยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าคนที่ประกันตัวจะไม่หลบหนีคดี โดยเฉพาะคดีร้ายแรงอุกฉกรรจ์ และคดีฉ้อราษฎร์บังหลวง โกงบ้านกินเมืองที่เกิดขึ้นเป็นประจำและตลอดเวลา
การแก้ปัญหาจ่ายเงินประกันตัวเพื่อสู้คดีมีตัวอย่างให้เห็นจากกระบวนการยุติธรรม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และมีความพยายามนำระบบจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรมของบ้านเราแล้วคือ เจ้าหน้าที่ศาลจะนำข้อมูลทั้งหมดของผู้ต้องหามาประเมินว่าจะหนีคดีหรือไม่ เช่น ดูประวัติอาชญากรรม ประวัติยาเสพติด คดีเก่าที่เคยมีมาก่อน รายได้
จากนั้น ผู้พิพากษาก็นำข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ศาลที่ทำไว้ไปพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ถ้ามีความเสี่ยงน้อยมาก ก็ให้สาบานตนไว้ แล้วนัดมารายงานตัวในวันต่อไป ถ้ามีความเสี่ยงปานกลาง ก็ให้ไปรายงานตัวด้วยการสแกนลายนิ้วมือผ่านระบบอินเตอร์เนต หรือผ่าน Application ของศาล หรือให้สวมกำไลข้อเท้า แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะหนีคดี ก็สามารถสั่งกักขังได้
การใช้ระบบเก็บข้อมูลจากด้วยกรรมวิธีข้างต้นสามารถช่วยลดจำนวนการส่งผู้ต้องหาเข้าไปแออัดในเรือนจำและในคุกได้อย่างเป็นรูปธรรม มีข้อมูลว่าในเรือนจำของไทยยุคปัจจุบันมีผู้ต้องขังประมาณ 2.4 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขัง เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าประกันตัว 6 หมื่นคน ซึ่งเท่ากับประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ต้องขัง
ทั้งหมด การลดจำนวนผู้ต้องขังอันเกิดมาจากไม่มีเงินจ่ายค่าประกันตัว จึงสามารถช่วยลดความแออัดภายในเรือนจำได้อย่างเป็นรูปธรรมสูงสุด และยังช่วยลดโอกาสการส่งคนที่ไม่มีพฤติกรรมเป็นโจรโดยกมลสันดานเข้าไปเรียนรู้พฤติกรรมการเป็นโจรในคุกได้อีกด้วยอย่าลืมว่าในคุกนั้นได้รับการยอมรับแล้วว่า ถือเป็นแหล่งเรียนรู้พฤติกรรมอาชญากรที่สำคัญของเมืองไทยแห่งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันรัฐบาลได้ตั้งกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ขาดทุนทรัพย์ในการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม โดยกองทุนนี้มีมาตั้งแต่ปึ 2549 ดังนั้นตั้งแต่ตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา จึงทำให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมแล้วประมาณ 2 หมื่น 4 พันคน แต่ก็ต้องยอมรับว่าประชาชนทั่วไปที่มีปัญหาคดีความก็ยังไม่สามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้โดยง่ายและสะดวก เพราะยังติดขั้นตอนของระบบบริหารงาน แต่ปัญหาดังกล่าวก็ได้รับการแก้ไขเป็นลำดับ โดยล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ยกสถานะให้เป็นนิติบุคคลเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัวในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหายังไม่ได้ถูกขจัดไปเสียทั้งหมด แต่ก็นับว่าดีกว่าไม่มีกลไกนี้เข้ามาช่วยเหลือ
ผู้ที่ต้องการรายละเอียดของกองทุนยุติธรรม กรุณาติดต่อที่สำนักงานกองทุนยุติธรรม ชั้น 22 อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนา ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 โทรศัพท์ 0-2502-6318 อีเมล justicefund@moj.go.th
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี