ระบบทางการเงิน โดยเฉพาะเรื่องการรับจ่ายชำระเงินของเมืองไทยจะมีการปรับโฉมใหม่ครั้งใหญ่เร็วๆ นี้เมื่อภาครัฐสามารถเชื่อมระบบทางด้านการเงินของประชาชนเข้าระบบ สิ่งที่ตามมาคือสามารถตรวจสอบได้ เชื่อมโยงได้ ติดตามได้ และที่สำคัญจะช่วยลดการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐเองได้อีกมหาศาล
วันที่ 15 กรกฎาคมนี้ จะเปิดให้ประชาชนสมัครบริการ “พร้อมเพย์ Prompt Pay” ที่ธนาคารพาณิชย์และบริการต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไม่ว่าจะเป็น ATMหรือ Online Banking ทุกเจ้า โดยตั้งแต่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นมา หลายเจ้าก็จัดโปรดึงดูดลูกค้ากันไปมากแล้ว
วันนี้ครับ เราต้องขอขอบคุณเพจ #สรุป ทาง facebook.com/in.one.zaroop อีกครั้งหนึ่งที่ทำเรื่องให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น แล้วคุณผู้อ่านจะได้เข้าใจกับบริการ “พร้อมเพย์” ของรัฐไปพร้อมๆ กัน
สรุป พร้อมเพย์ จะพร้อมหรือไม่พร้อมก็อย่าลังเล เพราะรัฐบาลเขากำหนดไว้ไม่มีดีเลย์ จะปลอดภัยหรือไม่อย่าเพิ่งโมเม ลองเปิดใช้ดูก่อนแล้วค่อยว่ากัน
..................................................
1. สรุปเรื่อง Any ID หรือชื่อเก่า “นานานาม” ที่ตอนนี้เขาเปลี่ยนชื่อใหม่เก๋ๆ เป็น “พร้อมเพย์” กันไปแล้ว #Promtpay แต่คนก็ยังมึนงงสับสนว่ามันอะไรยังไง แถมมีข่าวลือข่าวปล่อยว่ามันไม่ปลอดภัย ใช้แล้วจะเจอแฮก
2. เรื่องปลอดภัยรึเปล่า อย่าเพิ่งมโนกันไปไกล เรามาดูก่อนว่ามันสมัครยังไง ทำอะไรได้บ้าง เพราะตอนนี้ เกือบทุกธนาคารเขาออกโปรโมชั่นดึงลูกค้าให้ไปลงทะเบียนกะเขาแล้ว ใครใช้ธนาคารไหนอยู่ก็เลือกดูกันดีๆ
3. เบื้องต้นธนาคารจะให้เราใช้เลขบัตรประชาชน หรือเบอร์มือถือ ผูกกับบัญชีของธนาคาร บางธนาคารให้เลือกได้ว่าจะใช้เลขอะไร แต่บางธนาคารก็กำหนดให้ใช้ทั้งสองเลขเลย ซึ่งพอเราลงทะเบียนไปแล้ว จะเอาเลขบัตร หรือเบอร์มือถือไปลงซ้ำบัญชีอื่นไม่ได้
4. เพราะงั้นให้เลือกเอาบัญชีที่เราใช้โอนเงินเข้าออกบ่อยๆ ก็แล้วกัน เพราะจะเพิ่มความสะดวกให้เราเวลาให้คนอื่นโอนมา หรือถ้าเราจะโอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ก็ไม่เสียค่าธรรมเนียมยกตัวอย่าง เช่น จะโอนเงินไปให้แม่ ก็ไม่ต้องจำเลขบัญชีแม่แล้วครับ ใส่เบอร์มือถือแม่เข้าไปก็โอนได้เลย (แต่แม่ต้องไปลงทะเบียนเบอร์มือถือกับบัญชีพร้อมเพย์ด้วยนะครับ) แล้วต่อไปร้านค้าที่รับชำระด้วยพร้อมเพย์ ก็จะตัดเงินบัญชีนี้ง่ายๆ ได้เลย
5. แต่บางคนกังวล ไม่อยากบอกเบอร์มือถือกับคนไม่รู้จัก เช่น พวกพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เวลาคุยติดต่อลูกค้าก็ผ่านเฟซบุ๊ค ผ่านไลน์ แต่พอจะให้ลูกค้าโอนเงินมา จะบอกเบอร์มือถือก็กลัวขาดความเป็นส่วนตัว ก็ให้ใช้เบอร์บัญชีธนาคารไปเหมือนเดิมนั่นแหละจบปัญหา ไม่ต้องกังวล
6. คือต่อให้เราผูกเบอร์ผูกบัตรไว้กับบัญชีแล้ว เลขบัญชีมันก็ยังอยู่นะ ไม่ได้หายไปไหน จะเอาไปใช้ทำธุรกรรมโอนเข้าออกก็เลขเดิม แค่ลงทะเบียนกับเบอร์มือถือกับเลขบัตรให้จำได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
7. ถ้าใครต้องรับเงินสวัสดิการจากรัฐ ก็เอาเลขบัตรประชาชนไปผูกกับบัญชีนั้น เพราะฝ่ายรัฐเขารู้เลขบัตร ประชาชนเราอยู่แล้ว ซึ่ง อนาคตจะเป็นช่องทางหลักใช้รับเงินจากรัฐ เช่น คืนภาษี บำเหน็จบำนาญ
8. กลับมาเรื่องความปลอดภัย ถ้ากังวลว่าคนอื่นจะรู้เลขบัตร ประชาชน หรือเบอร์มือถือเรา ก็ให้บอกแค่คนใกล้ชิดที่รู้เบอร์มือถือเราอยู่แล้วนี่แหละครับ ไม่มีปัญหา
9. ต่อให้มีคนได้เบอร์มือถือ หรือเลขบัตรเราไป...แล้วไงต่อ มันจะโอนเงินออกมาได้เหรอ คำตอบคือไม่ได้ครับ เลขมันเอาไว้โอนเข้าเท่านั้น จะโอนออกก็ยังต้องไปธนาคาร ต้องถือสมุดไป หรือพวกออนไลน์ของธนาคาร ก็ต้องใช้ Username/Password เข้าเหมือนเดิม จะโอนเงินทีก็ต้องส่ง OTP เข้ามือถือมายืนยันเหมือนเดิม
#สรุป 1 ความปลอดภัยมันเหมือนเดิม แค่ระวังไม่ไปบอกเบอร์มือถือกับคนแปลกหน้า ถ้าใครกังวลก็แยกบัญชีได้ เงินก้อนใหญ่ไปเก็บในบัญชีอื่นที่ดอกเบี้ยเยอะๆ เช่น พวกฝากประจำไรแล้วบัญชีพร้อมเพย์ก็เอาไว้รับโอนเข้าออกอย่างเดียว ติดบัญชีไว้แค่พอใช้จ่ายที่จำเป็น
#สรุป 2 ต่อไปนี้บัตรประชาชนเราจะมีความสำคัญขึ้นกว่าเดิม เพราะผูกกับเลขบัญชี เพราะงั้นพยายามอย่าให้ห่างตัว เช่น ตอนไปแลกบัตรตามตึก เลี่ยงได้ก็เลี่ยง เอาบัตรอื่นไปแลก อย่าใช้บัตรประชาชน เพราะเกิดซวยๆ มีคนขโมยบัตรไปได้ เอาไปเปิดบัญชี เปิดซิมใหม่เบอร์เดิม สวมรอยเป็นเราได้ อันนี้น่ากลัว กรณีนี้คือพนักงานที่สาขาไม่ดูไรเลย ดูแต่บัตร และอีกหลายๆ กรณีที่สุ่มเสี่ยงครับ
คราวนี้เรามาดูกันต่อครับ ว่า บริการพร้อมเพย์ เป็นบริการที่เกิดขึ้นจากหลักคิดอะไร เพื่ออะไร เพจ #สรุป เขาก็สรุปเอาไว้ได้ดีมากทีเดียว
#สรุป ระบบ e-payment แห่งชาติรัฐบาลผลักดันระบบ Any ID ผูกบัญชีการเงินทุกระบบ เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่ไม่ต้องใช้เงินสดกันอีกต่อไป
ต่อไปเราอาจจะไม่ต้องใช้เงินสดกันแล้ว จะรับเงินจ่ายเงินทุกอย่างทำผ่านระบบ e-payment แทน แบบพวก True Money หรือบัตร Rabbit แต่อันนี้คือรัฐบาลจะลงมาทำให้เป็นวาระแห่งชาติไปเลย นำ e-payment มาช่วย มันก็จะลดต้นทุนตรงนี้ได้อีกมหาศาล อย่างพวก Paypal, AliPay หรือ Line Pay ที่มาจากต่างประเทศ ก็ทำให้ชีวิตเราสะดวกมากขึ้น แต่มันไม่สะดวกสำหรับภาครัฐ เพราะพวกนี้เป็นบริษัทเอกชนต่างชาติ จะตรวจสอบหรือจัดการด้านภาษีก็ลำบาก อย่างกระนั้นเลย รัฐทำเองดีกว่า
ไหนๆ จะทำแล้ว ก็เอาให้มันครบๆ ไปเลย เล่นใหญ่ทำมันทีเดียว ไม่ใช่แค่ระบบรับจ่ายสินค้าแล้วจบ แต่พ่วงเอาระบบภาษี กับเอกสารด้านการเงินและภาษีเข้าไปด้วยเลย ก็เช่น พวกใบหัก ณ ที่จ่าย กับใบกำกับภาษี ทุกวันนี้ยังต้องอาศัยส่งกันทางไปรษณีย์หรือจ้างพี่แมสเซนเจอร์ไปส่งให้ กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แถมเสียเวลา ไหนๆเราก็มีกฎหมายที่รองรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นสิบปีแล้วนะครับ
แล้วสรรพากรจะนั่งตรวจเอกสารกระดาษกันอยู่อีกทำไม เปลี่ยนใหม่ดีกว่า ต่อไปให้ยื่นเป็นอิเล็กทรอนิกส์มาเลย อันนี้ก็จะเริ่มภายในตุลาคมปีนี้ จะเริ่มจากพวกบริษัทใหญ่ๆ ที่รายได้เกิน 500 ล้านบาทก่อน แล้วภายใน 4 ปี จะค่อยๆ ให้บริษัทเล็กๆ เข้าร่วมโครงการในอนาคต
ความจริงเรื่องภาษีนี่แหละคือสาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลอยากทำระบบ e-payment ส่วนหนึ่งเพราะโดนทางสรรพากรสหรัฐกดดันสถาบันการเงินไทยให้เข้าร่วมระบบป้องกันการเลี่ยงภาษี (FATCA) ที่เราต้องคอยรายงานธุรกรรมของคนอเมริกันในไทยกลับไปให้ ซึ่งมันก็วุ่นวาย เราเองก็ไม่ค่อยพร้อม แต่ถ้ามีระบบ e-payment มาช่วยก็ง่ายเลย งานนี้ทาง ธปท. ก็จะมาเป็นเจ้าภาพช่วยทำระบบ
ส่วนสาเหตุอีกข้อก็คือระบบจัดเก็บภาษีในประเทศเรานี่แหละ ที่หย่อนสมรรถภาพอย่างแรง คนไทย 65ล้านคน แต่จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้แค่ 10 ล้านคนคือเก็บได้เฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในระบบบริษัท ส่วนพวกที่รายรับไม่แน่นอน หรืออาชีพฟรีแลนซ์นี่ตามเก็บยาก เพราะไม่รู้แหล่งรายรับ แถมไม่ยื่นแบบด้วย หรือพวกร้านค้าปลีก ร้านขายของตามเฟส ที่หลบเลี่ยงหรือเสียแบบมั่วๆ เหมาๆ เอา แต่ถ้านำระบบ e-payment มาใช้งาน เงินเข้าเงินออกบัญชี รับเท่าไหร่จ่ายเท่าไหร่ รัฐรู้หมด จะบอกว่าไม่มีรายได้ไม่ได้แล้ว
สรุปจากตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จเช่น
ประเทศสวีเดนที่ได้พัฒนาระบบการเงินมาจนเข้าใกล้การเลิกใช้เงินสดแล้ว ผลปรากฏว่า รายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นมาก จนสามารถลดอัตราภาษีลงมาได้ ซึ่งถ้าไทยเราลดภาษีลงได้แบบนี้บ้าง ก็จะช่วยให้แข่งขันกับประเทศอื่นใน AEC เช่น สิงคโปร์ มาเลย์ ได้มากขึ้น ไม่งั้นธุรกิจทั้งหลายก็จะใช้ทรัพยากรบ้านเรานี่แหละ แต่ไปจดทะเบียนต่างประเทศ และขนเงินเสียภาษีให้ต่างประเทศหมด ไทยไม่ได้อะไรเลย เป็นต้น
ก็ต้องมาดูกันต่อไปล่ะครับว่า สำหรับของประเทศไทยเราจะออกมาหัวก้อยอย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่โดยหลักการแล้วเรื่องนี้ดันเต็มที่แน่นอน
ขอขอบคุณเพจ #สรุป อย่างยิ่งที่ได้ช่วยสรุปเรื่อง “พร้อมเพย์” ได้เข้าใจง่ายมาก ถึงมากที่สุด บทความของเราขออนุญาตมา ณ ที่นี้ ในการดัดแปลงคำศัพท์คำสร้อยเล็กน้อยนะครับ เพื่อให้เหมาะกับบทความทางหน้าหนังสือพิมพ์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี