แพทองธารไปอังกฤษ ไปพบยิ่งลักษณ์???
การที่ผู้นำการเมืองของไทย โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเดินทางไปกระชับสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ นับเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพราะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีกระชับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และยังช่วยให้การค้าขาย การติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมถึงระดับประชาชนของทั้งสองประเทศหรือสองรัฐดำเนินไปในแนวทางที่เป็นบวก
ตามปกติการเดินทางเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีจะต้องกระทำอย่างเป็นทางการ และต้องมีกำหนดการที่ชัดเจนว่าจะไปเข้าเฝ้าฯ เข้าพบ หรือพบปะกับผู้นำของประเทศที่เดินทางไปเยือน และต้องมีการติดต่อประสานงานไว้ล่วงหน้าอย่างลงตัวแล้ว
การเดินทางเยือนต่างประเทศสามารถแบ่งประเภทการเยือนคร่าวๆ ได้ดังนี้ การเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการโดยประมุขของรัฐ (state visit)การเดินทางเยือนในฐานะแขกของรัฐบาล (official visit) การเยือนเพื่อเป้าหมายการเจรจาด้านการทำงาน (working visit) การเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว (private visit) และการเดินทางเยือนในชนิดอื่นๆ
สำหรับการเดินทางเยือนต่างประเทศนั้น จะต้องพิจารณาจากภารกิจการเยือนเป็นสำคัญ โดยประเด็นสำคัญคือไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด เช่น ไปเพื่อร่วมประชุมระดับผู้นำแบบทวิภาคี ไปพบใคร เช่น ไปพบประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี หรือเข้าเฝ้าฯ พระประมุขแห่งรัฐ การเดินทางเยือนในครั้งนั้นเป็นไปตามคำเชิญของประเทศที่เดินทางไปหรือไม่ ระยะเวลาในการเยือน สถานที่ที่จะไปเยือน
สิ่งที่กล่าวในย่อหน้าข้างต้นนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจเดินทางเยือนประเทศต่างๆ เนื่องจากการเยือนในแต่ละลำดับชั้นมีขั้นตอนและกระบวนการให้การต้อนรับแตกต่างกัน และยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาประกอบการเดินทางเยือนในแต่ละครั้งคือ การตั้งงบประมาณให้เหมาะสมกับการเยือน
แต่การที่แพทองธาร ชินวัตร ที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปประเทศอังกฤษและราชรัฐโมนาโกในระยะนี้ (21-25 พฤษภาคม 2568) นับได้ว่าเป็นการเดินทางไปต่างประเทศแบบผิดกาลเทศะ ผิดแบบแผนประเพณีปฏิบัติของการเดินทางเยือนต่างประเทศ แล้วที่สำคัญคือถูกสาธารณชนวิพากษ์ว่าเป็นการผลาญงบประมาณแผ่นดิน
ถามว่าแพทองธารไปอังกฤษในครั้งนี้เพื่อเหตุผลใด ขอย้ำว่าไม่ใช่ official visit อย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลของอังกฤษและโมนาโกไม่ได้เชื้อเชิญให้ไปเยือน
การที่แพทองธารไปเดินเตร่ไปเตร่มาในกรุงลอนดอน รวมถึงที่ มอนติคาร์โล โมนาโก นับเป็นการกระทำที่สุดแสนน่าสมเพชจนเกินจะบรรยาย เพราะไม่ได้ไปทำงานสำคัญให้เหมาะสมกับสถานภาพของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ สามารถดูได้จากการเข้าไปเดินเตร็ดเตร่ลอยไปลอยมาในห้างขายสินค้าของคนจีน-ฮ่องกง ที่ชื่อห้าง Wing Yip ก็ทำให้เห็นถึงความน่าสมเพชของแพทองธารอย่างที่สุดแล้ว
สภาพของแพทองธารในวันที่เข้าไปในห้าง Wing Yip ไม่ต่างจากลูกค้าคนหนึ่งที่เดินเข้าไปซื้อของใช้สำหรับห้องครัว แล้วที่สำคัญคือห้างดังกล่าวไม่ได้ขายเฉพาะสินค้าไทยเท่านั้น แต่เขานำเข้าสินค้าต่างๆ จากจีน และประเทศอื่นๆ ในเอเชียเข้าไปขาย ดังนั้น การอ้างแบบไร้สติสิ้นปัญญาว่าเข้าไปส่งเสริมสินค้าไทยจึงเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นข้ออ้างที่แสดงว่าแพทองธารไม่มีสติปัญญา ไม่รู้เรื่องรู้ราวใดๆ ของสถานที่ที่เข้าไป และไม่รู้ด้วยว่าสินค้าไทยขายอยู่ที่แห่งใดบ้าง
สำหรับการอ้างว่าไปมอบตรา Thai Select ให้ร้านขายอาหารของคนไทย ก็เป็นคำอ้างที่ไร้สติอีกเช่นกัน แล้วก็ต้องบอกว่าการมอบตรา Thai Secect ให้กับร้านอาหารไทยในลอนดอน ไม่จำเป็นต้องให้คนที่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดปีกแล้วบินตระเวนไปแจก
การอ้างว่าไปส่งเสริมมวยไทยในค่ายมวยไทยในอังกฤษ ก็เป็นการอ้างแบบไร้สติอีกเช่นกัน ถามว่าหากแพทองธารไม่ไป มวยไทยในอังกฤษจะไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการต่อไปได้ เช่นนั้นหรือ ขอตอบว่าเปล่าเลย เพราะค่ายมวยไทยในลอนดอนเปิดกิจการมานานแล้ว แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเปิดให้แพทองธารเข้าไปอาศัยสถานที่ทำ content เพื่อลงข่าวส่วนตัว
ขอย้ำว่าการเดินทางไปอังกฤษและโมนาโกโดยแพทองธารและคณะในครั้งนี้ คือการผลาญงบประมาณแผ่นดินอย่างน่าสังเวช และเป็นการประจานความไม่รู้เรื่องรู้ราวในระเบียบพิธีการทูตอีกด้วย
มันเป็นเรื่องแสนน่าอดสูอย่างมากที่นายกรัฐมนตรีไทยทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง ทำไปโดยไม่สนใจขนบประเพณีการทูต และยังไปทำในสิ่งที่คนระดับนายกรัฐมนตรีไม่สมควรกระทำ
น่าสมเพชมากจริงๆ ที่นายกรัฐมนตรีไทยไปอังกฤษ แล้วไม่มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลอังกฤษไปให้การต้อนรับ ไม่มีกองเกียรติยศตั้งแถวต้อนรับไม่ได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชา และสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร ไม่ได้เข้าพบปะกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ
แน่นอนว่าแพทองธารไม่มีวันได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชาแห่งสหราชอาณาจักร เพราะเขาไปอังกฤษโดยที่รัฐบาลอังกฤษไม่ได้เชื้อเชิญให้ไป ไม่ได้ไปในฐานะแขกของรัฐบาลอังกฤษ แต่ไปเพราะอยากไปเอง โดยการไปครั้งนี้ยังถูกสาธารณชนวิพากษ์ว่าไปพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นักโทษคดีอาญาแผ่นดินไทย
สาธารณชนยังตั้งคำถามด้วยว่า ทักษิณ ชินวัตร พ่อของแพทองธารไม่อบรมลูกบ้างหรืออย่างไรว่า การเดินทางไปต่างประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องไปเพราะได้รับเชิญจากรัฐบาลเจ้าของประเทศ แต่ไม่ว่าทักษิณจะอบรมหรือไม่ก็ตาม แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และปลัดกระทรวงการต่างประเทศก็จำเป็นต้องบอกและย้ำกับแพทองธารให้เข้าใจว่า ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรไทย การจะเพ่นพ่านโดยติดปีกบินไปประเทศต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้โดยไม่มีเหตุอันควร
ต้องย้ำว่ามีคำถามมากมายจากสาธารณชนว่า ทำไมกระทรวงการต่างประเทศไทยปล่อยให้แพทองธาร ในฐานะนายกรัฐมนตรีกระทำการอันไม่เหมาะสมได้ถึงเพียงนี้ แล้วยังมีคำถามด้วยว่ากรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศของไทย ทำไมปล่อยให้แพทองธารทำเรื่องน่าสมเพชเช่นนี้ได้
ยิ่งสาธารณชนได้เห็นข้อความจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ที่เขียนว่าแพทองธารไปพบเอกชนไทย อาทิ CP Inter Trade, บุญรอดบริวเวอรี, ไทยเบฟเวอเรจ, ไทยธนา, แอสโก, แมนนิ่งอิมแพ็ค, ร้านอาหารภัทรา, ธนาคารกรุงเทพฯ ร้านนวดไทยบุญสัปปายะ และห้างเซลฟริดเจส ในสถานทูตไทย แล้วยิ่งทำให้รู้สึกสมเพชมาก เพราะงานที่พูดมานั้น ไม่จำเป็นที่นายกรัฐมนตรีต้องบินไปถึงอังกฤษ เพราะปล่อยให้สถานทูตไทยในลอนดอนทำก็ได้ หรือไม่ก็ให้ทูตพาณิชย์ในลอนดอนทำก็ได้ ถามย้ำอีกทีว่าแพทองธารต้องติดปีกบินไปลอนดอนเพื่องานธรรมดาแค่นี้หรือ หรือว่าแพทองธารต้องการควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อีกตำแหน่ง
แต่ที่เห็นแล้วสังเวชจนสุดพรรณนาคือ แพทองธารร่วมสาธิตการทำเมี่ยงคำกับพ่อครัว ถามจริงๆ แพทองธารมีความสามารถในการทำอาหารจริงๆ หรือ หรือว่างานอดิเรกของแพทองธารคือทำเมี่ยงคำเลี้ยงสามี เลี้ยงลูก อันที่จริงนักข่าวทำเนียบรัฐบาลน่าจะต้องถามแพทองธารในวันที่เธอกลับมาถึงไทยว่า เมี่ยงคำมีส่วนประกอบอะไรบ้าง ช่วยแจกแจงรายละเอียดให้ฟังด้วยเถอะค่ะท่านนายกรัฐมนตรี
ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามคือ การเดินทางไปอังกฤษกับโมนาโกในครั้งนี้ แพทองธารและคณะใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปกี่ร้อยล้านบาท เดินทางด้วยสายการบินอะไร ไปทั้งหมดกี่สิบคน พักโรงแรมอะไร ค่ากินอยู่แต่ละมื้อเป็นเงินกี่ล้านบาท แต่ที่สำคัญกว่าก็คือการไปอังกฤษครั้งนี้ ไปพบยิ่งลักษณ์ นักโทษหนีคดีอาญาแผ่นดินด้วย เรื่องนี้สำคัญไม่น้อยกว่าการผลาญงบประมาณแผ่นดิน เพราะต้องไม่ลืมว่ายิ่งลักษณ์คือนักโทษหนีคดีอาญา ส่วนแพทองธารคือนายกรัฐมนตรี
ถามว่านายกรัฐมนตรีไปพบนักโทษหนีคดีอาญาในลอนดอน เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ อย่าลืมว่านายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทหนึ่ง แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับไปพบนักโทษหนีคดีอาญาแผ่นดิน เรื่องพิลึกมหัศจรรย์แบบนี้ไม่สามารถจะบังเกิดขึ้นได้ หากนายกรัฐมนตรีมีสำนึกแห่งความถูกต้อง การที่นายกรัฐมนตรีไม่สั่งการให้ตามจับตัวคนร้ายหนีคดีอาญาแผ่นดินกลับมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมไทย ก็นับว่าอุบาทว์มากแล้ว แต่ดันกลับไปพบนักโทษหนีคดีอาญา โดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจ่ายค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ากิน และค่าอื่นๆ ให้ตัวเอง และคณะที่ร่วมเดินทาง เรื่องนี้ถือว่าอุบาทว์ยิ่งกว่า และต้องบอกว่าอุบาทว์จนเกินกว่าคนไทยทั้งประเทศจะทนรับได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี