พรุ่งนี้ (25 ก.ย.2567) ดีเดย์ เริ่มโอนเงินหมื่น เข้าบัญชีคนพิการ และผู้ถือสิทธิโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 14.55 ล้านคน
โดยจะโอนวันละประมาณ 4.5 ล้านคน เริ่มจากคนพิการก่อน
โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการนี้ ยอดรวมประมาณ 1.4 แสนล้านบาทน่าจะโอนเงินไปให้ประชาชนได้ตามที่รัฐบาลประกาศไว้
เพราะปัจจุบัน มีเงินแผ่นดิน รอให้ใช้จ่ายอยู่แล้ว
มาจากการขาดดุล (กู้) ผ่านงบเพิ่มเติม 2567 เป็นหลัก
แต่ในแง่ความรับผิดชอบต่อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้อง จะต้องรับผิดชอบต่อการตรวจสอบต่อไปว่า ยังจะมีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินไปกับการแจกจ่ายเช่นนี้ต่อไปอีกหรือไม่?
เพราะเท่าที่ทำมา ก็สุ่มเสี่ยงจะเป็นการใช้จ่ายเงินผิดประเภท ผิดกฎหมาย ผิดวินัยการคลัง ผิดรัฐธรรมนูญ หรือไม่
1. คนเป็นนายกฯ ไม่ใช่มีหน้าที่แค่กดปุ่มแจกเงิน และทำตามความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มเท่านั้น
นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล จะต้องใช้มันสมอง การแก้ปัญหา การเจรจา การต่อรองการประนีประนอมกับกลุ่มผลประโยชน์ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจเชิงนโยบายบนพื้นฐานประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม และไม่ขัดต่อหลักนิติรัฐ
2. กรณีแจกเงินหมื่นให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ ให้นำไปใช้จ่ายได้ตามอำเภอใจ 1.4 แสนล้านบาท รวมถึงที่จะทำต่ออีกหรือไม่ รวมกว่า 4 แสนล้านบาท
ถ้าย้อนกลับไปดูที่มาของเงิน จะเห็นว่า การใช้จ่ายเงินครั้งนี้ มีความสุ่มเสี่ยงใช้เงินผิดประเภท ผิดกฎหมาย ?
ผู้รับผิดชอบ คือ ครม.อุ๊งอิ๊งค์ 1 มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 อนุมัติเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 23,552.40 ล้านบาท เพื่อสมทบกับเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินงบประมาณทั้งสิ้น 145,552.40 ล้านบาท นำไปใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ
แต่ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาทนั้น ครม.เศรษฐา ได้ขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
โดยออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 โดยคำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า เป็นการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต
ระบุว่า งบประมาณที่เพิ่มเติมนี้ จำแนกการใช้เป็นรายจ่ายประจำ 24,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20
และรายจ่ายลงทุน 97,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80
3. สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในการนี้ บทวิเคราะห์งบประมาณ ของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (สงร.) สรุปบทวิเคราะห์ไว้ในหน้าที่ 24 ว่า
“...งบประมาณเพิ่มเติมที่จะนำไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลได้จำแนกเป็นรายจ่ายลงทุนไว้ถึงร้อยละ 80
ซึ่งผู้ได้รับเงิน 10,000 บาท จำนวน 1.22 ล้านคน จะมีการนำเงินไปลงทุนต่อมากถึง 9.76 ล้านคน ที่คิดเป็นร้อยละ 80 เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และอาจเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ทั้งที่รัฐบาลก็คาดการณ์อยู่แล้วว่าเงินส่วนใหญ่น่าจะไปใช้ในการบริโภค ถึงได้กำหนดรายการสินค้าจำนวนมากที่ห้ามซื้อ เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมัน ก๊าซ ทองคำ เพชร อัญมณี ฯลฯ
ในช่วงที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ มีผลใช้บังคับ รัฐบาลนางสาวแพทองธารได้เข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลนายเศรษฐา และได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งนโยบายเร่งด่วนประการที่ 5 ระบุว่า รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัล วอลเล็ต.....
ขณะนี้ รัฐบาลนางสาวแพทองธารกำลังจะนำเงินงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 122,000 ล้านบาทนี้ มาใช้เป็นแหล่งรายได้หลักเพื่อนำไปใช้แจกให้กับกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ จำนวน 14.5 ล้านคน คนละ 10,000 บาท ดังนั้น การนำเงินงบประมาณเพิ่มเติมทั้งหมดมาใช้แจกให้กับกลุ่มเปราะบางหรือก็คือผู้ที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งเห็นได้ว่า คนกลุ่มนี้จะนำเงินที่ได้รับแจกไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเกือบทั้งหมด
จึงไม่ใช่เป็นการใช้งบประมาณตามที่นายเศรษฐา ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมไว้ว่า จะนำไปใช้เป็นรายจ่ายลงทุนร้อยละ 80 หรือเป็นเงิน 97,600 ล้านบาท จาก 122.000 ล้านบาท
บทวิเคราะห์งบประมาณของสำนักงบประมาณของรัฐสภา เป็นการวิเคราะห์ในขณะที่ยังเป็นรัฐบาลนายเศรษฐา ซึ่งเป็นการแจกเงินให้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางก็ยังได้มีความเห็นว่าการกำหนดเป็นรายจ่ายลงทุนร้อยละ 80 เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและอาจเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่เมื่อจะดำเนินนโยบายนี้จริงโดยรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ได้เปลี่ยนแปลงกลุ่มที่ได้รับแจกเงินจากประชาชนทั่วไปเป็นกลุ่มเปราะบาง จึงยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนกลุ่มนี้จะนำเงินที่ได้รับแจกไปใช้จ่ายเพื่อการลงทุน
การนำเงินจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท ไปใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ซึ่งทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อการลงทุน จึงเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งต้องพิจารณาประกอบกับคำแถลงงบประมาณของนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสินและเอกสารประกอบการพิจารณาตามกฎหมาย รวมทั้งบทวิเคราะห์งบประมาณของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (สงร.)
ดังนั้น เมื่อจะมีการจ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดินที่เป็นจำนวนสูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท โดยไม่เป็นไปตามเหตุผลความจำเป็นและการจำแนกรายการรายจ่ายเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ตามที่ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อทั้งสองสภาเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติ จึงอาจเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 140
การแจกเงินหมื่นให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ เป็นจำนวนเงินรวม 1.45 แสนล้านบาท โดยเงินเกือบทั้งหมดคือจำนวน 1.22 แสนล้านบาท มาจากงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องเป็นรายจ่ายลงทุน 80% แต่จะถูกนำไปจ่ายเพื่อการบริโภคเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่ตรงกับที่ได้เสนอของบประมาณไว้ จะเป็นโมฆะหรือไม่ ??”
4. พฤติกรรมการใช้จ่ายงบประมาณเช่นนี้ สะท้อนถึงความไม่แน่นอน ไม่มีการวางแผนชัดเจน ทำไป-แก้ไป ใช้ไป-แก้ไป
เหมือนคนสร้างบ้าน แบบไม่มีแปลนแน่นอนตายตัว
ทำไปเรื่อยๆ มีเสียงติตรงไหน ก็ปรับเอาหน้างาน
ตอกย้ำว่า นโยบายหลักไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงตั้งแต่ต้น จึงต้องมาด้นเอาตอนทำโครงการนั่นเอง
5. รัฐบาลยังจะเดินหน้าใช้จ่ายเงิน แบบคนเล่นพนันเสีย จ่ายหนักมือขึ้นไปเรื่อยๆ อีกหรือไม่
อย่าลืมว่า ที่ผ่านมา การจัดหาเงินมาทำโครงการหาเสียง ก็ตอกย้ำว่า โครงการไม่ได้อยู่พื้นฐานความเป็นจริงอยู่แล้ว เพราะหาเงินแบบบักโกรก
ครม.เศรษฐา ต้องออกผลักดัน ‘พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567’ วงเงิน 122,000 ล้านบาท โดยจัดสรร “งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ” เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต 122,000 ล้านบาท
ขณะที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ก็จัดสรรงบสำหรับใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ตไว้ 1.8 แสนล้านบาท
ซึ่งกว่าจะได้เม็ดเงินนี้มา ก็ต้องตัดลดงบใช้หนี้สถาบันเงินของรัฐไปหลายหมื่นล้านบาท
ถึงขนาดนั้น ก็ยังได้วงเงินไม่พอ 4.5 แสนล้านบาท
ประการสำคัญ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) มีความกังวลว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังกล่าว จะส่งให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพการคลังได้
โดยหนังสือของ ธปท. ที่ ธปท.ฝนง. (02) ล.100/2567 เรื่อง ความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ.... เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. เรื่อง ข้อเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2567 ระบุว่า
“ธปท. พิจารณาแล้วมีข้อสังเกตว่า การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพด้านการคลัง จึงควรพิจารณาจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย อาทิ ควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกระทำได้ เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้
จึงควรใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้ให้ทันภายในสิ้นปีงบประมาณ 2567 และอาจพิจารณาจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ (targeted) โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิผลและเป็นไปอย่างคุ้มค่า”
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มีหนังสืออย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. เกี่ยวกับการจัดทำวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567
อาทิ หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 1113/3232 เรื่อง วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2567 โดยมีเนื้อหาว่า
“สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้ว มีข้อสังเกตว่า วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ส่งผลให้ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นและพื้นที่ทางการคลังลดลงในช่วงปีงบประมาณ 2567 และ 2567 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรเร่งเบิกจ่ายให้เม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และ ปีงบประมาณ 2568 เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลังในช่วงถัดไป โดยการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาลให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้และดอกเบี้ยทั้งในส่วนของหนี้รัฐบาลและหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐให้ดำเนินโครงการของรัฐที่ครบกำหนดชำระในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และลดความเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลัง”
พูดตรงๆ รัฐบาลควรพอได้แล้ว จะต้องยอมรับสภาพความจริง อย่าเอาประเทศเข้าไปเสี่ยงแทนพรรคการเมืองของตัวเอง
หยุดบริหารประเทศ แบบคนเล่นเสียพนัน แล้วทุ่มเงินมือเติบขึ้นเรื่อยๆโดยเอาเงินคนอื่นมาเล่น
หลังจากแจกกลุ่มเปราะบาง รัฐบาลควรหาทางลงได้แล้ว สำหรับนโยบายแจกเงิน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี