ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “เอไอ” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์”(AI-Artificial Intelligence) เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจพร้อมๆ กับมีข้อกังวล ระหว่างฝ่ายที่เชื่อว่านี่คือตัวช่วยสำคัญ ที่จะมาปิดจุดอ่อนในยุคที่ประชากรเกิดน้อย คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยอยากมีลูกทำให้จำนวนแรงงานลดลง รวมถึงทลายขีดจำกัดที่มนุษย์ไม่สามารถค้นหาและประมวลผลข้อมูลมหาศาลในเวลาอันรวดเร็วได้ กับฝ่ายที่เห็นว่าการมาของ AI อาจเป็นจุดจบของมนุษยชาติ เพราะมันสามารถแทนที่งานของมนุษย์ได้ไม่ว่าอาชีพใดก็ตาม ไปจนถึงการใช้ AI ในทางที่ผิดอย่างการใช้พัฒนากลวิธีหลอกลวง
เมื่อเร็วๆ นี้ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านตรวจสอบข้อมูลจริง-เท็จที่แชร์ต่อกันบนโลกออนไลน์ ร่วมจัด 2 กิจกรรมเสวนาว่าด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยงานแรกคือ เวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 26 “เราจะใช้เอไออย่างไรให้สร้างสรรค์และปลอดภัย” ณ Siam Paragon NEXT TECH x SCBXชั้น 4 สยามพารากอน ซึ่ง พณชิต กิตติปัญญางาม ซีอีโอของ “ZTRUS” บริษัทด้านบัญชีที่นำ AI เข้ามาใช้ในการทำงาน ได้อธิบายการทำงานของ AI ไว้ดังนี้
“เอไอจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เวทมนตร์ ไม่ใช่ความฉลาดแต่เป็นการเดาบนข้อมูลสถิติ ดังนั้นเวลาเราจะสร้างเอไอ หน้าที่ของเราก็คือเราพยายามจะหา Pattern (รูปแบบ) ว่า Input (ป้อนข้อมูลเข้าไป) แบบนี้ Pattern Output (ผลที่ออกมา) มันต้องประมาณนี้ พอรู้ Pattern เราสร้างความเป็นไปได้ของ Output ให้เต็มไปหมดเลย ว่าด้วย Pattern แบบนี้มันมีคำตอบอะไรได้อีก หลังจากนั้นด้วยค่าสถิติเราจะเลือกคำตอบที่มัน Unique (เฉพาะ) เหล่านั้นที่เราคิดว่ามนุษย์อยากจะเห็นออกมา เพราะถ้าเราเลือกสิ่งที่มนุษย์ไม่อยากเห็นมนุษย์จะบอกว่าไม่ฉลาด
มนุษย์บอกมันฉลาดเพราะมนุษย์อยากเห็นสิ่งนี้ ดังนั้นตัวเอไอเองพื้นฐานไม่ได้ฉลาด มันเดาเพื่อเอาใจมนุษย์ที่เห็นมัน ดังนั้นมันจะฉลาดหรือไม่ฉลาด อยู่ที่เราว่าคาดหวังคำตอบอะไร ดังนั้นเอไอมันเรียนรู้ที่จะเชลียร์มนุษย์ มันต้องเรียนรู้ก่อนว่าการสร้างคำตอบเกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง” พณชิต กล่าว
พณชิต ยกตัวอย่าง “การใช้ AI ช่วยสร้างภาพใบหน้าตาของคนในแต่ละช่วงอายุ” วิธีการคือใส่ข้อมูลเข้าไปว่า อายุ เพศ น้ำหนัก ฯลฯ ซึ่งมนุษย์คนหนึ่งมีปัจจัยหลายอย่าง โดยการทำงานของ AI ไม่ได้สนใจว่าจะสร้างหน้าตาของอะไร เช่น หากลองใส่อายุว่า 1,000 ปีAI ก็คงไม่สร้างภาพใบหน้าคนที่เป็นมัมมี่ หรือหากใส่ไปว่า-1,000 ปี ก็คงไม่ใช่ภาพของคนคนนั้นในชาติหน้า
โดยสรุปคือ “เมื่อใส่ข้อมูลเข้าไปในลักษณะสมการ AI จะสร้างพื้นที่ความเป็นไปได้ทั้งหมดขึ้นมาแต่มนุษย์ต้องเข้าไปกรองข้อมูลที่อยากจะเห็น” เช่น ข้อมูลอายุขัยมนุษย์ช่วง 0-150 ปี คือสิ่งที่มีความเป็นไปได้ และสิ่งนี้คือสิ่งที่จะนำไปใช้ต่อในการสร้างสรรค์ ดังนั้น “AI จึงถูกควบคุมด้วยอคติ (Bias) ของมนุษย์ในการเลือกคำตอบ” ปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้มีความฉลาดในตัวมันเอง แต่มันตอบในสิ่งที่มนุษย์สอนให้ตอบ
ยกตัวอย่าง หากมนุษย์ถาม AI ว่าอะไรคือประโยคที่ต่อจาก “ในน้ำมีปลา” แล้ว AI ตอบว่า“ในนามีข้าว” นั่นคือ AI ฉลาด แต่หากไปตอบอย่างอื่น อาทิ บนฟ้ามีนก มนุษย์ก็อาจบอกว่า AI ไม่ฉลาดแม้ประโยคที่ AI เลือกมาจะฟังดูรู้เรื่องก็ตาม ดังนั้นการใช้ AI สร้างเนื้อหาต่างๆ แล้วมนุษย์รู้สึกว่า AI ฉลาด อาจเป็นเพราะ AI ตอบในสิ่งที่คนสร้างอยากได้ยินก็ได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า คำตอบที่ AI เลือกมาเป็นคำตอบที่เอาใจคนบางกลุ่ม
“การสร้างเอไอจริงๆ แล้วสำคัญที่สุดคือเราเรียนรู้สถิติ เพราะสถิติคือ Knowledge (ความรู้) แต่ Knowledgeจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราไม่มี Goal (เป้าหมาย)เอไอจะเป็นคนบ้าถ้าเอาข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในมือมาตอบ เอไอจึงฉลาดทันทีเมื่อคำตอบนั้นมุ่งเป้าสู่เป้าหมายอะไรบางอย่างที่มนุษย์คาดหวังที่จะคุยกับมัน เพราะฉะนั้น Goal จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเอไอ” ซีอีโอของ ZTRUS กล่าวย้ำ
อีกงานหนึ่งที่จัดในเวลาไล่เลี่ยกันคือ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “รับมือการตรวจสอบข่าวในยุค AI” ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานนี้มี ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมบรรยายหัวข้อ “Tips and Trends สำหรับสื่อมวลชนในยุคเอไอ”ฉายภาพการนำ AI มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสื่อ ซึ่งใช้ได้หลายขั้นตอน ไล่ตั้งแต่
1.Pre-Production (ขั้นเตรียมงาน) เช่น ค้นหาข้อมูล 2.Production (ขั้นผลิตชิ้นงาน) เช่น เรียบเรียงเนื้อหา ทำสตอรี่บอร์ด ตัดต่อวีดีโอให้สั้นกระชับจากฉบับเต็มที่ถ่ายมายาวมาก และ 3.Post-Production (ขั้นเผยแพร่) เช่น การกระจายเนื้อหาที่ผลิตไปตามแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ การวิเคราะห์เวลาที่ควรเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม “ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนใด การตรวจสอบความถูกต้องโดยมนุษย์ยังจำเป็นเสมอ” อาทิ การให้ AI ช่วยแปลภาษา ผู้ใช้งานก็ต้องตรวจสอบไวยากรณ์ ความถูก-ผิดของคำที่แปลออกมาว่าสอดคล้องกับบริบทของเรื่องที่จะนำเสนอหรือไม่,
การให้ AI รวบรวมข้อมูล ซึ่ง AI จะกวาดข้อมูลมาให้จำนวนมาก แต่ก็ไม่ควรนำไปใช้ในทันที ผู้ใช้งานต้องคัดกรองอีกชั้นว่าข้อมูลใดถูกต้อง หรือข้อมูลที่ให้มานั้นไปลอกใครมาหรือไม่, การตัดต่อวีดีโอ ในคลิปฉบับเต็มความยาว 1 ชั่วโมง ต้องตัดให้เหลือเพียงไม่กี่นาที มี AI ช่วยตัดคลิปให้ได้ แต่ตัดแล้วผู้ใช้ก็ต้องตรวจซ้ำอีกที เช่น AI อาจเลือกมาแต่ภาพทิวทัศน์ที่สวยที่สุด ในขณะที่ผู้ใช้งานต้องการถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตชุมชนที่ได้ไปเยือนมา เป็นต้น
“มันมีความกังวลในการใช้เอไอแน่นอน แล้วก็ในบางลักษณะงานก็เป็นไปได้ที่คุณจะถูกทดแทนด้วยเอไอแน่นอนถ้าคุณเดินตามเอไอ แต่ถ้าคุณรู้จักมัน ทำความเข้าใจมัน และรู้ว่าเครื่องมือของมันทำอะไรได้บ้าง มีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง และเติมความเป็นมนุษย์ของเราลงไปตรงไหนให้งานของเรามีคุณภาพมากขึ้นได้ อันนั้นเราก็จะใช้ประโยชน์จากเอไอได้แล้วก็ไม่ต้องไปกลัวมัน เราแค่เรียนรู้มัน แค่รู้จักมัน” อาจารย์สกุลศรี กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี