การเลือกตั้งในประเทศไทยจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อนำไปสู่การมีชัยชนะ ใช่หรือไม่ และผู้ชนะการเลือกตั้งทุกคนต้องซื้อเสียง ใช่หรือไม่
คำถามข้างต้น เป็นสิ่งที่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งรวมถึงผู้แข่งขันในการเลือกตั้งแต่ละคนสามารถตอบได้เป็นอย่างดี เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ตรง เรื่องนี้อาจจะพูดแบบเหมารวมยาก แต่ถึงกระนั้น ในความรับรู้ของคนไทยจำนวนไม่น้อย ต่างก็รู้ดีว่าคำถามข้างต้นมีความน่าสนใจ และเป็นคำถามที่มีมูล
สำหรับคนที่มีสติปัญญาหลงเหลืออยู่บ้างย่อมรู้ดีว่า อาชีพ สส. คืออาชีพที่ไม่แน่นอน เมื่อไม่แน่นอนในอาชีพ ก็หมายความว่าไม่แน่นอนในเรื่องรายได้ ประเด็นสำคัญที่ทำให้ความเป็น สส. ไม่แน่นอนคือ การรัฐประหาร ยิ่งรัฐประหารบ่อยมากเท่าไร ความไม่มั่นคงในอาชีพ สส. ก็ยิ่งลดน้อยถอยลงไปแต่ถึงแม้จะมีความเสี่ยงสูงมาก ก็ยังคงมีคนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มมาเฟีย เจ้าพ่อเจ้าแม่ ผู้มีอิทธิพลเถื่อน พ่อค้าระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ต่างก็ยังคงพาตัวเองเข้าไปสู่สนามการเมืองระดับชาติตลอดเวลา เพราะเขาคำนวณแล้วว่า เป็นการลงทุนที่ให้ผลคุ้มค่ามากที่สุด หากชนะการเลือกตั้ง
ก็หมายความว่าสามารถถอนทุนคืนได้รวดเร็ว และยังมีโอกาสแสวงหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
เมื่อเราพินิจการเมืองไทยในระยะ 40-60 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีมาเฟีย เจ้าพ่อเจ้าแม่ นายทุนระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงอดีตข้าราชการพลเรือนและทหาร ตำรวจ จำพวกที่เคยเป็นขี้ข้านักการเมืองระดับประเทศ ต่างแห่กันเข้าไปเวียนว่ายในสนามการเมือง เพราะมีเหตุผลสำคัญคือแสวงหาอำนาจการเมืองเพื่อใช้เป็นฐานค้ำยันผลประโยชน์ส่วนตัว
ช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านั้นชนะการเลือกตั้งก็คือการใช้เงินซื้อเสียง รวมถึงซื้อเสียงด้วยกลอุบายอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้เงิน เมื่อนักการเมืองใช้เงินซื้อเสียง ก็ทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงรับรู้ว่าเสียงของตนเองมีมูลค่าเป็นตัวเงิน
ดังนั้น จึงไม่แปลกประหลาดกับการรับเงินซื้อเสียง เพราะชาวบ้านทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในชนบทต่างประจักษ์ดีว่า ประชาธิปไตยไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้พวกเขาได้เพราะแม้จะมีการเลือกตั้งมาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 แต่ชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้ดีขึ้นตามคำโฆษณาชวนเชื่อ
เพราะฉะนั้น การได้รับผลประโยชน์เป็นตัวเงินเฉพาะหน้า แม้จะไม่กี่สิบหรือกี่ร้อยบาท (ในยุคซื้อเสียงช่วงแรกๆ) หรือบางครั้งก็ไม่ได้เป็นตัวเงิน แต่ได้เป็นรองเท้าแตะ ปลาทูเค็มก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรติดมือเลย เพราะชาวบ้านรู้ชัดแล้วว่า เมื่อคนที่มายกมือไหว้ แล้วได้เป็น สส. แต่สุดท้ายก็ไม่ได้กลับมาช่วยพัฒนาบ้านเมืองให้ดีขึ้น
แน่นอนว่า การเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมาเมื่อประมาณ4 ปี อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งได้เป็น สส. (แบบส้มหล่น) โดยไม่ได้หว่านเงินซื้อเสียงมากมายเหมือนกับ สส. จำพวกหว่านเงินตลอดเวลา เราไม่ปฏิเสธว่ามีบางคนได้เป็น สส. เพราะได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งหลงตัวเองว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ยกเว้นก่อเหตุประท้วงไปวันๆ เท่านั้น แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ สส. ที่อ้างว่าไม่ได้ซื้อเสียง สุดท้ายแล้วก็ต้องพาตัวเองไปสยบแทบเท้าเจ้าของพรรคการเมืองที่จ่ายเงินซื้อเสียงอย่างบ้าคลั่ง
อันที่จริง หากจะให้ความเป็นธรรมกับ สส. บางคน ก็ต้องยอมรับว่า สส. บางคนตั้งใจพัฒนาบ้านเมืองอย่างจริงจัง แต่ต้องประสบอุปสรรคนานัปการ เช่น ไม่สามารถมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะได้โดยตรง เพราะการเสนอนโยบายต้องผ่านกระบวนการรัฐสภา เมื่อรัฐสภาไทยเป็นสภาร้อยพ่อพันแม่ คือมีพรรคการเมืองผสมกันจนเละเทะ การจะผ่านเรื่องสำคัญในสภาได้ จึงยากเย็นแสนเข็ญ แล้วกลับกลายเป็นการเล่นเกมการเมืองมากกว่าตั้งใจทำเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ สส. ที่ตั้งใจพัฒนาบ้านเมืองจริงจังไม่สามารถทำหน้าที่ได้ สุดท้ายก็เลิกทำงานการเมือง เพราะรู้ดีว่าไม่มีวันพัฒนาบ้านเมืองได้จริง ดังนั้น สส. ดีๆ ก็จะเลิกทำงานการเมืองไปโดยปริยาย แต่ส่วนมากจะพบว่า เมื่อ สส.ทำงานไม่ได้แต่ยังอยากอยู่ในสภาต่อไป ก็ต้องพาตัวไปอยู่ใต้บาทาเจ้าของพรรคการเมือง เพื่อให้ดำรงความเป็น สส. ได้ต่อไป
คำสัญญาต่างๆ ของ สส. ในระยะหลังๆ จึงเป็นการให้คำสัญญาโดยดูว่าราชการมีโครงการอะไรที่จะต้องทำบ้างเมื่อ สส. รู้โครงการแล้ว ก็เล่นเกมโดยอ้างว่าโครงการของราชการเหล่านั้นเป็นนโยบายของตน แล้วเล่นละครตบตาประชาชนที่รู้ไม่ทันว่า โครงการที่เกิดขึ้นมาจากการผลักดันของตนเอง ดังนั้น จึงพบเป็นประจำว่า แทนที่ สส. จะทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างเข้มข้น แต่กลับเน้นการทำโครงการต่างๆ จนหลงลืมภารกิจแท้จริงในสภาไปโดยสิ้นเชิง
หากเราไม่โกหกตัวเองจนเกินไป เราต้องยอมรับว่าการเลือกตั้ง สส. ทุกครั้งไม่สามารถปฏิเสธเรื่องการจ่ายเงินซื้อเสียงได้ แล้วยิ่งนับว่าการซื้อเสียงก็จะสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ใช่แค่เพียงจ่ายเงินสดเพื่อซื้อเสียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการซื้อเสียงโดยผ่านนโยบายสาธารณะ (ทุจริตเชิงนโยบาย) เอาแค่การซื้อเสียงด้วยเงินสด ยังเป็นเรื่องที่หน่วยงานควบคุมป้องกันการทุจริตเลือกตั้งยังไม่มีปัญญาจับได้เลย แล้วจะไปหวังอะไรกับการจับทุจริตเชิงนโยบาย เพราะหน่วยงานดูแลควบคุมป้องกันการทุจริตเลือกตั้งก็มาจากอำนาจรัฐของรัฐบาลจอมโกง แล้วจะไปหวังให้ขี้ข้าของรัฐบาลจอมโกง เข้าไปจับกุมนักการเมืองขี้โกงที่สังกัดในซีกของรัฐบาลจอมโกงได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ขอให้สาธารณชนช่วยกันจับตามองการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้ง สส. ครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงให้ดี แล้วจะรู้ว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในครั้งนี้แสนระทึกใจยิ่งกว่าครั้งไหนๆ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี