ll โลกการค้า...ไปเห็นรายงานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับภาษีทางการค้า ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผู้ประกอบการจะต้องเจอในอนาคตแล้วก็รู้ว่าน่าสนใจ จึงของหยิบเอามานำเสนอ ซึ่งเป็นรายงานของ PwC ประเทศไทย (บริษัทให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 64 ปี ทั้งด้านภาษี กฎหมาย และ แผนธุรกิจ) มีบริษัทเครือข่าย 151 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 360,000 คน
เนื้อหาสำคัญ PwC ประเทศไทย แนะผู้ประกอบการทำความเข้าใจและปรับตัวเพื่อรับมือกับการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ แนวทางการตีความ และข้อปฏิบัติของกรมสรรพากร รวมถึงนโยบายทางภาษีที่ได้รับการพัฒนาและอาจถูกนำมาปรับใช้ในอนาคตอันใกล้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น เป็นผลโดยตรงจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องในยุคการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล อันนำมาซึ่งความพยายามในการสร้างระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม และสอดรับกับการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนแบบไร้รอยต่อของผู้ประกอบธุรกิจข้ามชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ย่อมทำให้ผู้ประกอบการต้องมีความพร้อมและสามารถปฏิบัติตามกฎหมายภาษีที่ปรับเปลี่ยนใหม่ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานทางภาษีที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกัน ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกตั้งคำถาม หรือการต้องแบกรับภาระการพิสูจน์ในกรณีของการถูกประเมินภาษี
นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานภาษีและกฎหมาย PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี Maximise Shareholder Value 2024 ในหัวข้อ “รับมือความท้าทายในปัจจุบัน เปิดรับโอกาสอันยั่งยืนแห่งอนาคต” (Embracing today’s complexities, welcoming tomorrow’s opportunities) ว่า ในโลกปัจจุบันที่เป็นยุคเศรษฐกิจดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการดำเนินธุรกิจแบบไร้พรมแดน หน่วยจัดเก็บภาษีในประเทศต่างๆ มีการหารือทั้งในเชิงวิชาการและทางปฏิบัติเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์สากลอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันและสอดรับกับแนวคิดที่ว่า ทุกประเทศควรได้รับสิทธิในการจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนที่เหมาะสมและเป็นธรรมจากการทำธุรกรรมข้ามชาติของ
ผู้ประกอบการ
ในปัจจุบัน ภาครัฐของไทยมิได้นิ่งเฉยต่อกรอบการพัฒนาการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยประเทศไทยมีได้มีส่วนร่วมและนำนโยบายการจัดเก็บภาษีในระดับสากลมาปรับใช้เป็นกฎหมายภายในอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีกรณีการโอนถ่ายกำไรโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายภาษี เพื่อการหลบเลี่ยง กัดกร่อนฐานภาษีในประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting : BEPS) การแก้ไขอนุสัญญาพหุภาคีที่เกี่ยวข้องกับมาตรการตามบทบัญญัติของอนุสัญญาภาษีซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อนุสัญญาภาษีซ้อน (MLI) หลักการของ Pillar 1 และ Pillar 2 ที่เกี่ยวข้องกับจัดสรรสิทธิในการจัดเก็บภาษีให้แต่ละประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดการความเสี่ยงด้านการกำหนดราคาโอน ผ่านข้อตกลงการกำหนดราคาเป็นการล่วงหน้า (APA) และวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน (MAP) เป็นต้น
ในอนาคต กรมสรรพากรมีแนวทางในการพัฒนาระบบภาษีไทยให้สอดคล้องกับหลักการสากลอย่างต่อเนื่อง อันจะเห็นได้จากการปรับใช้แผนปฏิบัติราชการกรมสรรพากร ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อเป็นทิศทางในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายในมิติต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกรมสรรพากรได้พิจารณาทิศทางและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการกำหนดนโยบายภาษีและการพัฒนาการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศต่างๆ ตลอดจนข้อตกลงความร่วมมือด้านภาษีอากรในระดับนานาชาติ เช่น OECD Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) หรือกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษี และการโอนกำไรไปต่างประเทศ และ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes หรือกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับความโปร่งใสและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ด้านภาษี
“นอกจากการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับกฎเกณฑ์การจัดเก็บภาษีใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติทางภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายปัจจุบันด้วย การขยายธุรกิจของผู้ประกอบการยังคงต้องคำนึงถึงการวางแผนโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม ทั้งในแง่ของการกำหนดความมุ่งหมายทางการค้า การเลือกรูปแบบการลงทุน การบริหารความเสี่ยงและการสร้างโอกาสทางภาษีผ่านการควบรวมกิจการ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานเรื่องภาษี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความถูกต้อง และมีความพร้อมในเชิงข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบในอนาคต”นายสมบูรณ์กล่าว
นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงทางภาษีสรรพากร การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของการค้าข้ามพรมแดนและการปฏิวัติดิจิทัล ยังนำมาซึ่งความท้าทายทางศุลกากรในมิติของแนวโน้มการตรวจสอบหรือสอบสวนในด้านพิกัด การประเมินราคา และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร (BOI) อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่อง มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญภายใต้แนวคิดสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ของสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทย และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจและเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจของผู้ประกอบการ
“การพัฒนาทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจยุคดิจิทัล อันนำมาซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพและช่องทางในการทำธุรกิจเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้ การสร้างระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น จึงป็นความรับผิดชอบของหน่วยจัดเก็บภาษี ผู้ประกอบการในฐานะผู้เสียภาษีจึงต้องเตรียมความพร้อม กลยุทธ์ และทรัพยากร ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นโดยมีการเสียภาษีและปฏิบัติตาม
กฎหมายต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงและภาระจากการถูกตรวจสอบ และยังส่งผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของบริษัท ทั้งต่อคู่ค้า นักลงทุน และหน่วยงานของรัฐอีกด้วย” นายสมบูรณ์กล่าว
กระบองเพชร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี