รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน สื่อมวลชน ตลอดถึงนักวิชาการต่างพากันแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์มั่นใจว่า ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่เคยมีบทบาทด้านการบริหารจัดการประสานงานรัฐบาล เชี่ยวชาญการค้า การลงทุน และการต่างประเทศ เข้ามาเป็น รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ จะนำพาประเทศไทยสู่ความโดดเด่นในเวทีโลกอีกครั้งด้วยนโยบายการทูตเชิงรุก หลังประเทศไทยดำเนินการทูตเงียบมานาน (Silence Diplomacy)
นายกฯเศรษฐาพบปะชุมชนไทยที่อาศัยอยู่ใน#นิวยอร์กกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านและพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเสริมสร้างบทบาทนำของไทยในเวทีโลกและการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อขยายการค้าการลงทุน
ดร.ปานปรีย์ มีประสบการณ์การทำงานในแวดวงการเมืองหลายยุคหลายสมัย ผ่านงานมาหลายตำแหน่งหน้าที่ ตั้งแต่ข้าราชการ ผู้ประสานงานใน รัฐบาลป๋าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ช่วยงานด้านเศรษฐกิจการค้าสมัยนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา ที่ปรึกษารัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ช่วยราชการสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย ตลอดถึงช่วยงารัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และ เป็นผู้แทนการค้าในรัฐบาลไทยรักไทย จนถึงวันที่ ทักษิณ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจ ดร.ปานปรีย์ท่านนี้แหละ เป็นหัวหน้านำ คณะผู้แทนไทยและสื่อมวลชนรวมทั้งนักเรียนไทยชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เดินทางกลับจากวอชิงตัน ดี.ซี. หลังจากทักษิณถูกยึดอำนาจกลางอากาศในวันที่ 19 กันยายน 2549
พิเคราะห์จากประสบการณ์ทำงานด้านการค้าและการต่างประเทศตลอดถึงเป็นผู้ประสานงานให้รัฐบาลมาหลายสมัย ทำให้หลายฝ่ายมั่นใจว่า ดร.ปานปรีย์จะทำให้ประเทศไทยโดดเด่นทางด้านต่างประเทศและการค้า สื่อช่ำชองต่างประเทศ บางคน ถึงกับเขียนบทความว่า #Thailand is back ประเทศไทยกลับมาแล้ว และสาธยายว่าหลังจากที่การต่างประเทศของไทยเงียบเชียบมานาน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน มีมหาอำนาจ ผู้นำต่างประเทศเดินทางมาเยือนกันขวักไขว่หัวกระไดไม่แห้ง
ส่วนดร.ปานปรีย์กล่าวกับผู้สื่อข่าวการทูตประเทศเงียบเกินไป Too Qiuet diplomact ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับนโยบายการเป็นสาธารณะ#Public Diplomacyที่สาธารณชนคนธรรมดา ก็เข้าถึงการทูตได้..
คอลัมน์นี้ ยอมรับว่า ดร.ปานปรีย์มีความรู้ความสามารถ แต่ต้องพิจารณาว่าความรู้ความสามารถประสบการณ์ที่มีจะไร้คุณค่า หากต้องทำงานตามใจผู้ยิ่งใหญ่ที่มีอิทธิพลบารมีเหนือรัฐบาล ดร.ปานปรีย์ เป็นเจ้าหน้าที่ประสานในรัฐบาลป๋าได้อย่างราบรื่น แต่เมื่อมาช่วยงานรัฐบาลพรรคชาติไทย และช่วยงานรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ความรู้ความสามารถของเขา ก็ช่วยอะไรไม่ได้เมื่อพรรคความหวังใหม่ นำประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ที่เรียกกันติดปากว่า#วิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นเหตุให้ประเทศเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของไอเอ็มเอฟ
ดร.ปานปรีย์ เป็นที่ปรึกษาและรับหน้าที่สำคัญในรัฐบาลบุฟเฟ่ต์ คาบิเนต จนถูกปฏิวัติและถูกขังอยู่ห้องเดียวกับพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ สิบกว่าวัน หลายปีต่อมา ดร.ปานปรีย์เป็นผู้แทนการค้า ในรัฐบาลไทยรักไทยได้ไม่นาน รัฐบาลทักษิณก็ยุบสภา แต่ดื้อเป็นรัฐบาลจนถึงวันถูกยึดอำนาจ
ถึงกล่าวได้ว่าคนดี คนเก่ง คนมีความสามารถทำงานสัมฤทธิผลได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาทำงานกับใคร ผู้ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่เขาร่วมงานเป็นใคร รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร เคยใช้คำว่านโยบายต่างประเทศเชิงรุก รัฐมนตรีต่างประเทศ เป็น CEO เป็นผู้แทนการค้าไปในตัว ผู้ทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศในเครือข่ายทักษิณ ตั้งแต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ จนมาถึงพรรคเพื่อไทย ทุกคนต้องดำเนินนโยบายตามใจเจ้าของพรรค และมันได้พิสูจน์แล้วว่ารัฐมนตรีต่างประเทศ ผ่านมาไม่ได้ทำให้ประเทศไทยก้าวหน้า เนื่องจากต้องดำเนินนโยบายตามที่เจ้าของพรรคตัวจริงต้องการ
รมต.ต่างประเทศสมัยพรรคไทยรักไทย ได้สร้างความไม่พอใจในหมู่ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม จากสาเหตุที่รัฐบาลไทยรักไทย ส่งทหารไทยไปช่วยสหรัฐอเมริกาทำสงครามรุกรานอิรักในปี 2546 รมต.ต่างประเทศรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ไปลงนามในข้อตกลงให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ#คืนหนังสือเดินทางการทูตไทยให้ทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษคดี รมต.ต่างประเทศไทยสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ บินไปมอบหนังสือเดินทางคืนให้ถึงมือนักโทษหนีคดี ที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้น รมต.ต่างประเทศสมัยนั้น สนับสนุนวอชิงตันออกหน้าในปัญหาทะเลจีนใต้ สร้างความไม่พอใจแก่จีนและสมาชิกอาเซียนบางประเทศ
จึงพูดได้เต็มปากว่า คนดี มีความรู้ ความสามารถ จะใช้ประสบการณ์ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามเป้าหมาย ต่อเมื่อคนดี มีความสามารถได้ทำงานกับรัฐบาลธรรมาภิบาล และต้องไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลเจ้าของพรรคแกนนำรัฐบาลตัวจริง แต่จากพฤติกรรมในอดีตถึงปัจจุบันพบว่าพฤติกรรมเจ้าของพรรคแกนนำรัฐบาลตัวจริงยังไม่เลิกนิสัยแทรกแซงสั่งการชี้นำรัฐบาล #ดังนั้นที่พูด Thailand is back อยากถามว่า “กลับมาจากไหน”
ตลอดเวลาเจ็ดปีที่ผ่านมาประเทศไทย มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ นายดอนได้ทำให้ประเทศไทยก้าวหน้า มีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรี และมีมิตรประเทศคบค้าสมาคมมากกว่ารัฐมนตรีต่างประเทศในเครือข่ายนักโทษชายทักษิณหลายคน ผลงานชิ้นโบแดงของรัฐมนตรีดอนภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ที่บาดหมางกันมากว่าสามสิบสองปีโดยไม่มีรัฐบาลไหนทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทยรักไทยเคยสุมฟืนเข้ากองไฟในการส่งทหารไปช่วยอเมริกันรุกรานประเทศอิรักเมื่อปี 2546
ส่วนที่หลายท่านเห็นภาพบาดตาว่าผู้นำชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเทียวไปเทียวมาบินข้ามหัวประเทศไทย เยือนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และล่าสุด ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เดินทางไปเยือนเวียดนาม หลังเสร็จสิ้นการประชุมจี 20 ในประเทศญี่ปุ่น คงมีคนคลั่งอเมริกันเท่านั้นที่สงสัยว่า ทำไมนายไบเดนไม่มาเยือนประเทศไทย เพราะคนคลั่งฝรั่งย่อมไม่เข้าใจถึงแผนการขยายอิทธิพลสหรัฐอเมริกาเข้ามาในอาเซียนเพื่อปิดกั้นและต่อต้านจีนตามแผนการอินโดแปซิฟิก นั่นคือสาเหตุสำคัญที่ผู้นำรัฐบาลวอชิงตัน จึงเทียวไล้เทียวขื่อสมาชิกอาเซียนที่เดินตามก้นอเมริกา ในกรณีความขัดแย้งทะเลจีนใต้และวิกฤตการเมืองในสหภาพพม่าตลอดถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ในบรรดาสมาชิกอาเซียนที่เดินตามก้นอเมริกาทุกมิติมีอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ขัดแย้งกับจีนในประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ เมื่อวอชิงตันเข้ามาหนุนหลังทางกำลังทหารและยุทธปัจจัยจึงเอนเอียงไปทางอเมริกา เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ยอมให้กองทัพสหรัฐใช้ฐานเพิ่มจาก 4 แห่งเป็น 9 แห่ง ส่วนเวียดนาม ได้รับเรือดำน้ำจากศัตรูเก่า (อเมริกา) เพื่อไว้ใช้ต่อต้านจีนฟรีสองลำ และทำข้อตกลงหุ้นยุทธศาสตร์ครอบคลุมร่วมกันทุกด้าน ส่วนประเทศสิงคโปร์ นอกจากได้รับผลประโยชน์ทางการค้าแล้วยังมีฐานทัพเรือสหรัฐ (อ้างเป็นท่าเรือซ่อมบำรุง)หนึ่งแห่งในเกาะสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้ ถึงได้ตามก้นวอชิงตัน ในการประณามคว่ำบาตร ข่มขู่รัฐบาลทหารพม่า สนับสนุนอเมริกาในประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ ตลอดถึงประณามคว่ำบาตรรัสเซียในกรณีสงคราม รัสเซีย-ยูเครน
ดังนั้นผู้ที่พูดว่า Thailand is back ย่อมไม่เข้าใจนโยบายการทูตเงียบของไทย (Silence Diplomacy) ที่ปฏิบัติการทางทูตเงียบๆ ไม่โฉ่งฉ่างเหมือนกับที่รัฐมนตรี สิทธิ เศวตศิลา ปฏิบัติในสมัยรัฐบาลป๋าเปรม กล่าวคือประเทศไทยในหลายปีที่ผ่านมา เป็นมิตรกับจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้เอาใจ หรือ ปฏิบัติเป็นพิเศษต่อฝ่ายไหนออกหน้า
ไทยไม่ประณามรัสเซีย และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครนตามอัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นวิกฤตทางการเมืองในพม่า ประเทศไทยใช้นโยบายการทูตเงียบอย่างชาญฉลาด ไม่ได้กดดันรัฐบาลทหารพม่าเหมือนกับสมาชิกอาเซียนบางประเทศที่อยู่ไกลออกไปซึ่งประณามกดดันกีดกันรัฐบาลทหารพม่า ไม่ให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และอาเซียนไม่ยอมมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า แต่ประธานหมุนเวียนอาเซียนยินดีมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลเงาพม่าที่เรียกว่า รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (National Unity Government=NUG)
ประเทศไทยซึ่งมีชายแดนติดกับพม่ากว่าสองพันกิโลเมตร ตั้งแต่ภาคเหนือสุด อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถึงจังหวัดระนองในภาคใต้ ประเทศไทยกับสหภาพพม่า มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมานานหลายร้อยปี ดังนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งแตกแยกภายในประเทศพม่า ย่อมส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หน่วยงานมั่นคงไทย จึงบูรณาการงานกับกระทรวงการต่างประเทศ ใช้นโยบายทางทูตเงียบ คือไม่ต่อต้าน ไม่ประณาม ไม่กีดกันรัฐบาล พลเอกมิน อ่อง หล่าย และเปิดช่องทางให้รัฐบาลทหารพม่า ได้มีปฏิสัมพันธ์กับนานาชาติ และประเทศเพื่อนบ้าน โดยกระทรวงการต่างประเทศจัดให้มีการสัมมนาพูดคุยเจรจาปัญหาพม่าอย่างไม่เป็นทางการ ที่พัทยาและกรุงเทพฯมาแล้ว 2 ครั้ง และก็ได้ผลลัพธ์ในแง่บวก เกินความคาดหมายที่มีประเทศเพื่อนบ้านสหภาพพม่า ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย สปป.ลาว กัมพูชา บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และประเทศไทยส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมพบปะเจรจากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทหารพม่าอย่างไม่เป็นทางการ
ในเวลาเดียวกับรัฐบาลไทยก็ไม่ละเลยฝ่ายต่อต้านรองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ได้พบปะหารือกับ นางออง ซาน ซู จีณ สถานที่กักกันในบ้านพักบริเวณทำเนียบรัฐบาลกรุงเนปิดอว์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งเป็นงานชิ้นโบแดงชิ้นสุดท้ายก่อนอำลาตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ นายดอนเป็นเจ้าหน้าที่ต่างประเทศระดับสูงคนแรกที่รัฐบาลทหารพม่า อนุญาตให้พบปะเจรจากับนางออง ซาน ซู จีและผลการเจรจาครั้งนั้น นายดอนนำสารไปแจ้งต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่า นางออง ซาน ซู จี ยินดีจะร่วมเจรจาครอบคลุมทุกฝ่าย เพื่อแสวงหาแนวทางยุติปัญหาโดยสันติวิธี
จะเห็นได้ว่าการทูตเงียบแบบไทยนั้นสามารถเข้าถึงเข้าใจทุกฝ่าย ซึ่งแตกต่างกับอาเซียนบางประเทศที่ตามก้นอเมริกาฟังความข้างเดียวจากฝ่ายต่อต้าน และใช้นโยบายข่มขู่กดดัน ดังนั้นอาเซียน ยูเอ็นและวอชิงตันจึงไม่มีวันแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในพม่าได้
ในเวลาเดียวกัน เพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ เช่น ประเทศจีน ประเทศอินเดีย รัสเซียและสมาชิกอาเซียนเช่น เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และประเทศไทย ยังไปมาหาสู่และทำมาค้าขายกับพม่า เป็นปกติเหมือนสมัยพม่าปกครองโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
จึงสรุปว่าประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าเกินกว่าจะเรียกว่า Thailand is back หรือ Public Diplomacyคอลัมน์นี้ทำได้แค่เตือนว่า การใช้นโยบายต่างประเทศไทยในเชิงรุก “ระวังจะบุกไปเจอตอ โดยเฉพาะนโยบายกับพม่า”
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี