คนที่สนใจเรื่องการเงิน น่าจะเคยเห็น หรือเคยได้ยินวิธีการจัดสรรเงินที่หลายกูรูหลายตำราแนะนำกัน ไม่ว่าจะในหนังสือหรืออินเตอร์เนต
บ้างก็แนะนำ โดยกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ชัดเจนให้เลยว่าเงินที่หามาได้ต้องจ่ายเรื่องอะไรเท่าไหร่ แบ่งสัดส่วนยังไง
ยกตัวอย่างเช่น หากทำงานในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว สูตรบริหารเงินที่เหมาะสม คือ 50-30-20 นั่นคือ มีเงินได้ 100 บาท ก็ควรแบ่งไว้ใช้จ่ายในสิ่งจำเป็น (Needs) สำหรับการดำรงชีวิต 50 บาท ใช้จ่ายเพื่อความสุข (Wants) 30 บาท ที่เหลืออีก 20 บาท ควรนำไปออมหรือลงทุน
แต่ถ้าเพิ่งเริ่มต้นทำงาน สูตรที่เหมาะคือ 60-25-15 แล้วพอใกล้เกษียณก็ให้ปรับเป็นสูตร 45-25-30 แทน
หรือถ้าเป็นเงินออม ก็มีบอกเหมือนกันนะ ว่าควรออมไว้ทำอะไรบ้าง กำหนดวัตถุประสงค์ให้เสร็จสรรพ ว่าต้องออมเพื่ออะไรบ้าง หากอยากเป็นคนประสบความสำเร็จทางการเงิน
ส่วนจะเลือกสูตรออมเงินแบบไหน ก็มีให้เลือกหลากหลาย 6 เหยือก 5 โถ 3 ไห ฯลฯ เรียกว่า สูตรเยอะชนิดที่เราสามารถเลือกแบบภาชนะที่ชอบได้เลย
แล้วโค้ชหนุ่มหละ! มีสูตรแนะนำมั้ย?
คำตอบคือ “ไม่มีว่ะ”
แต่ก็ไม่ได้ไปคัดค้านหรือห้ามไม่ให้เชื่อสูตรพวกนี้นะ เพราะของแบบนี้จริตใครจริตมัน แบบไหนทำให้เราใช้จ่ายแล้วมีเงินเหลือ จัดสรรเงินออมแบบไหนแล้วเราสบายใจ หรือพูดง่ายๆ ว่า ดูที่ “ผลลัพธ์” ว่าถ้าออกมาดี ก็ทำต่อไปเถอะพ่อ
เข้าทำนอง ... ก็ฉันใช้แล้วได้ผลอ่ะ! ใครจะทำไม
โดยส่วนตัวแล้วที่ผมไม่ได้มีสูตรพอที่จะแนะนำได้ อาจเพราะเชื่อในเรื่องที่ว่า คนเราแต่ละคนมีชีวิตการเงินที่แตกต่างกันทั้งในแง่ของ “ภาระ” และ “เป้าหมาย” ในชีวิต
ดังนั้นจะให้บริหารเป็นสัดส่วนแบบเดียวกัน ก็อาจยากสำหรับบางคนอยู่สักหน่อย
อย่างตัวผมเองตอนเริ่มต้นทำงาน ด้วยความที่เป็นหนี้เยอะมีภาระเยอะ หาได้เท่าไหร่ก็ไม่พอกิน ผมเลยตั้งโจทย์ในการจัดสรรเงินของตัวเองง่ายๆ ว่า ขอเหลือ 3% ทุกเดือนเป็นอย่างน้อย จะใช้จ่ายยังไงไม่รู้ จะใช้หนี้ใครยังไงไม่สน ขอเหลือให้ตัวเอง 3% ไม่ให้ขาด
ด้วยความที่ตั้งโจทย์ง่าย การจัดการก็ง่ายไปด้วย พอได้รายได้มา 100 บาท ผมหัก 3 บาท เก็บออมก่อนเลยแล้วค่อยมาจัดสรรเงิน 97 บาทที่เหลือ จะใช้ยังไงให้พอกินพอจ่ายหนี้ ถ้าไม่พอก็หาเพิ่ม (สูตร 3-97)
จากนั้นก็ปรับสูตรไปทีละน้อย 5-95 (ออม 5 ใช้ 95) และ 10-90 ตามลำดับ แล้วก็คงสัดส่วนนั้นไว้อยู่นานจนถึงวันปลดหนี้ได้หมด จากนั้นก็ปรับเพิ่มการออมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 50-50
เรียกว่า จัดสรรตามสถานการณ์ ตามจังหวะชีวิตแต่ไม่หยุดไม่ขาดเรื่อง “จ่ายให้ตัวเอง”
ส่วนสูตรการออมของผมไม่ได้แบ่งเป็นเหยือกหรือโถ แต่แบ่งเป็น 3 ตะกร้า (ว่าแต่เขาไอ้โค้ช 555) ซึ่งผมก็เล่าวิธีแบ่งให้ฟังบ่อยๆ (ลองหาอ่านหนังสือ MONEY 101 ดู) นั่นคือ
“ตะกร้าเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” : เก็บไม่ต้องเยอะแค่ 6 เท่่าของค่าใช้จ่่ายต่อเดือน
“ตะกร้าเงินเกษียณรวย” : ตั้งโจทย์พอใช้ 20 ปีหลังเกษียณ แล้วก็ทยอยสะสมไปเรื่อยๆ
“ตะกร้าเกษียณเร็ว” : กันเงินอีกก้อน ลงทุนเสี่ยงขึ้นอีกนิด เพื่อเพิ่มโอกาสเกษียณเร็วขึ้นอีกสักหน่อย โดยเน้นไปที่การสร้างรายได้จากทรัพย์สิน
และถ้าหากมีความจำเป็นใดๆ เพิ่ิมเติมขึ้นมาในชีวิต ก็อาจกันเงินไว้สำหรับเป้าหมายระยะสั้น เช่น ตะกร้าแต่งงาน ตะกร้าเรียนต่อ และตะกร้าท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นตะกร้าที่ 4เสริมเข้ามาได้ (แม่งเริ่มใกล้ 6 เหยือกและ)
สุดท้ายแล้วที่อยากจะบอกคือ วิธีจัดการเงินให้พอใช้จัดสรรเงินให้มีออม ไว้ว่าจะตำราไหนหรือใครสอน ก็ดีหมดครับถ้าถูกจริต ได้ผลลัพธ์ตรงใจ ลุยต่อไปให้สุด อย่าได้แคร์
แต่ถ้าสูตรบริหารเงินที่มีอยู่ในตลาด ไม่ตรงกับพื้นฐานชีวิตคุณ ก็อาจลองคิดสูตรหรือวิธีในแบบของเราเองขึ้นมาก็ได้
และถ้าได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง คุณก็อาจนำมาเล่านำมาสอน สร้างเป็นสูตรการเงินใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง และได้เป็นกูรูที่มีสูตรบริหารเงินให้คนเอาไปอ้างอิงกันต่อก็อาจเป็นไปได้เหมือนกันนะ
ใครจะไปรู้??
#โค้ชหนุ่ม #TheMoneyCoachTH
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี